การตลาด
สกู๊ป"คนไทยเห่อลองสินค้าใหม่"ไต่อันดับนั่งแท่นภักดีแบรนด์ต่ำสุดในโลก


หลังจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภค ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกใช้แบรนด์สินค้าใหม่ๆ ปัจจุบันคนไทยเปิดใจทดลองสินค้าแบรนด์ใหม่กันมากขึ้น เห็นได้จากการเกิดขึ้นของสินค้าแบรนด์ใหม่ที่ทยอยเปิดตัวเข้ามาทำตลาด


การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าวสอดคล้องกับผลการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคกว่า 30,000 คนของนีลเส็น ที่ออกมาระบุว่า จากการขยายตัวของสังคมเมืองในประเทศไทยช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโครงการเมกะโปรเจ็คหลายโครงการของรัฐไม่ว่าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี โครงการมอเตอร์เวย์โคราช/มาบตาพุด โครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 หรือโครงการรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง ส่งผลให้ผู้บริโภคนิยมความสะดวกสบายและความยืดหยุ่นมากขึ้น

นอกจากนี้การเข้าถึงของอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นยังทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทำให้มีความต้องการความชัดเจนของข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน จากการที่ผู้บริโภคได้รับตัวเลือกที่มากขึ้นนั้น ทำให้ทั้งนักการตลาดและผู้ประกอบการค้าปลีกต้องปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวในการทำการตลาดให้เร็วและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อเป็นผู้นำเทรนด์ในการดำเนินธุรกิจ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคต เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

น.ส.สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการ บริษัทเดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจัยหลักที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของผู้บริโภคชาวไทยในปัจจุบัน คือ ความคุ้มค่าของเงิน ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญสูงสุด เนื่องจากผู้บริโภคชาวไทยกว่า 52% เห็นพ้องตรงกันว่า ความคุ้มค่าของเงินมีผลต่อการตัดสินใจลองแบรนด์ใหม่ นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสำคัญกับคุณภาพหรือฟังค์ชั่นการใช้งานที่เหนือกว่า 43% ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้ได้รับการจัดอันดับสูงสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วยกัน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้บริโภคในภูมิภาคที่มีอัตราอยู่ที่ 40% ในเรื่องความคุ้มค่าของเงิน และ 42% สำหรับคุณภาพที่เหนือกว่า

นอกเหนือจาก 2 ปัจจัยข้างต้นแล้วเรื่องของราคา ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นและความสะดวกสบายก็ยังเป็นปัจจัยโดดเด่นที่มีผลต่อการเลือกแบรนด์ของคนไทย โดยปัจจัยในเรื่องของราคามีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 43% ประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น 43% และความสะดวกสบาย 42% ตามลำดับ

เหตุผลดังกล่าวหากเจ้าของแบรนด์สินค้าไม่เริ่มคิดใหม่ ทำใหม่ ในการสร้างแคมเปญที่จะช่วยเพิ่มจำนวนหรือรักษาลูกค้าที่ภักดีเอาไว้ อาจทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบที่ลากยาวจากการที่ผู้บริโภคต้องการตัวเลือกมากขึ้น และมีสิทธิ์ในการเลือกมากขึ้น ซึ่งหากธุรกิจตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น อาจทำให้สินค้าแบรนด์นั้นเสียเปรียบบคู่แข่ง เนื่องจากไม่สามารถสร้างความภักดีในแบรนด์สินค้าได้

น.ส.สมวลี กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคมีความเต็มใจที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ๆเพิ่มขึ้น โดย 50% ของผู้บริโภคทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อนสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในภูมิภาคอเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิกและยุโรปตะวันตก เพียง 1 ใน3 ของผู้บริโภคชอบที่จะลองของใหม่ เนื่องจากสภาพตลาดที่สร้างโอกาสที่จะถูกดึงความสนใจจากสินค้าเดิมนั้นเกิดขึ้นมาซักพักหนึ่งแล้ว จากการที่แพลตฟอร์มการขายสินค้าทั้งออนไลน์และร้านค้าเกิดขึ้นและเติบโตด้วยกันมาเป็นระยะเวลานานแล้ว รวมถึงมีการนำเสนอชั้นวางสินค้าที่มีการสต็อคสินค้าอย่างดี และมีตัวเลือกสินค้าและราคาที่หลากหลาย

