แบงก์-นอนแบงก์
คลังเผยสิ้นมิ.ย.62 นิติบุคคลยื่นขอตั้งพิโกไฟแนนซ์ 1,100 ราย


คลังเผยสิ้นมิ.ย.62 นิติบุคคลยื่นขอตั้งพิโกไฟแนนซ์ 1,100 ราย อนุญาตแล้ว 634 ราย ใน 71 จังหวัด


นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2562 จำนวนผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมิถุนายน 2562 เป็นเดือนแรกที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัส ซึ่งมีจำนวนรวม 53 ราย โดยผู้ขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างใดอย่างหนึ่งใน 2 ประเภท ซึ่งสรุปได้ ดังนี้
         
(1) สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) (2) สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ประเภทพิโกพลัส มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้สินเชื่อแก่ประชาชนได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย และเรียกเก็บดอกเบี้ย กำไรจากการให้สินเชื่อ ค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมอื่นใด รวมกันได้ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) สำหรับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50,000 บาทแรก และสำหรับวงเงินสินเชื่อที่เกินกว่า 50,000 บาท ให้เรียกเก็บได้ไม่เกิน 28% ต่อปี (Effective Rate)
         
นอกจากนี้ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ทั้ง 2 ประเภทข้างต้น ยังสามารถให้บริการสินเชื่อโดยรับสมุดคู่มือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือรถเพื่อการเกษตรเป็นประกัน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน" หรือ "สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ" ได้ด้วย
         
นายพรชัย กล่าวว่าสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 ที่กระทรวงการคลังเปิดให้ผู้สนใจยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ จนถึง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 มีจำนวนนิติบุคคลได้ยื่นคำขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 1,100 ราย ใน 76 จังหวัด ซึ่งในจำนวนนี้เป็นคำขออนุญาตประเภทพิโกพลัสจำนวน 53 ราย ใน 23 จังหวัด สำหรับจังหวัดที่มีผู้ยื่นคำขออนุญาตสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์และสินเชื่อประเภทพิโกพลัสมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ นครราชสีมา 98 ราย กรุงเทพมหานคร 82 ราย ขอนแก่น 57 ราย
         
ทั้งนี้มีจำนวนนิติบุคคลที่คืนคำขออนุญาตทั้งสิ้น 125 ราย ใน 51 จังหวัด จึงคงเหลือนิติบุคคลที่ยื่นคำขออนุญาตสุทธิเป็นจำนวน 975 ราย ใน 75 จังหวัด และมีจำนวนผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจแล้ว 634 ราย ใน 71 จังหวัด โดยเป็นใบอนุญาตประเภทพิโกพลัส 6 ราย ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร และสงขลา และประเภทพิโกไฟแนนซ์ 628 ราย ใน 71 จังหวัด มีผู้เปิดดำเนินการแล้วเป็นจำนวน 522 ราย ใน 66 จังหวัด (ประเภทพิโกพลัสจำนวน 3 ราย ประเภทพิโกไฟแนนซ์ จำนวน 519 ราย) และมีจำนวนผู้ประกอบธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่อแล้ว 494 ราย ใน 65 จังหวัด
         
สถิติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 91,166 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 2,361.10 ล้านบาท หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่ออนุมัติเฉลี่ยจำนวน 25,898.87 บาท ต่อบัญชี ประกอบด้วย สินเชื่อแบบมีหลักประกันจำนวน 44,194 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,351.16 ล้านบาท หรือคิดเป็น 57.23% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม และสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกันจำนวน 46,972 บัญชี เป็นจำนวนเงิน 1,009.94 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.77% ของจำนวนยอดสินเชื่ออนุมัติสะสม
         
ในขณะที่มียอดสินเชื่อคงค้างรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 15,850 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 424.28 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อคงค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 1,511 บัญชี หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 39.69 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.35% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม และมีสินเชื่อคงค้างชำระที่เกินกว่า 3 เดือน (NPL) จำนวน 859 บัญชี คิดเป็นจำนวนเงิน 19.71 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.65% ของยอดสินเชื่อคงค้างรวม
         
สินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉิน ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินสำหรับเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบทดแทนหนี้นอกระบบรายละไม่เกิน 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 0.85% ต่อเดือน โดยได้เร่งกระจายความช่วยเหลือด้านสินเชื่อดังกล่าวแก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
         
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2562 มีการอนุมัติสินเชื่อรวม 612,154 ราย เป็นจำนวนเงิน 27,206.41 ล้านบาท จำแนกเป็นสินเชื่อที่อนุมัติแก่ประชาชนทั่วไปจำนวน 567,448 ราย เป็นจำนวนเงิน 25,279.57 ล้านบาท และสินเชื่อที่อนุมัติให้กับผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ที่มีหนี้นอกระบบ จำนวน 44,706 ราย เป็นจำนวนเงิน 1,926.84 ล้านบาท

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ส.ค. 2562 เวลา : 16:09:19
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 11:05 am