แบงก์-นอนแบงก์
BBLรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2562 จำนวน 9,028 ล้านบาท


อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 คาดว่าน่าจะอยู่ในระดับที่ร้อยละ 3.8 ลดลงจากร้อยละ 4.1  ในปี 2561 ท่ามกลางภาวะการชะลอตัวของการค้าโลกและความเสี่ยงจากนโยบายทางการค้าของสหรัฐฯ การส่งออกในสองเดือนแรกของปีชะลอลง ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันการผลิตในอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ส่งผลให้กิจกรรมการผลิตในประเทศโดยรวมลดลง อย่างไรก็ดีการบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัว สอดคล้องกับรายได้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป ถึงแม้ว่าความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะเพิ่มขึ้นจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกแต่ความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชน นอกจากนี้นโยบายเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศได้ในระดับหนึ่ง


สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2562 ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคารจำนวน 9,028 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.3 จากไตรมาส 1 ปี 2561 โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.34 เป็นร้อยละ 2.48 ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลงร้อยละ 28.3 สาเหตุหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัลและจากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลงร้อยละ 3.1และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานที่ร้อยละ 42.6

ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,029,810 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.6 จากสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ร้อยละ189.0

ด้านเงินกองทุนตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องแนวทางการระบุและกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) ซึ่งกำหนดให้ธนาคารในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบต้องดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย (Higher Loss Absorbency) ในรูปของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยง เพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีกร้อยละ 1.0 โดยให้ทยอยดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มอีกร้อยละ 0.5 ในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 จนอัตราส่วนเพิ่มเป็นร้อยละ 1.0 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
 
สำหรับธนาคารหากนับกำไรสุทธิงวดกรกฎาคมถึงธันวาคม 2561 และกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2562 หักด้วยเงินปันผลที่จะจ่ายในเดือนพฤษภาคม 2562 เข้าเป็นเงินกองทุน อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยจะอยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18.9 ร้อยละ 17.4 และร้อยละ 17.4 ตามลำดับ ทั้งนี้เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ซึ่งรวมส่วนเพิ่มตาม D-SIBs เรียบร้อยแล้ว

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 เม.ย. 2562 เวลา : 08:26:56
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:50 pm