ไลฟ์สไตล์
"ฟรีแลนซ์"บริหารเงินอย่างไร...ให้อยู่รอดได้ทุกเดือน


เปิด 5 เทคนิคแผนการเงิน”สไตล์ฟรีแลนซ์”


ในช่วงนี้ต้องยอมรับว่าปริมาณคนตกงานมากขึ้นอันด้วยหลากหลายเหตุผลใหญ่ๆก็คือ disruption อาชีพนั้นๆและกิจการปิดตัว แม้การออกจากงานหรือตกงานจะได้รับเงินก้อนมาตุนในมือพอสมควร แต่ก็เป็นเงินก้อนที่สามารถยังชีพได้เพียง 1 ปี หรือ1ปีครึ่งเท่านั้น

ดังนั้นจากคนที่เคยเป็นพนักงานประจำจึงต้องผันเปลี่ยนมาเป็นฟรีแลนซ์หรืออาชีพอิสระที่หันมาเป็นเจ้านายตัวเองจะทำงานที่ไหน เข้าออกกี่โมงได้ตามอิสระ ทำงานสบาย ตรงกันข้ามกับพนักงานประจำที่มีเจ้านาย ต้องตอกบัตรมีเวลาเข้าออก ต้องทำงานในออฟฟิคและที่สำคัญ พนักงานประจำจะมีความมั่นคงด้านการเงินดีกว่าเพราะจะได้รับเงินตรงเวลาหรือมีเงินรับเข้ามาทุกเดือนอย่างแน่นอน ทำให้คุณสามารถบริหารจัดการด้านการเงินได้ชัดเจนและสามารถมีรายได้ที่ใช้ได้เพียงพอก่อนที่เงินเดือนรอบถัดไปจะจ่อเข้าบัญชีมานอนรอ

แต่ขณะที่อาชีพ“ฟรีแลนซ์”นั้นนอกจากจะต้องเอาเงินส่วนตัวไปลงทุนก่อนแล้ว อาจจะต้องเผชิญกับปัญหารายได้ที่เข้ามา เพราะหลังส่งงานกว่าจะได้รับเงินต้องรอไปอีก 30 วันบ้าง หรือ 45 วัน หรือเงินที่จ่อเข้าต้องลุ้น แถมต้องลุ้นด้วยว่ารายได้ที่เข้ามาจะเพียงพอต่อการใช้ในรอบ 1 เดือนอย่างที่เคยมีหรือไม่

ดังนั้นอาชีพ “ฟรีแลนซ์” จึงต้องเคร่งครัดเรื่องการเงินมากกว่าใครเพราะคาดการณ์รายได้ในอนาคตยากแล้ว ในแต่ละเดือนรายได้ที่เข้ามาก็ได้มากน้อยไม่เท่ากันที่สำคัญบางครั้งยังได้เงินไม่ตรงเวลาอีก จึงทำให้คนที่มีอาชีพ “ฟรีแลนซ์” ต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวเองสูงมากกว่าคนทำงานประจำและยังรู้จักมองเหตุการณ์ล่วงหน้าด้วย เพราะเผื่ออาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือมีความจำเป็นต้องใช้เงินในกรณีฉุกเฉิน หากบริหารเงินไม่เป็นก็มีโอกาสเกิดปัญหาทางการเงินได้เช่นกัน

ดังนั้นวันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงมีเทคนิคดีๆมาแนะนำให้คนที่มีอาชีพ ฟรีแลนซ์ เพื่อเตรียมความพร้อม นอกจากจะบริหารรายได้อย่างไรให้เพียงพอและให้อยู่รอดได้ทุกเดือนแล้ว ยังสามารถเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันควบคู่ไปด้วยกันได้

สำหรับ 5 เทคนิควางแผนการเงินสไตล์ฟรีแลนซ์ ของมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ ที่นำมาแนะนำในครั้งนี้

         5 เทคนิคแผนการเงิน”สไตล์ฟรีแลนซ์”
เทคนิคที่ 1 ตรวจสอบค่าใช้จ่ายและวางแผนการใช้เงิน
เทคนิคที่ 2 จัดสรรรายได้ไว้สำหรับค่าใช้จ่ายคงที่ก่อน
เทคนิคที่ 3 สำรองเงินเป็นหลักประกันกรณีไม่มีรายได้
เทคนิคที่ 4 สำรองเงินเผื่อกรณีฉุกเฉิน
เทคนิคที่ 5 สร้างหลักประกันให้กับชีวิต
 
