เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อคนใหม่ชูพันธกิจ"5Gs"


ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อคนใหม่ชูพันธกิจ “5Gs”เสริมสร้างมาตรฐานธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล


สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยประกาศแต่งตั้งให้ นายธีรชาติ จิรจรัสพร ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2562 เพื่อสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ทั้งระบบให้เติบโตไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจเช่าซื้อ

ปัจจุบันนายธีรชาติ จิรจรัสพร ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานEnterprise Digital ธนาคารธนชาต จำกัด(มหาชน)มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์มากว่า 20 ปี โดยปีที่ผ่านมาเป็นหัวหน้าคณะทำงาน Market Conduct กลุ่มรถยนต์เพื่อให้ความรู้และเตรียมความพร้อมกับสมาชิก  สมาคมฯในการปรับตัวตามเกณฑ์การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นหัวหน้าโครงการ“ALDX”หรือ Automotive Lending Digital Experience ด้านCustomer Acquisition & Engagement ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนากระบวนการธุรกิจจาก Online ไปสู่ Offline เพื่อให้สามารถให้บริการและเข้าถึงลูกค้าสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารธนชาตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับพันธกิจหลังจากได้รับตำแหน่ง ตั้งใจที่จะมุ่งเน้นการทำงานให้ได้ผลจริง เกิดประโยชน์ทั้งต่อสมาชิกสมาคม ผู้ประกอบการเช่าซื้อ ลูกค้าและสังคม ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงได้วางเป้าหมายพันธกิจหลัก “5Gs”ได้แก่

Governance & Collaboration ประสานความร่วมมือกับหน่วยราชการและองค์กรต่างๆเพื่อการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและสมาชิกผู้ประกอบการเช่าซื้อ โดยจะส่งเสริมให้สมาชิกปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ และจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพธุรกิจเช่าซื้อ เช่น เกณฑ์การคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หรือ Market Conduct ตามนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เช่น การลดปัญหาบริการเช่าซื้อในเรื่องการให้วงเงินเกินหลักประกัน เป็นต้น

Grow Knowledgeเพื่อเผยแพร่ความรู้อันเป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ ทั้งต่อสมาชิกและต่อสังคม ผ่าน Website ของสมาคม รวมถึงจัดสัมมนาและจัดอบรมให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกและบุคลากรของสมาชิก ให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านอุตสาหกรรม ด้านเทคโนโลยีและสังคมดิจิทัล ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Grab Opportunity เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการเช่าซื้อในการปรับตัวเพื่อโอกาสในการให้บริการเช่าซื้อรถยนต์สำหรับโครงการรถไฟฟ้า และการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล ภายใต้กรอบโครงการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (National Digital ID: NDID)

Go Together ส่งเสริมความสามัคคีในหมู่สมาชิก รวมถึงความร่วมมือกับสมาคมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว เพื่อทำประโยชน์แก่สมาชิกและต่อสังคม

Generation Next สร้างฐานบุคลากรด้านธุรกิจเช่าซื้อ มุ่งเน้นไปที่นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อเป็น next generation ของธุรกิจเช่าซื้อต่อไป

สำหรับสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2543 เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเป็นองค์กรกลางที่จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์เกิดการพัฒนา ทั้งในด้านวิชาชีพ และการดำเนินงานของสมาชิก ในปัจจุบันสมาคมมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 41 ราย มียอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ ณ สิ้นปี 2561 รวม  2.44 ล้านล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตคิดเป็นร้อยละ19.22 จากปี 2560 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดรถยนต์ โดยมียอดการจำหน่ายรถในปี 2561จำนวน 1,039,158 คัน มีอัตราการเติบโต คิดเป็นร้อยละ16.12 จากปี2560 ครอบคลุมสินเชื่อรถยนต์ใหม่ รถยนต์ใช้แล้วและสินเชื่อรีไฟแนนซ์รถยนต์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 72, 20 และ 8 ตามลำดับ ทั้งนี้แบ่งเป็นผู้ประกอบการที่เป็นสถาบันการเงินและบริษัทในเครือของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 15 ราย  บริษัทลีสซิ่งของผู้ผลิตรถยนต์ หรือที่เรียกว่าCaptive Finance 7  ราย และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิขย์ (Non-bank) 19 ราย

ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยยังกล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ปีนี้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจะเข้าสู่ทิศทางการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)คาดว่ายอดผลิตรถยนต์รวมปีนี้ อยู่ที่ 2,150,000 คัน ลดลงร้อยละ 0.82 และยอดผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศปีนี้จะอยู่ที่ 1,050,000 คัน  

สำหรับยอดขายรถยนต์ในประเทศในปี 2562จะอยู่ในระดับทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากความต้องการเปลี่ยนรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก และการทำการตลาดของผู้ผลิตรถยนต์จากการออกรถยนต์รุ่นใหม่และแคมเปญที่จูงใจแต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่ต่ำกว่าที่คาดการณ์ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบการส่งออก ภาระหนี้ของครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ที่ระดับร้อยละ 78.6 ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2561อันจะส่งผลต่อเงื่อนไขการพิจารณาเช่าซื้อ  ทั้งนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นจนถึงไตรมาส 3แต่ผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อยังคงต้องคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจเช่าซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นภายใต้การบังคับใช้สัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 29 เม.ย. 2562 เวลา : 18:50:36
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:07 am