เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB CIO วิเคราะห์ "นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวร่วงลง"


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18-22 มี.ค.2019) ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นยุโรปต่างปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ คงอัตราดอกเบี้ย และส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2019 นอกจากนี้ ยังได้รับ Sentiment เชิงลบจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับประเด็น Brexit ในขณะที่ตลาดหุ้นโซนเอเชียต่างปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากการที่ Fed ไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ รวมถึงแรงซื้อหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.86% WoW ด้านตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้นท้ายสัปดาห์ นักลงทุนคาดหวังเชิงบวกต่อผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง นักลงทุนกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) คงอัตราดอกเบี้ยตามคาด พร้อมทั้งส่งสัญญาณไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ โดย Fed จะปรับลดงบดุลในเดือน พ.ค. ก่อนที่จะยุติการปรับลดงบดุลในเดือน ก.ย. ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารปรับลดลง นอกจากนี้ Fed ยังปรับลดคาดการณ์ GDP สหรัฐฯในปี 2019 ลงอยู่ที่ 2.1% จาก 2.3% สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมของสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง


ตลาดหุ้นยุโรป ปรับลดลง นักลงทุนกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนโดยรวม หลัง PMI รวมของยูโรโซนปรับลดลงและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ได้แรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของหุ้นเซมิคอนดักเตอร์ และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ขานรับประเด็นรัฐสภาของอังกฤษได้ลงมติเรียกร้องให้สหภาพยุโรปขยายกำหนดเส้นตาย Brexit ออกไป

ตลาดหุ้นจีน ปรับเพิ่มขึ้น หลังนายหลี่ เค่อเฉียง นายกฯของจีน ให้คำมั่นว่า จะบังคับใช้ “มาตรการที่แข็งแกร่ง” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวลง จากผลกระทบของข้อพิพาททางการค้า และสภาประชาชนแห่งชาติของจีน ได้อนุมัติกฎหมายการลงทุนสำหรับต่างชาติในจีน แต่ดัชนีฯ ได้ลดช่วงบวกลง นักลงทุนยังคงจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนสัปดาห์นี้อย่างใกล้ชิด

ตลาดหุ้นไทย ปรับเพิ่มขึ้น ขานรับผลการประชุม Fed และหุ้นกลุ่มพลังงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ช่วงท้ายสัปดาห์ หุ้นขนาดใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างชาติ นักลงทุนคาดหวังเชิงบวกต่อผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.นี้

ตลาดน้ำมัน ปิดบวก ได้แรงหนุนจากกลุ่มโอเปกยกเลิกการประชุมฯ วันที่ 17-18 เม.ย. บ่งชี้ถึงการปรับลดการผลิตต่อไปถึงเดือน มิ.ย. และสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลงมากกว่าคาด แต่น้ำมันเพิ่มขึ้นไม่มาก นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

ตลาดทองคำ ปิดบวก ได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. หลังผลการประชุมของ Fed ที่ส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

 
 
 
 
เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

* รัฐสภาของอังกฤษจะลงมติร่างข้อตกลง Brexit ที่นางเทเรซ่า เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เสนอเป็นครั้งที่ 3 (25-26 มี.ค.) ซึ่งหากรัฐสภาโหวตผ่านข้อตกลง Brexit อังกฤษก็จะออกจาก EU ในวันที่ 22 พ.ค. แต่หากรัฐสภาโหวตไม่ผ่าน อังกฤษจะต้องตัดสินใจภายในวันที่ 12 เม.ย.นี้ว่า จะเลือกทางใด ระหว่าง ออกจาก EU แบบไร้ข้อตกลงในวันที่ 22 พ.ค. หรือ ขอเลื่อนการใช้มาตรา 50 ออกไปเป็นระยะเวลานานและเข้าร่วมการเลือกตั้งสภาสหภาพยุโรปในวันที่ 23-26 พ.ค.ซึ่งเรามองว่า หากรัฐสภาโหวตไม่ผ่าน จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอังกฤษ และการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เนื่องจาก อาจนำมาสู่ Brexit แบบไร้ข้อตกลง หรือ การลงประชามติ Brexit รอบสอง หรือ การเลือกตั้งใหม่ได้

* นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนอย่างใกล้ชิด โดยนายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และนายสตีเวน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐฯ จะเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งของจีน เพื่อเจรจาการค้า (28 มี.ค.) ขณะที่นสพ.ไฟแนนเชียล ไทม็ รายงานว่า จีนจะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯในการเจรจาครั้งนี้ โดยรัฐบาลจีน ยังไม่ได้ยื่นข้อเสนอต่อสหรัฐฯ เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนกับสหรัฐฯ ที่ได้เรียกร้องให้จีนยุติการดำเนินนโยบายอันเป็นการขัดขวางบริษัทคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ที่พยายามดำเนินธุรกิจในจีน

* ติดตามผลการเลือกตั้ง และการจัดตั้งรัฐบาลของไทย ซึ่งหากจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็ว จะสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเสถียรภาพทางการเมืองและการลงทุน


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
 
ตลาดหุ้นทั่วโลกมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากการดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางสำคัญๆ หลายแห่ง ซึ่งจะทำให้สภาพคล่องปรับตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลง การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และการปรับลดลงอย่างมากของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) สหรัฐฯ อายุ 10 ปี ซึ่งถูกใช้เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย ได้ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และอาจส่งผลให้ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวผันผวน ขณะที่ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในประเด็น Brexit และ การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ดังนั้น นักลงทุนจึงยังควรใช้ความระมัดระวังในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้ * ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดุลการค้า / การเริ่มก่อสร้างบ้าน / รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคล และ GDP ในไตรมาส 4/2561 ของสหรัฐฯ รวมทั้ง รายงานเศรษฐกิจการเงิน เดือน ก.พ.ของธนาคารแห่งประเทศไทย * เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ การเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีน รัฐสภาของอังกฤษลงมติต่อข้อตกลง BREXIT ถ้อยแถลงของ
เจ้าหนี้ที่ Fed และ ผลการเลือกตั้งของไทย

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 มี.ค. 2562 เวลา : 15:07:22
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:39 am