เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
แค่ออมเงินตามสูตร...ส่งลูกเรียนนอกกี่คนก็ได้


คู่สามีภรรยารุ่นใหม่ในปัจจุบันหลายต่อหลายคู่ตัดสินใจว่าไม่มีลูก โดยหลายคู่ให้เหตุผลว่าเพราะหลังจากคำนวณค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันแรกเกิดเมื่อลูกน้อยลืมตามาดูโลกจนถึงวันที่ลูก 1 คนเรียนจบปริญญาตรี เมื่อกดเครื่องคิดเลขแล้ว เป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว พบว่ามีตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงมากและตัวเลขค่าใช้จ่ายนี้ก็ยังมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามอัตราเงินเฟ้อ


แต่หัวอกของคนเป็นพ่อแม่หากมัวแต่รีรอให้มีความพร้อมอาจจะทำให้ลูกเสียโอกาส ดังนั้นมิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงหาแนวทางดีๆ“4 ขั้นตอนวางแผน ออมเงินเพื่อลูก”มาฝาก

ถ้าคุณเริ่มตั้งเป้าหมายการมีลูกคุณควรกำหนดว่าคุณต้องการมีลูกจำนวนกี่คนและเมื่อไหร่ โดยพิจารณาความสามารถในการหารายได้และความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพื่อประเมินว่าคุณสามารถจะรับภาระการเลี้ยงดูลูกทุกคน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หรือไม่

จากนั้นคุณก็ต้องทำการสำรวจค่าใช้จ่าย โดยการศึกษาค่าใช้จ่ายตลอดช่วงชีวิตที่ลูกคุณยังอยู่ภายใต้การดูแลของคุณ จนกว่าจะเติบใหญ่พอที่จะดูแลตัวเองได้ เช่น

ช่วงก่อนวัยเรียนคือช่วงตั้งแต่คุณตั้งครรภ์จนเป็นทารกแบเบาะ เช่น ค่าฝากครรภ์ คลอดลูก วัคซีน เสื้อผ้า ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ของเล่น นมผง เงินเดือนพี่เลี้ยง ฯลฯ

ข้อควรระวังคือคุณและคู่ครองควรวางแผน รับมือกับค่ารักษาพยาบาลสำหรับลูกอ่อนที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงแต่คุณสามารถแบ่งเบาได้ โดยซื้อประกันสุขภาพสำหรับลูกเตรียมไว้ตั้งแต่แรกเกิดได้เลย

ช่วงวัยเรียนช่วงนี้จะมีภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาก้อนใหญ่ที่คุณต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า เช่น ค่าเล่าเรียน หนังสือ อุปกรณ์การเรียน คอมพิวเตอร์ ค่าขนม รถรับส่ง เรียนพิเศษ เป็นต้น

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรวางแผนเส้นทางการเรียนของลูกให้เหมาะสมกับความสนใจ ความถนัดและความสามารถของลูก ตั้งแต่ระดับประถม มัธยมและมหาวิทยาลัย โดยคุณควรวางแผนด้วยว่าต้องการส่งลูกเรียนในประเทศหรือต่างประเทศ เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายในแต่ละระดับชั้นให้เหมาะสมต่อไป

เมื่อคุณวางแผนค่าใช้จ่ายแล้วคุณควรจัดสรรเงินออมและเงินลงทุน โดยคุณต้องเริ่มหักเงินออมและเงินลงทุนออกจากรายได้ของคุณและคู่ครองก่อน แล้วค่อยลงมือวางแผนการเงินทั้งในระยะสั้นและระยะยาวให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่ต้องการใช้เงินในแต่ละเป้าหมาย เช่น

ช่วงก่อนวัยเรียนซึ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น 1-3 ปี และมีความสำคัญสูงพลาดไม่ได้ ดังนั้นควรคำนวณจำนวนเงินออม เพื่อเป้าหมายนี้ในแต่ละเดือนและเลือกออมเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น เงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนตราสารหนี้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการขาดทุนเป็นจำนวนมาก เพราะอาจจะกระทบกับเงินก้อนที่ตั้งใจออมไว้เลี้ยงดูในช่วงต้นนี้

