แบงก์-นอนแบงก์
ธ.ก.ส.เผยปี'61กำไร9.8 พันล้านบาท ชูนโยบายปี 62 มุ่งสู่ Go Green เน้นสร้างอาหารปลอดภัย


ธ.ก.ส.เผยผลงานปีบัญชี61 สนับสนุนสินเชื่อรวมแล้วกว่า 6.78 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปี 62 อำนวยสินเชื่อรวม 7.70 แสนล้านบาท สินเชื่อเติบโตเพิ่ม 95,000 ล้านบาท และเงินฝากเพิ่ม 60,000 ล้านบาท พร้อมชูนโยบายการปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อสร้างความยั่งยืน และ “ธ.ก.ส. Go Green” โดยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และการผลิตอาหารปลอดภัย ตั้งแต่ปลูก แปรรูป ช่องทางการตลาดและมีมาตรฐานรับรอง พร้อมหนุนการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว การต่อยอดธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า สร้างความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

          
 
 
 
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในบัญชี 2561 (1 เมษายน 2561 – 31 มีนาคม 2562) ว่า ธ.ก.ส. สนับสนุนสินเชื่อเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทแล้ว จำนวน 678,342 ล้านบาท สินเชื่อเติบโต 81,647 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อรวมเท่ากับ 1,449,504 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 5.86 มียอดเงินรับฝากรวม 1,617,760 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.75 มีสินทรัพย์รวม 1,873,822 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.47 หนี้สินรวม 1,738,281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80 และส่วนของเจ้าของรวม 135,541 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.41
 
โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 100,883 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 7.74 ค่าใช้จ่ายรวม 90,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.62 และมีกำไรสุทธิ 9,885 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.24 คิดเป็นอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (ROA) ร้อยละ 0.55 ขณะที่ NPLs อยู่ที่ร้อยละ 3.87 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 11.82 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50
                    
สำหรับปีบัญชี 2562(1 เมษายน 2562 -31 มีนาคม 2563) ธ.ก.ส.ตั้งเป้าอำนวยสินเชื่อจำนวน 770,000 ล้านบาท โดยขยายสินเชื่อเพิ่มจำนวน 95,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้ที่ตรงกับความต้องการของเกษตรกรลูกค้า 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่ม Small ซึ่งเป็นลูกค้าที่ยังคงมีปัญหาด้านเงินทุนและการประกอบอาชีพ เช่น ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วงเงิน 13,000 ล้านบาท กลุ่ม Smart หรือกลุ่มลูกค้าทั่วไป รวมถึงทายาทเกษตรกรวงเงิน 44,000 ล้านบาท และกลุ่ม SMAEs หรือผู้ประกอบการด้านการเกษตร กลุ่มสหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชนที่เป็นหัวขบวนในการเพิ่มมูลค่าผลผลิต วงเงิน 38,000 ล้านบาท ส่วนด้านเงินฝากมีเป้าหมายเพิ่มขึ้น 60,000 ล้านบาท จากการออกผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น สลากออมทรัพย์ เงินฝากแบบมีกรมธรรม์และสวัสดิการ กองทุนทวีสุข เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการออมเงินและการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกค้าในกลุ่มต่าง ๆ
          
นายอภิรมย์กล่าวต่อไปว่าการดำเนินงานในปีบัญชี 2562จะขับเคลื่อนภายใต้แผนการปฏิรูปภาคเกษตร ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งเน้นการปรับการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร การปลูกพืชโดยระบบน้ำหยด การผสมปุ๋ยใช้เอง เป็นต้น การเปลี่ยนการผลิตให้สอดคล้องกับพื้นที่และความต้องการของตลาด เช่น เกษตรแปลงใหญ่ Thai Rice Nama เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น การพัฒนาสหกรณ์การเกษตรและผู้ประกอบการ SMAEs และการเชื่อมโยงด้านการตลาด เป็นต้น นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนภายใต้หลัก “ธ.ก.ส. Go Green” 

โดยมีเป้าหมายสนับสนุนชุมชน 400 ชุมชน พื้นที่กว่า 40,000 ไร่ เพื่อร่วมกันผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมบูรณาการกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนและผลักดันให้ชุมชนมีการตรวจสอบคุณภาพการผลิตและมีการรับรองมาตรฐาน เช่น GAP Organic Thailand PGA เป็นต้น และต่อยอดโดยการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนช่องทางการตลาด เช่น ตลาดชุมชน ตลาด อตก. Modern Trade ร้านอาหาร A-Farm Mart E-commerce และตลาดประชารัฐ เป็นต้น การยกระดับโครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส.สู่ชุมชนไม้มีค่า จำนวน 1,000 ชุมชน
 
โดยสมาชิกชุมชนปลูกต้นไม้มีค่าเพิ่มขึ้นอย่างน้อยชุมชนละ 20,000 ต้น การพัฒนาผู้ตรวจประเมินมูลค่าต้นไม้ เพื่อเป็นหลักประกันทางสินเชื่อและธุรกิจ และผู้ประเมินการกักเก็บคาร์บอนตามแนวทางโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าชเรือนกระจก (LESS) ให้กับชุมชน จำนวน 4,000 คน รวมถึงการสร้างวิสาหกิจชุมชนจำนวน 400 แห่ง เพื่อพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ไม้ของชุมชน โดยนำวัตถุดิบที่ได้จากต้นไม้ เช่น กิ่งใบ ลำต้น เป็นต้น มาแปรรูปสร้างรายได้แก่ชุมชน ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธ.ก.ส.มีสมาชิกธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,827 ชุมชน จำนวนสมาชิก 117,461 ราย มีต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มขึ้นในประเทศแล้วกว่า 11.8 ล้านต้น
          
การสนับสนุนการพัฒนาชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการพัฒนาอาชีพ การลดต้นทุนการผลิต การผลิตอาหารปลอดภัย เป็นต้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางสิ่งแวดล้อม และมิติทางวัฒนธรรมประเพณี จำนวน 3,000 ชุมชน โดยยกระดับชุมชนที่มีศักยภาพพัฒนาไปสู่ชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ จำนวน 35 ชุมชน
          
ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์บริการและเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ธ.ก.ส. ได้พัฒนาการบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ธ.ก.ส. A-Mobile ให้สามารถทำธุรกรรมทางการเงิน การถอนเงินโดยไม่ใช้บัตร ATM และชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ การซื้อสลากออมทรัพย์และบริการความรู้ด้านการเกษตรต่าง ๆ บริการบัตรเดบิต ธ.ก.ส. ที่สามารถชำระค่าสินค้าและบริการโดยไม่ต้องใช้เงินสด ซึ่งเหมาะกับ Lifestyle ของลูกค้ากลุ่มคน รุ่นใหม่ ทั้งสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย การจัดทำบริการบัตรเงินสด การจัดหาเครื่องมือทางเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนสถาบันการเงินชุมชน รวมถึงบริการเปิดบัญชีด้วยตนเอง ผ่าน ธ.ก.ส. A-Mobile

สำหรับมาตรการในการดูแลเกษตรลูกค้าที่ประสบภัยต่าง ๆ เช่น ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จนส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพทางการเกษตร ธ.ก.ส.ดำเนินการผ่านการให้สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าให้มีเงินทุนสำหรับสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย/โรงเรือนหรือเครื่องมือจักรกลทางการเกษตร หรือฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และยังเป็นการลด/ป้องกันการก่อหนี้นอกระบบของเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย MRR-2 วงเงินกู้ ไม่เกินรายละ 500,000 บาท
          

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ค. 2562 เวลา : 14:40:06
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:47 pm