เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
EIC ไทยพาณิชย์ ออกบทวิเคราะห์ "ผลกระทบสงครามการค้ายังไม่จบ แม้สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนบางส่วน"








สินค้าจีนที่ถูกชะลอการเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมวันที่ 1 กันยายน ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทั้งหมด 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาจีนสูงและสามารถหาแหล่งนำเข้าทดแทนได้ยาก


ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มบรรลุได้ยากในปี 2019 แม้จะมีการชะลอการขึ้นภาษี แต่ข้อพิทาททางการค้า เทคโนโลยี และล่าสุดคือสงครามค่าเงินยังเป็นประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายน่าจะต้องใช้เวลาในการเจรจาอีกค่อนข้างมาก

 
อีไอซีประเมินความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2019 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยนอกจากภาคการส่งออกที่มีโอกาสจะหดตัวมากกว่าคาดแล้ว สงครามการค้ายังเริ่มส่งผลกระทบกับภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย


 

 

 

*   Key points

สินค้าจีนที่ถูกชะลอการเก็บภาษีนำเข้า 10% จากเดิมวันที่ 1 กันยายน ไปเป็นวันที่ 15 ธันวาคม มูลค่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (จากทั้งหมด 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาจีนสูงและสามารถหาแหล่งนำเข้าทดแทนได้ยาก เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2019 สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้ประกาศรายการสินค้าจีนมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตรา 10% ซึ่งปรับปรุงจากรายการสินค้าที่ประกาศไปช่วงก่อนหน้าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 โดยรายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีที่เหลือได้แบ่งออกเป็น 2 รอบ ได้แก่

1)       รายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% ในวันที่ 1 กันยายน มีมูลค่าราว 1.04 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ น่าจะหาตลาดทดแทนการนำเข้าจากจีนได้ไม่ยากนัก  สินค้าในรายการนี้มีจำนวน 3,243 รายการ โดยสินค้าหมวดสำคัญในรอบนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องพิมพ์ รองเท้ากีฬา เครื่องแต่งกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีสัดส่วนการนำเข้าจากจีนค่อนข้างสูงแต่ไม่เกิน 70% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าประเภทนั้นทั้งหมดและส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่หาตลาดนำเข้าทดแทนได้ไม่ยาก

รายการสินค้าที่จะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% ในวันที่ 15 ธันวาคม มีมูลค่าราว 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่สหรัฐฯ พึ่งพาการนำเข้าจากจีนค่อนข้างมาก สินค้าในรายการนี้มีจำนวน 555 รายการโดยสินค้าหมวดสำคัญ ได้แก่ สมาร์ตโฟน คอมพิวเตอร์พกพา เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น เป็นต้น ส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคและเป็นสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนเป็นสัดส่วนราว 80-100% ของมูลค่าการนำเข้าทั่วโลก (รูปที่ 1) สะท้อนว่าสินค้าจีนในรายการนี้เป็นสินค้าที่สหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาจีนในระดับสูงและไม่สามารถหาตลาดอื่นทดแทนได้ในระยะเวลาอันใกล้ จึงขยายระยะเวลาเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อม นอกจากนั้นสินค้าเหล่านี้หากถูกเก็บภาษีจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในช่วงที่เหลือของปีค่อนข้างมากเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภคที่มักถูกใช้เป็นของขวัญในช่วงเทศกาลคริสต์มาสต์
 

นอกจากนั้นการประกาศของทางการสหรัฐฯ ในรอบนี้ได้มีการนำบางรายการสินค้าออกจากการเก็บภาษีนำเข้าด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ความมั่นคงของประเทศและปัจจัยอื่น ๆ มูลค่าราว 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น อุปกรณ์ทางการแพทย์ เบาะรถยนต์ คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้า คัมภีร์ไบเบิล เป็นต้น

รูปที่ 1 : สหรัฐฯ ชะลอการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนที่สหรัฐฯ พึ่งพาจีนสูง
สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ แบ่งตามรายการสินค้าที่ถูกเก็บภาษีนำเข้า
หน่วย : % ของมูลค่าการนำเข้าจากทั่วโลก, ( ) หมายถึง มูลค่าสินค้าโดยประมาณ



 
 
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ USITC (ข้อมูลปี 2018)

 

เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภค การเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในส่วนที่เหลือทั้งสองรอบนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อและการบริโภคของสหรัฐฯ มากกว่ารอบก่อนหน้า รายการสินค้าจีนรอบล่าสุดที่กำลังจะถูกเก็บภาษีนำเข้า 10% มูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐครอบคลุมสินค้าผู้บริโภคสูงถึง 62% ของสินค้าผู้บริโภคทั้งหมด (รูปที่ 2) และรายการสินค้าจีนที่จะขึ้นภาษีนำเข้าในเดือนธันวาคมยังเป็นสินค้าหาตลาดทดแทนได้ยากในระยะเวลาอันใกล้ ทำให้ภาษีนำเข้าย่อมส่งผลต่อราคาสินค้าของผู้บริโภคสหรัฐฯ โดยตรง และน่าจะส่งผลต่อแนวโน้มการบริโภคภาคครัวเรือนของสหรัฐฯ ในระยะต่อไปได้

 

อีไอซีคาดประธานาธิบดีทรัมป์จะยังใช้มาตรการทางภาษีกดดันจีนต่อ หากมองในแง่ฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์จะพบว่า ยิ่งสงครามการค้ามีความรุนแรงมากขึ้นซึ่งสะท้อนจากดัชนีความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับยิ่งทำให้ความนิยมของประธานาธิบดีทรัมป์โดยเฉลี่ยสูงขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน (รูปที่ 3) จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ยังเดินหน้าใช้มาตรการทางภาษีกดดันจีนให้ยอมรับข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ทั้งการนำเข้าสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปจนถึงข้อเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของจีนระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมในการเรียกคะแนนฐานเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2020

 

รูปที่ 2 : สินค้านำเข้าจีนในส่วนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นสินค้าผู้บริโภค
สัดส่วนสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษีมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แยกตามประเภทสินค้า

หน่วย : % ของมูลค่านำเข้าสินค้าจีน ในแต่ละประเภทสินค้า



 
 
 
 
ที่มา : Goldman Sachs

 



 

จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน ปฏิกิริยาของทางการจีนต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเมื่อสงครามการค้าตึงเครียดมากขึ้นจะยังคงเป็นประเด็นที่ตลาดการเงินโลกจับตาใกล้ชิด เห็นได้จากก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในส่วนที่เหลือในวันที่ 1 กันยายนหลังการเจรจาไม่คืบหน้า ต่อมาวันที่ 5 สิงหาคม ทางการจีนประกาศให้เงินหยวนอ่อนค่าลง 1.6% ไปอยู่ที่ 7.05 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้เงินหยวนอ่อนค่ามากที่สุดเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในรอบ 11 ปี  (รูปที่ 4) ซึ่งเงินหยวนที่อ่อนค่านี้มีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ได้บางส่วน

ภายหลังจาการอ่อนค่าของเงินหยวนที่หลุดระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศว่าจีนเป็นประเทศบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) แม้ว่าการประกาศค่ากลางเงินหยวนที่ต่ำกว่า 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐจะทำภายใต้กรอบการเคลื่อนไหว +/- 2% ของการซื้อขายรายวัน รวมทั้งจีนยังไม่ได้เข้าเกณฑ์ประเทศผู้บิดเบือนค่าเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อย่างครบถ้วน

 

อีไอซีมองว่า มีโอกาสที่เงินหยวนจะอ่อนค่าลงได้อีกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี โอกาสที่เงินหยวนจะอ่อนค่าอย่างฉับพลันดังเช่นปี 2015 จะมีไม่มาก เนื่องจากจีนมีบทเรียนจากเหตุการณ์ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมปี 2015 ที่ทางการจีนแทรกแซงค่าเงินหยวนส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลงราว 2-3% ภายในสัปดาห์เดียว จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์จีนปรับฐานรุนแรง ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงและเงินทุนไหลออกจำนวนมาก เป็นผลให้ธนาคารกลางจีนต้องใช้เงินทุนสำรองกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรักษาเสถียรภาพของเงินหยวน นอกจากนั้นถ้อยแถลงของนายอี้ กัง ผู้ว่าธนาคารกลางจีน (PBOC) คนปัจจุบันที่กล่าวว่า จีนจะไม่ใช้เงินหยวนเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการค้าในสงครามการค้าครั้งนี้และจะพยายามรักษาเสถียรภาพค่าเงินหยวนไม่ให้ผันผวนท่ามกลางความไม่แน่นอนจากภายนอก

 

รูปที่ 4 : เงินหยวนที่อ่อนค่าลงมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ได้บางส่วน เงินหยวน
หน่วย : CNY/USD                                                                                                                                     หน่วย : THB/CNY



 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

 