 
เริ่มต้นเทคนิคแรกด้วยการตรวจสอบค่าใช้จ่ายและวางแผนการใช้เงิน ซึ่งคุณควรจะแบ่งเงินออกเป็น 3 ส่วนได้แก่

1.ค่าใช้จ่ายคงที่ต้องจ่ายเดือนละเท่าๆกัน ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนชำระเบี้ยประกัน ฯลฯ

2.ค่าใช้จ่ายผันแปรสามารถเพิ่มหรือลดได้ตามพฤติกรรมการใช้จ่าย ของเรา เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ

3.เงินออมและเงินลงทุน

หลังจากนี้ก็จะรู้แล้วว่าคุณมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินอย่างแน่นอนเป็น จำนวนเท่าไหร่และส่วนใดเป็นค่าใช้จ่ายที่เราสามารถประหยัดได้ เพื่อกำหนดงบประมาณการใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน

ตามมาด้วยเทคนิคที่ 2.จัดสรรรายได้ไว้สำหรับค่าใช้จ่ายคงที่ก่อน เนื่องจากฟรีแลนซ์มักจะมีรายได้ในแต่ละเดือนที่ไม่เท่ากัน บางเดือนได้เยอะ บางเดือนไม่ได้เลย ดังนั้นในแต่ละครั้งที่รับรายได้เข้ามาจึงต้องจัดสรรเงินให้ครบตามที่เรากำหนดเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนก่อน ส่วนที่เหลือค่อยวางแผนการใช้จ่ายให้คุ้มค่าต่อไป

ส่วนเทคนิคที่ 3.สำรองเงินเป็นหลักประกันกรณีไม่มีรายได้ โดยคุณควรสำรองเงินไว้ให้เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อเป็นหลักประกันของชีวิต หากเราไม่มีงานทำเลย ยังสามารถนำ เงินสำรองมาใช้จ่ายเป็นการทดแทนได้

สำหรับเทคนิคที่ 4.สำรองเงินเผื่อกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นได้ เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ดังนั้นเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติ เพื่อเป็นการสร้างความไม่ประมาทต่อชีวิ เพราะอาชีพฟรีแลนซ์อย่างพวกเรา ไม่ได้มีสวัสดิการใดๆมาช่วยคุ้มครองหรือทางที่ดี อาจจะแบ่งเงินบางส่วน ไปซื้อประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงต่างๆ จะได้ช่วย ผ่อนหนักเป็นเบาได้

และเทคนิคที่ 5.สร้างหลักประกันให้กับชีวิต ด้วยสิทธิประโยชน์จากทางรัฐบาล เช่น ถ้าเคยเป็นผู้ประกันตน ตาม มาตรา 33 ของกองทุนประกันสังคมมาก่อน แล้วลาออกจากบริษัทมาเป็นฟรีแลนซ์ก็ควรสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 เพื่อให้ ยังคงได้รับสิทธิประโยชน์เป็นหลักประกันด้านสุขภาพและชราภาพหรือสมัครเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติเพื่อสร้างหลักประกันเพิ่มเติมให้กับตัวเองและสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตให้แก่คุณด้วยอีกทาง
 
ท้ายสุดนี้ ต้องขอบคุณ “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” หรือ www.set.or.th ที่แนะนำเทคนิคดีๆ สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงด้านรายได้ที่มีเข้าไม่สม่ำเสมอ แต่สามารถสร้างความมั่นคงได้ หากคุณมีการเตรียมความพร้อมและวางแผนการเงินให้ดีและรู้จักการบริหารและการจัดการอย่างมีวินัย แม้คุณจะมีอาชีพฟรีแลนซ์แต่ชีวิตคุณก็จะมีความมั่งคั่งและมั่นคงและยังลดความเสี่ยงได้เช่นกัน
 

LastUpdate 22/04/2562 08:08:21 โดย : Admin
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:11 pm