ช่วงวัยเรียนโดยเป็นเป้าหมายระยะยาวตั้งแต่ 3-5 ปีขึ้นไป สามารถจัดสรรเงินลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เพราะการลงทุนระยะยาว ช่วยถัวเฉลี่ยความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนได้ดีกว่า เช่น การลงทุนในกองทุนรวม แบบผสมหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว โดยสามารถวางแผนทยอยลงทุนในแต่ละเดือนและคาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนตามข้อมูลในอดีต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นค่าเล่าเรียนในแต่ละระดับชั้นตามที่ตั้งใจไว้

ตัวอย่างเช่น หากคุณมีเป้าหมายคือออมเงินเป็นทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีของลูกเป็นเงิน1,000,000 บาทในอีก 18 ปีข้างหน้า

ส่วนแผนออมเงินวิธีที่1 ออมเงินในกองทุนรวมหุ้น ซึ่งเหมาะสำหรับพ่อแม่ที่รับความเสี่ยงได้สูง เพียงแค่แบ่งเงินเดือนละ 1,700 บาท ไปลงทุนในกองทุนรวมหุ้น ที่ลงทุนโดยอ้างอิง Index Fund หรือกองทุนรวมหุ้นประเภทต่างๆที่มีผลตอบแทนย้อนหลังเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี เมื่อครบ18 ปีก็จะมีเงินทุนการศึกษาก้อนใหญ่นี้ให้ลูกได้สบายๆ

(หมายเหตุ:คำนวณแบบทบต้นทุกเดือน อ้างอิงผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นแบบอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ตั้งแต่ปี 2548-2558 อยู่ที่ 10.46% ต่อปี โดยคุณสามารถปรับผลตอบแทนให้ทันสมัยแล้วมาใส่กับสูตรนี้ได้)

วิธีที่ 2 ออมเงินในประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ซึ่งจะเหมาะสำหรับพ่อแม่ที่ไม่อยากลงทุนแบบเสี่ยงเกินไปและต้องการวางแผนรับมือกับความไม่แน่นอนของชีวิต ควรศึกษาเงื่อนไขประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ของแต่ละบริษัท

โดยเลือกให้ตรงกับระยะเวลาที่ต้องการใช้เงินและความสามารถการออมให้มากที่สุด เพราะหากคุณเป็นอะไรไปหรือทุพพลภาพถาวรจนขาดรายได้ก็ยังสบายใจว่าจะได้รับเงินก้อนจากทุนประกันที่มีมาส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสือจนจบได้ ที่สำคัญคือ วิธีนี้จะได้ประโยชน์ถึง 3 ต่อ ได้แก่ ต่อที่ 1 คุ้มครองชีวิตพ่อแม่ด้วยทุนประกัน ต่อที่ 2 ได้รับเงินออมคืนเมื่อครบกำหนดสัญญา และต่อที่ 3 ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีค่าเบี้ยประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปีอีกด้วย

โดยคุณควรอัพเดทสถานการณ์และปรับแผนการเงิน เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสถานะการเงินของเรา ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาศักยภาพของลูกเราในอนาคต เช่น ลูกมีพรสวรรค์ด้านดนตรีก็ส่งเสริมให้เรียนพิเศษเพิ่มเติม โดยตั้งเป้าและวางแผนการออมเงินเพื่ออนาคตของลูกเพิ่มเติมอีกด้านหนึ่ง

ดังนั้น“มีลูกเมื่อพร้อม”คุณก็จะสามารถทำได้ง่ายๆแค่เริ่มวางแผนบุตรตั้งแต่แต่งงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น ย่อมสร้างอนาคตที่ดีให้กับลูกคุณและสร้างความสุขในครอบครัวคุณได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 มิ.ย. 2562 เวลา : 07:47:25
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 7:16 am