แบงก์-นอนแบงก์
SME D Bank พอใจยอดปล่อยสินเชื่อไตรมาสแรกเข้าเป้าหมื่นล้าน


ธพว.เผยปล่อยสินเชื่อประจำ Q1/2562 เข้าเป้า 1 หมื่นล้านบาท ประกาศเดินหน้าการตลาดเชิงรุก ผู้บริหารและพนักงาน ประสานพลังกระจายลงพื้นที่มอบสุขแนะนำบริการ “3 เติม”หนุนยอดปล่อยสินเชื่อปีนี้ถึง 6 หมื่นล้านบาท  พร้อมทุ่ม 600 ล้านบาท ยกระดับสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งเพื่อคนตัวเล็ก เล็งออกพันธมิตร 2 หมื่นล้านบาทระดมทุนปล่อยกู้


นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)หรือSME D Bank เปิดเผยว่ายอดปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ประจำไตรมาส 1 ปี 2562 รวมกว่า 10,000 ล้านบาทเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้และมั่นใจว่าภายในปีนี้สามารถปล่อยสินเชื่อได้ถึง 60,000 ล้านบาท เนื่องจากธนาคารมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ถูกใจผู้ประกอบการรายย่อย เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ผ่อนนาน7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดา 3 ปีแรก เพียง 0.417% ต่อเดือน ปี 4-7 อัตรา MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด  2 ล้านบาท และหากเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก 3ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปี 4-7 อัตรา MLRต่อปี สามารถใช้ บสย.ค้ำประกันได้ควบคู่กระบวนการให้บริการเข้าถึงง่าย สะดวก สามารถยื่นกู้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ผ่านแอปพลิเคชัน SME D Bankและ“หน่วยรถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไวไปถึงถิ่น” ซึ่งเป็นบริการเคลื่อนที่พบผู้ประกอบการถึงสถานประกอบการ สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ในเวลา 7 วัน โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน

ทั้งนี้นับตั้งแต่ต้นเมษายนที่ผ่านมาธนาคารดำเนินแผนทำตลาดเชิงรุกด้วยกิจกรรม“รถม้าเติมสุข ถึงถิ่นทั่วไทย” โดยผู้บริหารระดับสูง  และพนักงาน จะแบ่งทีม เดินสายกระจายลงพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศทุกสัปดาห์ เพื่อแนะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงบริการ “3เติม”ของธนาคารที่จะช่วยสร้างความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ “เติมทักษะ” ผ่านกิจกรรมสัมมนาอบรมความรู้ เสริมช่องทางตลาด“เติมทุน”แนะนำสินเชื่อดอกเบี้ยถูกต่างๆ และ“เติมคุณภาพชีวิต”  สนับสนุนผู้ประกอบการพาเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในชีวิต

“จากผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ประกอบการแผนการตลาดเชิงรุกที่เตรียมไว้ มั่นใจว่า  ปีนี้จะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ไว้วาง 60,000 ล้านบาท รวมถึงการมอบ 3 เติมจะช่วยสร้างความยั่งยืนให้แก่เอสเอ็มอีไทยได้ เพราะลูกค้า ธพว.นอกจากได้รับเงินทุนแล้วยังได้รับการสนับสนุนด้านความรู้และความมั่นคงในชีวิตด้วย”

นายพงชาญ กล่าวต่อว่าธนาคารมุ่งยกระดับการทำงานสู่การเป็นดิจิทัลแบงก์กิ้งเพื่อเอสเอ็มอีคนตัวเล็กเต็มรูปแบบ โดยจัดงบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท สร้างระบบ core bankingว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญจากประเทศจีนมาพัฒนาระบบ ซึ่งจะใช้อินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำธุรกรรมเบ็ดเสร็จครบวงจร โดยเริ่มพัฒนาระบบตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์แบบภายใน 2 ปี

“การยกระดับธนาคารสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยนอกระบบที่มีอยู่จำนวนกว่า 3 ล้านบาท  สามารถเข้าถึงบริการ 3 เติมของ SME D Bank ได้ทั่วถึง และสะดวกยิ่งขึ้นช่วยให้เอสเอ็มอีคนตัวเล็กเพิ่มขีดความสามารถ  ลดความเหลื่อมล้ำ ขจัดความยากจน นำสังคมไทยอยู่ดีมีสุข เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” นายพงชาญ ระบุ

นอกจากนั้นธนาคารเร่งบริหารจัดการหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) โดยให้บริษัทติดตามหนี้มืออาชีพ มาทำหน้าที่ติดตามหนี้ในรายลูกค้าที่ไม่ให้ความร่วมมือกับธนาคาร และเป็นหนี้เสียมายาวนาน โดยใช้วิธีแบ่งผลกำไรกัน ช่วยให้ธนาคารลดค่าใช้จ่ายในการติดตามหนี้ รวมถึงทยอยขายทอดตลาดหนี้ด้อยคุณภาพ ซึ่งหยุดดำเนินกิจการ เลิกกิจการ ประวิงเวลาการชำระหนี้ หรือไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขหนี้ ส่วนมากเป็นรายใหญ่ มีดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น โรงสี สนามกอล์ฟ เป็นต้น  ซึ่งการขายหนี้เสียออกไปนั้น จะก่อประโยชน์ต่อธนาคารสามารถระดมเงินทุน เพื่อนำมาปล่อยสินเชื่อคุณภาพดีให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต่อไปได้ รวมถึง ช่วยลดหนี้เสีย ซึ่งภายในปีนี้คาดว่าจะเหลือไม่เกิน  10% ช่วยให้สถานะทางการเงินของธนาคารมั่นคงเข้มแข็งยิ่งขึ้นไปอีก

อีกทั้งธนาคารเตรียมแผนออกพันธบัตรต่อเนื่องในปี 2562 เพื่อระดมเงินฝากมาปล่อยสินเชื่อ โดยจะออกครั้งละ 5,000 ล้านบาท จำนวน 4 ครั้ง รวมเป็นวงเงิน 20,000 ล้านบาท  เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนอยู่ในระดับสูงประกอบกับธนาคารได้รับจัดอับดับเรตติ้งองค์กร จากบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ระดับ AAA ถือเป็นระดับสูงสุดเท่ากับเรตติ้งของรัฐบาลไทย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 เม.ย. 2562 เวลา : 11:49:00
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 5:30 pm