แบงก์-นอนแบงก์
ธพว.ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี หนุนเอสเอ็มอีรายย่อยสำเร็จทะลุ 6.4หมื่นราย


ธพว.ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ20ปี หนุนเอสเอ็มอีรายย่อยสำเร็จทะลุ 6.4 หมื่นราย ประกาศเดินหน้าสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มรูปแบบเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันลดความเหลื่อมล้ำ


 
 
 
 
นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เผยในการแถลงความคืบหน้าการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ว่าธพว.ดำเนินการตามนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ในยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคมและยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึง ม.ค.2562ที่ผ่านมา ธนาคารอำนวยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการรายย่อย หรือ“คนตัวเล็ก”จำนวน 64,037 ราย ยอดสินเชื่อรวมกว่า 157,617 ล้านบาท

ที่สำคัญธนาคารมุ่งมั่นการทำงานที่จะมอบ“ความรู้คู่เงินทุน”ยกระดับขีดความสามารถให้รายย่อย ผ่านกิจกรรมบ่มเพาะจัดอบรมปีละมากกว่า 5,500 ราย โดยเฉพาะด้านด้านบัญชี และเพิ่มช่องทางการตลาด ตั้งแต่ปี 2558-2561 ยกระดับคนตัวเล็กสำเร็จ 24,032 ราย และสร้างผู้ประกอบการใหม่ Startup กว่า 1,000 ราย
 
 
 
 
นอกจากนั้นได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาลร่วมจัดกิจกรรมในตลาดคลองผดุงกรุงเกษมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเป็นเจ้าภาพการจัดงานระหว่างวันที่12-27 ธันวาคม 2560 ภายใต้ชื่อ"สุดยอด SMEs ส่งสุข ส่งท้าย ส่งความประทับใจ ตลาดคลองผดุงกรุงเกษม 2560”ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงนำไปสู่การต่อยอดขยายผลจัดตลาดประชารัฐ 6,520 แห่งทั่วประเทศ สร้างเงินสะพัดในระดับเศรษฐกิจมากกว่า 3,200 ล้านบาท รวมถึงต่อยอดพาผู้ประกอบการชุมชนที่เคยมาออกร้านในงานตลาดคลองผดุงฯขยายตลาดสู่ต่างแดน เช่น ผ้าขาวม้า แบรนด์“นุชบา”และคลัสเตอร์สมุนไพร“ต้นน้ำ โฮลดิ้ง” เป็นต้น

ทั้งนี้ธนาคารมุ่งบทบาทแห่งการเป็นสถาบันการเงินเพื่อคนตัวเล็กเนื่องจากที่ธนาคารได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าในประเทศไทยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรวมกว่า 5.2 รายล้านในจำนวนดังกล่าวคือรายย่อยอยู่นอกระบบกว่า3ล้านรายทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ความสามารถทางธุรกิจต่ำมาก เพราะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐยิ่งเมื่อต้องการเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่เคยมีประวัติการเงินใดๆมาก่อนหลายรายชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบแทน กลายเป็นว่าคนตัวเล็กอ่อนแอที่สุดกลับเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ส่วนรายระดับกลางที่ปรับตัวได้ดีอยู่แล้ว สามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาครัฐได้ด้วยช่วยให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปถูกฉีกกว้างมากขึ้น ดังนั้นธพว.จะเข้าไปเสริมแกร่งและยกระดับคนตัวเล็กเช่น กลุ่มอาชีพอิสระ ทั้งคนขับแท็กซี่ เสริมสวย โชห่วย เป็นต้นเพื่อยกระดับความสามารถ พัฒนามาตรฐานและพาเข้าสู่ระบบ

ที่ผ่านมาธนาคารยกระดับผ่านกระบวนการ “3เติม”ผ่านกระบวนการ “3D” กล่าวคือ 3 เติม ได้แก่ 1.เติมทักษะให้ความรู้เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ 2.เติมทุนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และ 3.เติมคุณภาพชีวิตพาเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ส่วน “3D” ได้แก่1.D-Development = บริการความรู้คู่ทุนพัฒนาคนตัวเล็ก 2.D-Digital = บริการทันสมัยรวดเร็วเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม SME D Bank ยื่นขอสินเชื่อ และหาความรู้ ผ่านออนไลน์ได้กว่า 600,000 ราย ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ 24x7 (24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน) และ3.D-Delivery = บริการถึงถิ่นทั่วไทย ผ่านหน่วยบริการเคลื่อนที่ “รถม้าเติมทุน ส่งเสริมSMEsไทยฉับไวไปถึงถิ่น”ภายใต้โครงการนี้จะมี Mobile Unit จำนวน 600 คันและในปี 2563เพิ่มเติมถึง 1,000 คัน ให้บริการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ในเวลา 7 วัน โดยเจ้าหน้าที่ธนาคาร จะทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 (8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ตลอด 7 วัน) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับบริการสะดวกสบายที่สุด ขณะนี้ให้สินเชื่อต่อคันต่อเดือนได้จำนวน 8 ล้านบาท ซึ่งเมื่อปรับเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงาน เพิ่มอีกร้อยละ 20 เป็นจำนวน 10 ล้านบาท ต่อคันต่อเดือน

จากการสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจSMEsและดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจSMEs ตลอดไตรมาสที่ 1, 2 , 3 และ 4 ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่าลูกค้าธพว.ที่ผ่านกระบวนการพัฒนาดังกล่าว จะมีดัชนีความสามารถธุรกิจ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอสเอ็มอีทั่วไป บ่งชี้แนวทางดังกล่าว สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการได้จริง ดังนั้น ธนาคารจึงเดินหน้าแนวทางดังกล่าวขยายสู่เอสเอ็มอีคนตัวเล็กอย่างกว้างขวางและทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยยกระดับการทำงานสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งเต็มรูปแบบ ภายใต้รหัส SME D3 (D ยกกำลัง 3) ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน นำสังคมไทยอยู่ดีมีสุข เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 มี.ค. 2562 เวลา : 19:28:44
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 5:56 pm