เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สมาคมผู้เลี้ยงหมูผนึกประเทศเพื่อนบ้านป้องกันอหิวาต์ในหมู


สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติสานความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านป้องกันอหิวาต์แอฟริกาในสุกรขอรัฐเร่งยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ หวั่นกระทบอุตสาหกรรมหมูไทยมูลค่ากว่า2แสนล้าน


น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติและประธานสหกรณ์การเกษตรปศุสัตว์ราชบุรี จำกัด เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ที่กำลังระบาดในเวียดนามในขณะนี้ว่า สมาคมฯ ร่วมกับภาคผู้ประกอบการเลี้ยงสุกร เกษตรกรและภาครัฐโดยเฉพาะกรมปศุสัตว์ ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันASFโดยออกหลายมาตรการเข้มงวดกวดขันในการเฝ้าระวังโรคอย่างเต็มที่

โดยกรมปศุสัตว์ออกประกาศ 5 ภาษา ติดประกาศตามด่านชายแดนและท่าอากาศยานทุกแห่ง“ห้ามนำเนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูเข้าสู่ประเทศไทย”หากฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดี ขณะเดียวกันสมาคมฯได้ประสานความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ การร่วมหารือกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สปป.ลาว ที่แสดงเจตจำนงในการร่วมมือดูแลด่านกักกันโรคจำนวน 4 ด่านที่ติดกับประเทศลาวที่ถือเป็นช่องทางผ่านของโรคที่อาจติดมาจากประเทศจีนที่มีการระบาดของโรค โดยในลาวนั้นมีคนจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากมาย ส่วนอีก1ด่านที่ติดกับกัมพูชาก็บูรณาการร่วมกันป้องกันอย่างเข้มงวด

“ผู้เลี้ยงหมูทุกคนหวังอย่างยิ่งให้ไทยเป็นประเทศที่หลุดพ้นจากวิกฤตการณ์ของโรค ASF เพราะมีหลายประเทศที่สามารถป้องกันตัวเองได้ด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพหรือBiosecurityในระดับสูง ขอขอบคุณรัฐบาล โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะยกระดับเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอครม.อนุมัติงบประมาณในกรอบระยะเวลาดำเนินการ 3 ปีและมีแผนเตรียมความพร้อมรับมือด้วย8มาตราการใน3ระยะ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง เพราะหากภาคอุตสาหกรรมสุกรมีปัญหาย่อมส่งผลกระทบต่อภาคผู้ผลิตพืชไร่ ซึ่งตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกรมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านบาทที่อาจได้รับความเสียหาย ทำให้ประเทศชาติมีปัญหาในภาพรวมและขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมแรงร่วมใจต้านภัย ASF ที่สำคัญขอย้ำว่าหมูไทยปลอดภัยบริโภคได้อย่างมั่นใจ100%” น.สพ.วิวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้สมาคมฯได้ลงพื่นที่ตรวจสอบความพร้อมในการสร้างศูนย์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อยานพาหนะสำหรับขนส่งปศุสัตว์ที่ด่านกักสัตว์ชายแดน ใน 5 จังหวัดเป้าหมาย เพื่อเป็นปราการป้องกันโรคตามแนวชายแดนจากประเทศลาวและกัมพูชาแต่ละด่านใช้งบ 1 ล้านบาท

โดยสมาคมฯสร้างศูนย์1แห่งที่ริมทางหลวงใกล้ด่านกักกันสัตว์ จ.หนองคายและอีก 4 ศูนย์ฯ ได้รับการสนับสนุนจาก บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ ดำเนินการสร้าง 2 แห่ง ที่ด่าน อ.เชียงของ จ.เชียงรายและด่านจ.มุกดาหาร

ส่วนบจ.เบทาโกร สร้างที่ด่านกักกันสัตว์ จ.นครพนม และ บมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป สร้างที่ด่านปอยเปต จ.สระแก้ว เพื่อยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและป้องกันโรคอหิวาต์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งรีบ หลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จจะมอบ

ศูนย์ทั้ง5แห่งให้กับราชการ โดยกรมปศุสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการดูแลความเข้มแข็งด้านปศุสัตว์ต่อไป

ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ สมาคม นักวิชาการและภาคเอกชน ได้เดินหน้าสร้างความตระหนักและตื่นตัวในการช่วยกันป้องกัน ASF ในทุกช่องทาง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 มี.ค. 2562 เวลา : 21:49:11
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 2:14 pm