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้บริโภคจำนวนเกือบครึ่งในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็น 50% ละตินอเมริกา คิดเป็น 49% แอฟริกาและตะวันออกกลาง คิดเป็น 42% ให้ความสนใจในผลิตภัณฑ์ใหม่ และมีการตัดสินใจในการเปลี่ยนแบรนด์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากในอดีตการแบ่งประเภทสินค้าในตลาดของหลายประเทศยังไม่เป็นระบบและมีตัวเลือกเพียง 2 ใน 3 ตัวเลือกบนชั้นวางสินค้าต่อ 1 ประเภทสินค้า ผู้บริโภคจึงมองหาโอกาสในการลองสินค้าใหม่

สำหรับประเทศไทย 41% ของผู้บริโภคชาวไทยยอมรับว่า พวกเขามีแนวโน้มที่จะลองใช้แบรนด์ใหม่มากกว่าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว โดยผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า 1 ใน 4 หรือประมาณ 27% เห็นด้วยว่าพวกเขาทบทวนการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ในกลุ่มตัวเลือกที่กว้างขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา ซึ่งในทางธุรกิจเรียกผู้บริโภคกลุ่มนี้ว่า “ผู้ซื้อที่พิจารณา” ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีถือว่ามีความสำคัญ เพราะแม้ว่าพวกเขาจะเลือกใช้สินค้าที่หลากหลายกว่าที่เคย แต่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ก็บอกว่าพวกเขาชอบที่จะอยู่กับสิ่งที่เคยลองมาในอดีตมากกว่า ซึ่งเจ้าของแบรนด์ต้องใช้เวลามากขึ้นในการโน้มน้าวให้ผู้บริโภคเหล่านี้เปลี่ยนใจ แต่พวกเขายังคงส่งสัญญาณของความไม่ภักดีต่อแบรนด์สินค้าและพร้อมที่จะเปลี่ยนตลอดเวลา

 
 
 
 
น.ส.สมวลี กล่าวอีกว่าจากผลการสำรวจดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้บริโภคทั่วโลกมีความกระตืนรือร้นในการมองหาแบรนด์ใหม่ เนื่องจากการวางเดิมพันในการทดลองซื้อผลิตภัณฑ์ใหม่นั้นถูกมองว่าไม่ได้มีความเสี่ยงมากนัก จากระดับของรายได้ที่เพิ่มขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา โดย 42% ของผู้บริโภคทั่วโลกบอกว่า พวกเขาชอบลองของใหม่ และเกือบครึ่ง หรือประมาณ 49% ของผู้บริโภคกล่าวว่า ถึงแม้ปกติจะซื้อสินค้าที่ตัวเองรู้จักดีอยู่แล้ว แต่ก็มีโอกาสเปิดใจที่จะลองของใหม่ได้ เนื่องจากสินค้าใหม่มีราคาล่อใจ และมีคุณภาพดี

ทั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวคิดการเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุดในโลก คือ เอเชียแปซิฟิก คิดเป็นอัตราส่วน 47% คนกลุ่มนี้ยินดีที่จะเปลี่ยนแบรนด์หรือลองใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนผู้บริโภคกลุ่มต่อมาที่มีแนวคิดเปลี่ยนแบรนด์มากที่สุด คือ แอฟริกาและตะวันออกกลาง คิดเป็นอัตราส่วน 45% ตามด้วยละตินอเมริกา 42% ส่วนผู้บริโภคในอเมริกาเหนือและยุโรปนั้นมีโอกาสการเปลี่ยนแบรนด์ค่อนข้างน้อย เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความเชื่อใจในแบรนด์สินค้า โดยอเมริกาเหนือมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแบรนด์อยู่ที่ 36% และยุโรปมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแบรนด์อยู่ที่ 33%

อย่างไรก็ดีแม้ว่าเอเชียแปซิฟิก ผู้บริโภคจะมีแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดและไทยก็ถือเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคที่มีแนวคิดในการเปลี่ยนแบรนด์สูง แต่นักการตลาดก็ยังมีโอกาสในการเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มนี้ ด้วยการหันมาตอกย้ำแบรนด์สินค้า และพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพียงเท่านี้ก็น่าจะพิชิตใจผู้บริโภคที่ชอบลองของใหม่ได้แล้ว

บันทึกโดย : วันที่ : 17 ส.ค. 2562 เวลา : 16:22:48
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:34 pm