แบงก์-นอนแบงก์
SME D Bankปูพรมยกระดับธุรกิจโชห่วยทั่วไทย


SME D Bank เดินหน้ายกระดับธุรกิจโชห่วยตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันปรับตัวทันโลกการค้ายุคใหม่เผยพาถึงแหล่งทุนแล้ว 2,540 ราย วงเงิน 3,158.09 ล้านบาทประกาศลุยต่อเนื่องจับมือพันธมิตรจัดทัพเดินสายปูพรมติดปีกทั่วไทยเติมความรู้คู่ดันเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำวงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท  


นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว).หรือSME D Bank เผยว่า จากที่ธนาคาร ร่วมกับ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ทำการสำรวจ “สถานภาพผู้ประกอบการร้านโชห่วย” พบว่าขณะนี้ประเทศไทย มีจำนวนร้านค้าปลีกดั้งเดิม หรือ “โชห่วย” เกือบ 4 แสนราย กระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ประสบปัญหามีคู่แข่งใหม่ ทั้งร้านค้าปลีกขนาดเล็ก-ใหญ่  ค้าขายออนไลน์และโมเดิร์นเทรด ต้องเผชิญกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขาดประสิทธิภาพด้านการตลาด บัญชี การบริหารจัดการพื้นที่ขายสินค้า  ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น และรายได้ลดน้อยลง  

นอกจากนั้น ธุรกิจโชห่วยการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันยังต่ำ จากการสำรวจในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านโชห่วย 24.48% ไม่มีการปรับตัวใดๆ เลย เพราะคิดว่า ไม่มีความจำเป็น และมีทุนจำกัด  และ 39.77% มีปรับตัวน้อย เพราะมองว่า มีลูกค้าเก่าอยู่แล้วกับไม่มีทุนจะพัฒนา ส่วน 22.62% ปรับตัวระดับปานกลาง พัฒนาสินค้าและบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า ขณะที่ มีเพียง 13.12% ปรับตัวอย่างมากเพื่อจะยกระดับธุรกิจ ปรับเปลี่ยนร้านให้ทันสมัย สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า  เช่น ปรับปรุงร้านใหม่  เพิ่มโปรโมชั่นหรือบริการเสริมต่างๆ  มีการระบุราคาที่ชัดเจน และมีสินค้าหลากหลาย ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเสมอ

นายพงชาญ กล่าวต่อว่า จากผลสำรวจดังกล่าว ธนาคารจึงกำหนดนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการสนับสนุนยกระดับธุรกิจโชห่วย   เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวมีความใกล้ชิดชุมชน  และมีผู้ประกอบการจำนวนมากกระจายอยู่ทั่วประเทศ หากส่งเสริมให้โชห่วยเติบโตได้ จะก่อประโยชน์กว้างขวาง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้กระจายในท้องถิ่น  ขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับชุมชนอย่างดียิ่ง 

ดังนั้น  นับตั้งแต่ต้นปี ธนาคารจัดกิจกรรมยกระดับโชห่วยต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ   "เติมทักษะ"  ผ่านการอบรมให้ความรู้ต่างๆ  เช่น ด้านบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่ ส่งเสริมระบบบัญชีให้ธุรกิจโชห่วยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และขยายการค้าออนไลน์ เพื่อสร้างตลาดใหม่ เป็นต้น มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 1,500 ราย  ตามด้วยการกลางน้ำ คือ "เติมทุน"สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำผ่านโครงการ "สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน" (Local Economy Loan)  สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วย ค้าปลีกค้าส่ง ใช้เป็นทุนหมุนเวียน ปรับปรุงร้านให้สะดวกทันสมัย  คิดดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนนานถึงสูงสุด 7 ปี  บุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก  3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  นับตั้งแต่ต้นปี ถึงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมาอนุมัติสินเชื่อให้ธุรกิจโชห่วย ค้าปลีกค้าส่งไปแล้ว 2,540 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 631 ราย บุคคลธรรมดา 1,909 ราย วงเงินรวม 3,158.09 ล้านบาท แบ่งเป็น นิติบุคคล 1,615.57 ล้านบาท บุคคลธรรมดา 1,542.52  ล้านบาท ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นมูลค่ากว่า 14,464 ล้านบาท และปลายน้ำคือ “เติมคุณภาพ” สนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยและครอบครัวเข้าถึงสวัสดิการภาครัฐ ช่วยสร้างความมั่นคงในชีวิต เติบโตอย่างยั่งยืน นำไปสู่สังคมอยู่ดีมีความสุข

ทั้งนี้ธนาคารจะทำตลาดเชิงรุกยกระดับธุรกิจโชห่วยต่อเนื่องโดยผู้บริหารระดับสูง และพนักงาน จะแบ่งทีม เดินสายกระจายลงพื้นที่ต่างๆเยี่ยมผู้ประกอบการร้านโชห่วยทั่วประเทศทุกสัปดาห์ รวมถึงจับมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น กระทรวงพาณิชย์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัดและสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย เป็นต้น   แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านโชห่วยเข้าถึงบริการของธนาคาร โดยเฉพาะพาเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำ ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนซึ่งเตรียมวงเงินไว้บริการธุรกิจโชห่วย ค้าปลีกค้าส่งกว่า 10,000 ล้านบาท  คาดจะสนับสนุนธุรกิจโชห่วย ค้าส่งค้าปลีกได้กว่า 10,000 ราย ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นในระบบมูลค่ากว่า 45,800 ล้านบาท  
 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 พ.ค. 2562 เวลา : 16:30:14
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 8:29 am