แบงก์-นอนแบงก์
ไทยพาณิชย์เปิดตัว"SCB Wealth Holistic Experts"ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน


ไทยพาณิชย์เปิดตัว “SCB Wealth Holistic Experts” ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน มิติใหม่ของการมอบประสบการณ์ในการสร้างความมั่งคั่ง พร้อมเจาะลึกมุมมองเศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนรับมือความผันผวนหลังการเลือกตั้ง

         
ธนาคารไทยพาณิชย์แนะนำทีมคลังสมองด้านการลงทุนและต่อยอดสร้างความมั่งคั่งสำหรับกลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคาร ภายใต้ชื่อ "SCB Wealth Holistic Experts" เป็นการผสานความแข็งแกร่งของทีมที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางการเงินการลงทุนใน 3 ด้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ SCB CIO Office, SCBS Wealth Research และ SCB Estate Planning & Family Office Service ซึ่งจะทำหน้าที่จัดเตรียมและคัดกรองบทวิเคราะห์ พร้อมจับจังหวะและทิศทางการลงทุนครอบคลุมตลาดโลก ตลาดทุนไทย รวมถึงข้อกฎหมายสำคัญที่น่าสนใจและต้องโฟกัสเป็นพิเศษในแต่ละช่วงเวลา เพื่อช่วยให้กลุ่มลูกค้าเวลธ์ของธนาคารไม่พลาดโอกาสสร้างผลตอบแทนในทุกจังหวะการลงทุน อันนำไปสู่การต่อยอดความมั่งคั่งได้อย่างมั่นคงต่อไป พร้อมกันนี้ทีม "SCB Wealth Holistic Experts" ยังได้เผยถึงทิศทาง มุมมอง และกลยุทธ์ด้านการลงทุนในไตรมาส 2 แบบรอบด้าน ทั้งภาพรวมความเคลื่อนไหวของตลาดโลก เจาะลึกตลาดทุนไทย รวมถึงกฎหมายภาษีอากรที่นักลงทุนและผู้ประกอบการควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้งอีกด้วย
          
นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลด้านการลงทุนและที่ปรึกษาการลงทุน (CIO Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ของโลก มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงในทิศทางเดียวกัน (Synchronize Slowdown) สอดคล้องกับที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2562 ลงอยู่ที่ 3.3% จาก 3.5% ที่ได้ประมาณการไว้ครั้งก่อน ขณะที่ธนาคารกลางหลักๆ ทั่วโลก ยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในไตรมาส 2/2562 ซึ่งส่งผลให้สภาพคล่องในระบบปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางจีน (PBoC) ซึ่งเศรษฐกิจมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ย ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ 

อย่างไรก็ตามหากเครื่องชี้วัดต่างๆในช่วง 3 - 4 เดือนข้างหน้า บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง Fed อาจส่งสัญญาณเปลี่ยนมุมมองต่อนโยบายการเงิน (Monetary Policy Stance) เป็นโทนเชิงเข้มงวดมากขึ้น (Hawkish) เพื่อเตือนตลาด ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 แม้ว่ายังจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 จริงก็ตาม สำหรับเงินดอลลาร์สหรัฐฯมีแนวโน้มแข็งค่าในไตรมาส 2/2562 เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ Yield Curve ของสหรัฐฯก็อยู่สูงกว่าเช่นเดียวกัน สำหรับสกุลเงินของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่มีเสถียรภาพแข็งแกร่ง มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง 

โดย SCB-EIC คาดการณ์ GDP ในปี 2562อยู่ที่ 3.6% ลดลงจากคาดการณ์เดิมที่ 3.8% จากการส่งออกสินค้าที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.75% ตลอดปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอลงมากกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะถัดไปจะขึ้นอยู่กับช่องว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Monetary Policy Gap) ระหว่างสหรัฐฯและไทย
         
นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมายังคงชะลอตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาในเดือนมีนาคม และคาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณบวกชัดเจนในช่วง 3 - 6 เดือนข้างหน้า หลังจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน บรรเทาลง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ของโลกจะออกมาต่อเนื่อง เช่น สหรัฐฯ จีน และน่าจะตามมาด้วย ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกกลับมาสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนอีกครั้ง อีกทั้งสภาพคล่องการเงินโลกไม่ได้ลดอย่างที่คาดทำให้แรงกดดันต่อราคาสินทรัพย์ลดลง สำหรับทิศทางของตลาดหุ้นไทยด้วยภาพรวมหลังเลือกตั้งของประเทศไทยยังไม่ชัดเจน คาดว่าจะผันผวนในช่วงที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลซึ่งอาจใช้ระยะเวลาทั้งไตรมาส 2/2562 และหลังจากมีความชัดเจนแล้วตลาดหุ้นไทยก็จะกลับไปปรับตัวตามสภาพตลาดหุ้นทั่วโลกและทิศทางของผลการดำเนินงาน ทั้งนี้ประเมินว่าSET Index มีโอกาสลดลงไปได้ที่ 1600 หรือ 1550 จากปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองแต่ยังคงยืนยันเป้าหมายของปี 2562 ที่ระดับ 1700 - 1800 จุด
          
กลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทย เรามองว่าSETจะมี downside จำกัด และไม่คิดว่าตลาดจะปรับตัวลดลงสู่จุดต่ำสุดที่เคยทำไว้ก่อนหน้านี้ในปีที่แล้วเดือน ก.ค. ที่ 1600 จุด และ เดือน ธ.ค. ที่1550 จุด เนื่องจากภาวการณ์ลงทุนและ sentiment ในตอนนี้ดีกว่าช่วงก่อนหน้าอย่างมาก แต่ upside ก็ไม่สูงมากมองที่ระดับ1700 - 1800 จุด โดยแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ราคามีโอกาสปรับตัวลดลงในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในประเทศยังไม่ชัดเจน เนื่องจากตลาดจะคลายความกังวลหลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะที่ความเสี่ยงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองจะกลายเป็นเรื่องปกติของการเมืองซึ่งในความเป็นจริงก็ไม่ใช่เพียงการเมืองไทยเท่านั้น แต่กำลังเกิดขึ้นในเกือบทุกประเทศ เช่น สหรัฐฯ อังกฤษและในยุโรป เป็นต้น ดังนั้นโซนเข้าซื้ออยู่ระหว่าง 1550 -1600 จุด ในขณะที่โซนขายอยู่ระหว่าง 1750 - 1800 จุด หรือ 8-10% จากระดับปัจจุบัน
          
หุ้น Top Picks แนะนำลงทุนในไตรมาส 2/2562 เราชอบหุ้นวัฏจักร (cyclical) มากกว่าหุ้นตั้งรับ (defensive) และแนะนำให้เพิ่มน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และธุรกิจการเกษตร เพราะกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นและถูกเมื่อเทียบกับค่าอ้างอิงและระดับในอดีต ได้แก่ หุ้นIRPC ,IVL , PTTEP,GFPT และTU 
          
ดร.สาธิต ผ่องธัญญา ผู้อำนวยการอาวุโส ที่ปรึกษาด้านการวางแผนการส่งต่อความมั่งคั่งจากรุ่นสู่รุ่น (Estate Planning & Family Office) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ภาพรวมของกฎหมายภาษีอากรในช่วงปี 2562 และแนวโน้มของกฎหมายที่จะมีผลใช้บังคับในอนาคตจะเห็นได้ว่ากรมสรรพากรเน้นการให้บริการในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงการออกกฎหมายภาษีอากรใหม่ๆที่ต้องการให้ผู้เสียภาษีไม่ว่าจะเป็นผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดารวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในรูปแบบนิติบุคคลได้เสียภาษีอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยเน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อช่วยในการวิเคราะห์และแยกแยะกลุ่มผู้เสียภาษี และสร้างรูปแบบการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการเสียภาษีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
         
โดยจะเห็นได้ว่าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2562 เป็นต้นมา กรมสรรพากรได้มีการออกมาตรการทางภาษีอากรโดยในหลายๆมาตรการได้มีผลใช้บังคับแล้วและบางมาตรการก็กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจรวมทั้งมีข้อสงสัยและข้อซักถามในทางปฏิบัติจากประชาชนเป็นอย่างมาก เช่น กฎหมายภาษี e-Payment ,มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของกิจการ ,การจัดเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 
          
นอกจากนี้ยังมีร่างกฎหมายภาษีอากรที่กำลังรอประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมายที่น่าสนใจ ได้แก่ ร่างกฎหมายภาษีที่ผ่านการเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่ 3 ไปเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2562 โดยสาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวจะจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก "กองทุนรวม" ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เฉพาะส่วนที่เป็น "รายได้ดอกเบี้ย" ซึ่งถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีเงินได้ระหว่างการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้โดยตรงกับการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ โดยอ้อมผ่าน "กองทุนรวม"

ซึ่งหากร่างพรบ.ฯดังกล่าวมีผลใช้บังคับ อาจมีผลกระทบกับกองทุนรวมฯที่มีการลงทุนในตราสารหนี้ ที่อาจจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่ลดลง เนื่องจากภาระภาษีดังกล่าว รวมทั้งนักลงทุนทั่วไปที่เป็นผู้ถือหน่วยลงทุนฯ บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล อาจได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมลดลงด้วยเช่นกัน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 26 เม.ย. 2562 เวลา : 16:05:32
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:34 pm