เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เลือกช้อปปิ้งอย่างชาญฉลาด เงินในกระเป๋าเหลือเก็บ...พลิกเป็นเงินออมได้


เรียกได้ว่า มีอาชีพหนึ่ง ที่นอกจากจะไม่สร้างรายได้แล้ว มีแต่รายจ่าย จนบางทีชักหน้าไม่ถึงหลัง นั่นก็คือ "อาชีพนักชอปปิ้ง" (คำล้อเรียนคนชอบช้อปปิ้ง) ซึ่งชื่นชอบและอารมณ์ดีเสมอ เมื่อได้เดินช้อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า แล้วถ้ายิ่งเห็นป้ายลดราคา Sale 50% หรือ Sale 70% หรือ Sale 80% หรือ ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง Sale วันสุดท้าย

สัญชาตญาณนักช้อปปิ้งสูบฉีดอย่างรุนแรงทันที สั่งให้เท้าเดินเข้าไปลองเลือกซื้อสินค้านั้นทันที แม้ก่อนหน้านี้ ไม่เคยรู้จักแบรนด์นี้ หรือไม่เคยสนใจยี่ห้อนี้มาก่อนเลย หรือรู้อยู่แล้วว่าแม้ซื้อมาก็ไม่ได้ใช้ แต่อยากซื้อ และรู้ทั้งรู้ตัวอยู่แล้วว่า เงินในกระเป๋าไม่ค่อยจะมีมากนัก แต่ความเป็นนักช้อป ก็ยอมเผลอใจใช้บัตรเครดิตรูดซื้อแบบผ่อนชำระไปแน่ๆ ซึ่งก็ไม่รู้จะผ่อนไหวได้อย่างไร สุดท้ายกลายเป็นหนี้บัตรเครดิตท่วมหัวกันไป

แล้วยิ่งในยุคเทคโนโลยี่แบบนี้ กระแสการช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ กำลังมาแรง เพราะง่ายต่อการเลือกซื้อ แถมราคาถูกแสนถูกกว่าไปช้อปปิ้งตามห้างหรู เลือกซื้อได้ทุกวัน และส่งถึงบ้านไม่ต้องถือให้เมื่อยมือ ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้นักช้อปกดคลิก กดซื้อ โดยขาดการยั้งคิด พอหันกลับมาหนี้ที่ขาดสติในการช้อปก้อนโตกองอยู่ตรงหน้าแล้ว

 
 
 
 
ดังนั้น วันนี้ "มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ" มาแนะนำ การเป็นนักช้อปปิ้งที่ชาญฉลาดควรทำอย่างไรว่า เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นกับคุณแน่นอน หากคุณวาง แผนช้อปปิ้งด้วย “4 เคล็ดลับ ฉลาดช็อปให้เงินเหลือเก็บ”

เริ่มจาก คุณต้องตั้งงบประมาณช็อปปิ้งในแต่ละเดือน หากคุณต้องการจะซื้อของหรืออยากได้ของอะไร คุณต้องเก็บเงินก่อนซื้อ ไม่ใช่ซื้อก่อนผ่อนทีหลัง

“ต้องวางแผนดีๆ โดยกำหนดไว้เลยว่า ในแต่ละเดือน คุณมีรายรับรายจ่ายเท่าไหร่ ควรจะออมเงินในแต่ละเดือนมากแค่ไหน และสุดท้ายเงินที่เหลือใช้จริงๆ ค่อยแยกออกมาเป็นเงินลั่นล้าและเงินช้อปปิ้ง”

แต่เหนืออื่นใด คิดก่อนซื้ออยู่เสมอ เพราะในการซื้อของแต่ละครั้ง ควรถามตัวเองก่อนว่าสิ่งที่จะซื้อมีความจำเป็นมั้ย มีของเหล่านี้อยู่แล้วหรือไม่ กรณีที่เราตัดสินใจซื้อก็ควรเปรียบเทียบคุณภาพของสินค้า และราคาก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้เราสามารถใช้ของได้อย่างคุ้มค่า และยาวนาน

ส่วนการเลือกซื้อของนั้น คุณต้องเลือกซื้อของที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งการซื้อของทุกอย่างที่อยากได้ อาจทำให้เราเกิดปัญหาการเงินในอนาคตได้ ดังนั้นกรณีทีคุณมีของที่อยากได้หลายอย่าง ก็ควรคำนวณงบประมาณว่า เพียงพอกับการซื้อหรือไม่...ถ้าไม่ เพียงพอ ก็ควรเลือกสิ่งที่อยากได้มากที่สุดก่อน และเก็บเงินสะสมเอาไว้ ในเดือนต่อๆ ไปเพื่อซื้อสิ่งที่อยากได้เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม แต่ก่อนจะลงมือซื้อสินค้า คุณควรเช็คโปรโมชั่นก่อนซื้อ เพราะการซื้อของ โดยไม่ได้เช็คข้อมูลประชาสัมพันธ์ และสินค้าที่ร่วมรายการลดราคาเลย ก็อาจจะทำให้เราเสียโอกาสได้

“ลองเช็คโปรโมชั่นจาก บัตรเครดิตต่างๆ รวมถึงกิจกรรมของห้างสรรพสินค้า เผื่อคุณจะได้รับ ส่วนลดที่น่าสนใจ และทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าที่อยากได้มากขึ้น”

ดังนั้น หากคุณไม่ต้องการเป็นนักช้อปปิ้ง ที่ต้องเผชิญหน้ากับหนี้ก้อนโตกองตรงหน้า แต่ผันตัวเองมาเป็นนักช้อปปิ้งที่ชาญฉลาด คุณควรรู้จักการวางแผนการเงินที่ดี รู้จักแบ่งค่าใช้จ่ายกับเงินออม ให้แยกออกจากกัน และกำหนดเงินงบสำหรับช้อปปิ้งในแต่ละเดือน เพื่อนำไปเลือกซื้อของและใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผล และการหาข้อมูลโปรโมชั่นดีๆ ยิ่งช่วยให้คุณใช้จ่ายเงินได้อย่างคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

หากเราวางแผนทุกอย่างไว้อย่างดีแล้ว แน่นอนว่าคุณสามารถเป็นนักช้อปปิ้งที่ยังมีเงินออมได้อย่างสบายๆ เรียกว่า "ชัวร์ก่อนช้อป แถมมีเงินออมเหลือเก็บ"

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 พ.ค. 2562 เวลา : 15:41:02
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:17 pm