*   Implication

ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มบรรลุได้ยากในปี 2019 แม้จะมีการเลื่อนการขึ้นภาษี สงครามการค้า สงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงินยังเป็นประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อข้อสรุปการเจรจาทางการค้าในระยะต่อไป สืบเนื่องจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ปะทุและดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2018 และพัฒนามาสู่สงครามเทคโนโลยีที่ปะทุขึ้นจากกรณีการแบนบริษัท Huawei ช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2019 และทางการสหรัฐฯ เพิ่มบริษัท Huawei และอีกหลายบริษัทจีนเข้าในบัญชีรายชื่อบริษัทต้องห้าม (US entity list) ทำให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ ไม่สามารถทำธุรกรรมและการค้ากับ Huawei และบริษัทในบัญชีรายชื่อได้เว้นแต่ได้รับการอนุญาต (รูปที่ 5) รวมถึงล่าสุดที่ความขัดแย้งทางการค้าเริ่มบานปลายสู่การทำสงครามค่าเงินจากการที่ธนาคารกลางจีนประกาศค่ากลางอัตราแลกเปลี่ยน (CNY fixing) ให้อ่อนค่าทะลุแนวต้านสำคัญที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ


 
 
 
 
อีไอซีมองว่า โอกาสที่จะได้ข้อตกลงการเจรจาการค้าสหรัฐฯ-จีนที่เป็นรูปธรรมภายในปี 2019 มีค่อนข้างน้อย  เนื่องจากต่างฝ่ายต่างแสดงท่าทีที่ชัดเจนในการตอบโต้และมาตรการที่เข้มงวดในระยะข้างหน้า ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ 1) การประกาศการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนส่วนที่เหลืออย่างเป็นทางการว่าจะมีกำหนดการขึ้นในวันที่ 1 กันยายน และ15 ธันวาคมนี้ 2) การที่ทางการสหรัฐฯ ยังคงแบน Huawei รวมถึงอีกหลายบริษัทจีนในรายชื่อบริษัทต้องห้าม (US entity list) ซึ่งเป็นการสั่งห้ามไม่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนสหรัฐฯ ทำธุรกรรมและการค้ากับ Huawei เว้นแต่จะได้รับอนุญาตและแนวโน้มที่ทางการสหรัฐฯ จะไม่ขยายเวลาต่อหรือปลดคำสั่งห้ามนี้หลังช่วงเวลาผ่อนผันวันที่ 19 สิงหาคมนี้ และ 3) การที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศอย่างเป็นทางการว่าจีนเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator) เพื่อผลประโยชน์ในด้านการค้าตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม ซึ่งจะทำให้ทางการสหรัฐฯ สามารถตัดบริษัทจีนออกจากงานประมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของสหรัฐฯ รวมถึงการส่งเรื่องถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อแจ้งกรณีการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ซึ่งอาจเป็นการปูทางสู่การทำมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นที่ไม่ใช่ภาษี (non tariff measures) และการคว่ำบาตรจีนเพิ่มเติมในอนาคตได้

ฝั่งจีน 1) ทางการจีนประกาศระงับการซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เพื่อตอบโต้มาตรการภาษีสหรัฐฯ และมีโอกาสที่จะลดการส่งออกสินแร่หายาก (rare earth) ไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นสินแร่ที่มีความจำเป็นในการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์เทคโนโลยี เช่น โทรศัพท์มือถือ โดยจีนเป็นผู้ครองสัดส่วนในการผลิตสินแร่นี้ราว 70% ของการผลิตโลกและสหรัฐฯ ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากจีนสูง 2) ทางการจีนเตรียมประกาศรายชื่อบริษัทที่ไม่น่าไว้วางใจและเป็นภัยคุกคามต่อบริษัทจีน (unreliable entity list) ซึ่งคาดการณ์ว่าเป็นมาตรการเพื่อตอบโต้รายชื่อบัญชีต้องห้ามของสหรัฐฯ และ 3) ทางการจีนยังปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับประธานาธิบดีทรัมป์และทางการสหรัฐฯ อย่างมาก

 

อีไอซีประเมินความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกไทยในปี 2019 ยังคงสูง และมีโอกาสที่การส่งออกจะหดตัวมากกว่าคาดหากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในระยะข้างหน้ายังไม่มีความคืบหน้า อีไอซีคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 2019 ที่ 3.1% และอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกไทยปี 2019 ในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัว 1.6% สะท้อนว่าภาคการส่งออกไทยทั้งการส่งออกสินค้ารายประเทศและรายสินค้าสำคัญในภาพรวมยังคงเผชิญความเสี่ยงจากปริมาณการค้าโลกที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2019 (รูปที่ 6) ซึ่งภาคการส่งออกไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากการส่งออกไทยในช่วงครึ่งปีแรกยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากสงครามการค้าเนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าขั้นกลางและมีความเชื่อมโยงกับการค้าในภูมิภาคสูง จากความตึงเครียดทางการค้า, ความสัมพันธ์และการเจรจาทางการค้าของสหรัฐฯ-จีนที่แย่ลงในช่วงเดือนกรกฎาคมและต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในระยะต่อไป ภาคการส่งออกไทยยังคงต้องจับตาใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนตามมาตรา 232 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ที่มีเส้นตายวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ และ 2) มาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ สามารถเพ่งเล็งรายประเทศเป็นกรณีพิเศษ เช่น การตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP: Generalized System of Preferences) ดังเช่นกรณีที่อินเดียโดนถอด GSP ไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน และกรณีที่เวียดนามถูกสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกว่า 400% สำหรับเหล็กบางชนิดเกาหลีและไต้หวันและถูกที่นำมาแปรรูปในเวียดนามก่อนส่งไปยังสหรัฐฯ เป็นต้น ซึ่งทั้งภาษียานยนต์และการตัด GSP ของสหรัฐฯ นี้เป็นความเสี่ยงต่อแนวโน้มการส่งออกและสามารถส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทยได้ต่อเนื่องหากถูกนำมาใช้จริง ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งหลักเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออกไทยในระยะข้างหน้า

 


 

อีไอซีมองผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจะส่งผ่าน 6 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1) ด้านห่วงโซ่อุปทานกับจีน 2) ด้านเศรษฐกิจจีนชะลอตัว 3) ด้านประเทศคู่ค้าไทยที่พึ่งพาการส่งออกจีนสูง 4) ด้านการทุ่มตลาด 5) ด้านการท่องเที่ยวไทย และ 6) ด้านผลต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยเฉพาะภาษีรอบนี้อาจมีผลกระทบซ้ำเติมด้านการชะลอตัวของจีนและแนวโน้มการทุ่มตลาดในสินค้าผู้บริโภคที่จีนอาจส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้บางส่วน ผลกระทบของสงครามการค้าสามารถส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 6 ช่องทางทั้ง การค้า การทุ่มตลาด การท่องเที่ยว การลงทุนของนักลงทุนจีนในภาคอสังหาริมทรัพย์ (อ่านเพิ่มเติม 3Q19 In focus: Game of trade เตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทย ในศึกชิงมหาอำนาจทางการค้าสหรัฐฯ-จีน) อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่า ผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจไทยจะมีมากขึ้นโดยเฉพาะในช่องทางด้านห่วงโซ่อุปทานไทย-จีนในสินค้า 5 หมวดหลัก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน พลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ และช่องทางด้านเศรษฐกิจจีนชะลอซึ่งจะส่งผลต่อสินค้านำเข้าในหมวดอุปโภคบริโภคที่จีนนำเข้าจากไทยสูง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าบางส่วน รถยนต์และส่วนประกอบ ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น นอกจากนี้ ผลกระทบทางลบด้านการถูกสินค้าจีนทุ่มตลาดอาจเกิดขึ้นได้เพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าผู้บริโภค เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนบางส่วน (รูปที่ 7) ที่จีนไม่สามารถส่งไปยังสหรัฐฯ ได้และมีสินค้าคงเหลือ ซึ่งสังเกตได้จากผลของภาษีของสหรัฐฯ รอบก่อนหน้าที่ขึ้นกับสินค้าเหล็กจีนซึ่งส่งผลให้เหล็กจีน เช่น เหล็กท่อนและเส้น ท่อเหล็ก ผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดแบน สปริงเหล็กและลวดเหล็ก ที่ทะลักเข้ามาในปริมาณที่มากขึ้นสะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกปี 2019 โดยผลกระทบจะยิ่งชัดเจนหากทางการสหรัฐฯ ตัดสินใจขึ้นภาษีจีนในรอบนี้จากอัตรา 10% เป็น 25% ในระยะข้างหน้า

 

รูปที่ 7 : จับตาสินค้าจีนที่มีแนวโน้มจะถูกทุ่มตลาดในไทย หากจีนไม่สามารถส่งออกไปยังสหรัฐฯ ได้

มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทย
หน่วย : %YOY



 
 
 
หมายเหตุ :    หมายถึง มูลค่าการนำเข้า 6 เดือนแรกของปีเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ย

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ CEIC, MOC และ Trademap

 

ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์

ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการอาวุโส Economic and Financial Market Research, SCBEIC ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

ดร. ธนพล ศรีธัญพงศ์ ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส, Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

ชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ ตำแหน่ง นักวิเคราะห์, Economic Intelligence Center (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด มหาชน

EIC Online: www.scbeic.com

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ส.ค. 2562 เวลา : 15:19:30
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 10:14 pm