เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไร้กังวล"รักษายาว-นอนเอกชน"วางแผนออมเงินเผื่อฉุกเฉินถูกวิธี


หากคุณต้องเผชิญภาวะฉุกเฉินเจ็บป่วยกะทันหันและต้องเข้าโรงพยาบาลอย่างปัจจุบันทันด่วนหรือแอดมิท(admit) หน้างานเลย คุณต้องเผชิญกับภาวะหลอนในเรื่องค่ารักษาพยาบาลอย่างแน่นอน


โดยเฉพาะถ้าคุณพาร่างของคุณหรือญาติ พี่น้องคุณไปรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน สิ่งแรกที่คุณกระวนกระวายใจมาก หากคุณไม่ได้เตรียมความพร้อมกับเหตุการณ์นี้คือต้องแพงแน่เลยและถ้ายิ่งเป็นโรคร้ายแรงและต้องมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง

โอ้พระเจ้าช่วยลูกด้วยเพราะคุณอาจจะต้องพบกับค่าใช้จ่ายที่แพงมากกว่าที่คุณคิดและไม่คาดฝัน แม้คุณจะมีเงินเก็บออมตุนเอาไว้มากแค่ไหนก็อาจจะไม่พอ

แต่เรื่องเจ็บป่วยใครจะห้ามได้ แต่สิ่งที่คุณทำได้คือคุณต้องจำกัดความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ด้วยการสำรองเงินฉุกเฉินของเราเองส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งให้ซื้อประกันเพื่อให้ช่วยจ่ายค่ารักษาแทนที่คุณจะแบกภาระเองทั้งหมดดีกว่า

ดังนั้นมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯจึงมีเคล็ดไม่ลับแต่เป็น“4 วิธีง่ายๆสร้างเงินออมเผื่อฉุกเฉิน”ที่ใครๆก็สามารถทำได้ดังนี้

เพียงแค่คุณเริ่มต้นเก็บออมเงินเผื่อฉุกเฉินแยกบัญชีจากค่าใช้จ่ายอื่นๆเพราะการเก็บเงินออมเอาไว้นั้นก็เผื่อเอาไว้ใช้ในยามเจ็บป่วย ถือเป็นก้าวแรกที่เราควรทำเพราะไม่มีใครรู้ล่วงหน้าได้หรอกว่าวันไหนคุณจะต้องใช้เงินก้อนนี้

หากคุณไม่ได้วางแผนและออมเงินเอาไว้เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องหยิบยืมเงินคนอื่น ทำให้เกิดหนี้สินและดอกเบี้ยจากการกู้ยืมตามมา

แล้วถ้าคุณเจ็บป่วยทำงานไม่ได้ ไม่รู้จะมีโอกาสกลับมาทำงานใช้หนี้ได้เมื่อไหร่ หนี้สินก็ยิ่งพอกพูนเข้าไปอีก

เมื่อคุณออมเงินเพื่อใช้ยามฉุกเฉินแล้ว คุณก็ต้องศึกษาประกันสุขภาพและตรวจสอบประวัติสุขภาพของครอบครัว เริ่มต้นด้วยการสำรวจข้อเสนอและเงื่อนไขความคุ้มครองสุขภาพของบริษัทประกันต่างๆ

ขณะเดียวกันก็ตรวจประวัติการเจ็บป่วยของตัวเองและญาติพี่น้องเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากพันธุกรรมจากนั้นมองหาประกันสุขภาพที่ครอบคลุมโรคภัยไข้เจ็บที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้

จากนั้นคุณก็ต้องมาคำนวณทุนประกันสุขภาพโดยคุณต้องตรวจสอบและประเมินจากค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่เราใช้เป็นหลักและพิจารณาทุนประกันให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่างๆ เช่น วงเงินคุ้มครองสูงสุดต่อปีและวงเงินค่าใช้จ่ายต่อโรคต่อ 1 ครั้ง ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาลสูงสุดต่อวัน ค่ารักษาพยาบาลทั่วไปค่าห้อง ICU กรณีฉุกเฉิน

ค่าธรรมเนียมต่างๆเช่น การผ่าตัด วิสัญญีแพทย์ ค่าธรรมเนียมแพทย์เฉพาะทางและค่าใช้จ่ายของแพทย์ในการเยี่ยมไข้ ค่ารักษาพยาบาลกรณีอุบัติเหตุ ค่าชดเชยรายได้ในขณะที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ค่าชดเชยกรณีเสียชีวิตจากโรคร้ายแรงต่างๆ

และที่สำคัญ การทำประกันนั้นต้องให้เหมาะสมกับตัวคุณเองด้วย เพราะคุณไม่จำเป็นจะต้องเลือกบริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด เพราะหากเราเลือกให้ประกันคุ้มครองคุณในวงเงินค่าใช้จ่ายที่สูง ทุนประกันก็จะสูงตาม และค่าเบี้ยประกันนี้ ก็อาจจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป เมื่อเทียบกับรายรับรายจ่ายทั้งหมดของคุณ

ดังนั้นคุณจึงควรวางแผนทางการเงินให้ดี เพื่อให้สามารถส่งเงินค่าเบี้ยประกันให้ช่วยคุ้มครองเราได้อย่างต่อเนื่องตามที่ตั้งใจไว้

ไม่มีใครต้องการให้ชีวิตเกิดปัญหาสุขภาพ จนต้องล้มหมอนนอนเสื่อและเข้าโรงพยาบาล เพราะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

ดังนั้นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งคุณควรสำรองเงินฉุกเฉินไว้เผื่อมีความจำเป็นต้องใช้ รวมทั้งคุณควรทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ ด้วยทุนประกันที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายภายใต้วงเงินที่คุณสามารถรับผิดชอบได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อคุณวางแผนได้อย่างลงตัวแล้ว คุณก็จะไร้ความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพอีกต่อไป วางแผนไว้ก่อนลดเครียดค่ารักษาทุกโรค

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 พ.ค. 2562 เวลา : 16:29:27
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:58 pm