แบงก์-นอนแบงก์
คลังพร้อมเพิ่มทุนในTMB มั่นใจดิวควบรวมสรุปได้ภายในปีนี้


ธ.ทหารไทย-ธ.ธนชาต ลงนามข้อตกลงควบรวมกิจการ กลุ่มTCAP-INGและคลังพร้อมรักษาสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ขณะที่รองปลัดกระทรวงการคลังมั่นใจธนาคารใหม่มีความแข็งแกร่ง เชื่อดิวจบภายในสิ้นปีนี้

       
 
 
 
 
 
ผู้บริหารธนาคารทหารไทย(TMB)และธนาคารธนชาต(TBANK)เปิดแถลงข่าวถึงการการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย (Non-binding MOU) ระหว่าง ING Groep N.V. (ING), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP), Bank of Nova Scotia (BNS), ธนาคารธนชาต (TBANK)และธนาคารทหารไทย (TMB) เพื่อการรวมกิจการระหว่าง TMB และ TBANK เพื่อยกระดับการให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าและมุ่งสู่การเป็นธนาคารชั้นนำของไทย

 
 
 
นายจุมพล ริมสาคร รองปลัดกระทรวงการคลังในฐานะตัวแทนประธานกรรมการธนาคารมั่นใจว่า การควบรวมครั้งนี้จะประสบความสำเร็จและจะเกิดประโยชน์กับธนาคารทั้ง 2 แห่งและระบบสถาบันการเงิน เพราะจะทำให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น  ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงการคลังที่ต้องการให้ธนาคารมีขนาดใหญ่ขึ้นและแข่งขันได้ โดยกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่มั่นใจว่าการควบรวมจะทำให้ธนาคารดีขึ้นกว่าปัจจุบัน ซึ่งหลังการควบรวมกระทรวงการคลังจะยังเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นหลักในธนาคารใหม่
          
นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหารจากTCAPกล่าวเสริมว่า “TCAP สนับสนุนแผนการรวมกิจการในครั้งนี้และหลังการรวมกิจการกลุ่มจะยังถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20%  

Mr. Mark Newman กล่าวว่า “ING สนับสนุนแผนการรวมกิจการนี้ โดยคาดว่าจะเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่มากกว่า 20% ในธนาคารภายหลังการรวมกิจการ และคงบทบาทการเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ทั้งยังมีความยินดีที่จะได้เห็นฐานผู้ถือหุ้นที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นจากดีลนี้

 
 
 
 
นายประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาตยืนยันว่า หลังการควบรวม ธนาคารทั้ง 2 แห่งจะไม่มีการลดจำนวนพนักงาน แต่จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งการทำงานของพนักงานที่มีความซ้ำซ้อนกัน มาจัดสรรให้มีความเหมาะสมมากขึ้นและจะฝึกทักษะการทำงานของพนักงานให้มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลมากขึ้น ส่วนจำนวนสาขาของธนาคารธนชาตมี 512 สาขา และธนาคารทหารไทยมี 400 สาขา อาจจะรวมสาขาที่ซ้ำซ้อนเข้าด้วยกัน พร้อมปรับเปลี่ยนสถานที่ตั้ง ขนาด รูปแบบรองรับลูกค้าให้ตรงจุดมากขึ้น
          
ด้านนายปิตติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารTMB กล่าวว่า ในช่วงการควบรวมการดำเนินการ ทั้ง 2 ธนาคารจะให้บริการโดยใช้ชื่อเดิมต่อไป ขณะที่ลูกค้าของทั้ง 2 แห่งยังสามารถใช้บริการได้ตามปกติ โดยยืนยันลูกค้าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้แต่อย่างใด

และขั้นตอนต่อไปที่คู่สัญญาคาดว่าจะเริ่มโดยทันทีได้แก่ การตรวจสอบสถานะการเงิน(Due Diligence) และเตรียมการเจรจาตกลงเกี่ยวกับสัญญาหลัก(Definitive Agreement) ซึ่งเงื่อนไขหลักที่เกี่ยวข้องจะรวมถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง การได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น การได้รับความยินยอมจากบุคคลที่สาม การปรับโครงสร้างทางธุรกิจของ TBANK ความสำเร็จในการเพิ่มทุนด้วยจำนวนที่เพียงพอต่อการเข้าทำรายการของ TMB โดยคาดว่าการรวมกิจการจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้

ในส่วนของการออกหุ้นเพิ่มทุนนั้นจะแบ่งสรรเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ โดยหุ้นเพิ่มทุนส่วนแรกมูลค่าประมาณ 50,000-55,000 ล้านบาทจะเป็นการออกหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ TCAP และ BNS โดยในเบื้องต้น คาดว่าหุ้นเพิ่มทุนของ TMB จะมีมูลค่าเท่ากับ 1.1 เท่าของมูลค่าทางบัญชีที่ปรับปรุงล่าสุดภายหลังจากการเพิ่มทุนและกระบวนการต่างๆ ที่จะมีการกำหนดไว้ต่อไปในสัญญาหลัก สำหรับหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือประมาณ 40,000-45,000 ล้านบาทนั้น TMB จะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันของธนาคารโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นหลักในปัจจุบันของธนาคาร รวมทั้งอาจจะมีการออกหุ้นเพื่อเสนอขายหุ้นแก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบันรายอื่นๆ หรือนักลงทุนรายใหม่ในวงจำกัด

LastUpdate 27/02/2562 17:28:40 โดย : Admin
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 1:18 pm