การตลาด
สกู๊ป เอเยนซี่ฟันธง"สื่อโฆษณาปี 62"ไม่ฟื้นหลังสื่อดั้งเดิมยังอยู่แดนลบ


ผ่านไปแล้ว 7 เดือนภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาของไทยยังคงอยู่ในแดนลบ เห็นได้จากตัวเลขการเก็บข้อมูลของบริษัท นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า การใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาในช่วงเดือนก.ค. 2562 ที่ผ่านมามีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 0.42% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 9,143 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 9,182 ล้านบาท โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุด คือ สื่อหนังสือพิมพ์ติดลบอยู่ที่ประมาณ 27.67%  หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 400 ล้านบาท ตามด้วยสื่อนิตยสารมีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 24.75% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 76 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวีขยายตัวติดลบอยู่ที่ 3.50% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 193 ล้านบาท สื่อทีวีขยายตัวติดลบอยู่ที่ 3.33% หรือมีมูลค่า 5,774 ล้านบาท สื่อวิทยุขยายตัวติดลบอยู่ที่ 1.44% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 412 ล้านบาท และสื่อนอกอาคารขยายตัวติดลบอยู่ที่ 0.34% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 588 ล้านบาท

 
ส่วนสื่อที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาคือ สื่อโรงหนังเติบโตที่ 55.89% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 979 ล้านบาท ตามด้วยสื่อในอาคารเติบโตที่ 8.79% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 99 ล้านบาท สื่อเคลื่อนที่มีการเติบโตที่ 1.20% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 504 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมามีการขยายตัวติดลบอยู่ที่ 1.74% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 59,861 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 60,920 ล้านบาท โดยสื่อที่มีการขยายตัวติดลบมากที่สุดคือ สื่อนิตยสารขยายตัวติดลบที่ 21.22% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 594 ล้านบาท ตามด้วยสื่อหนังสือพิมพ์ขยายตัวติดลบอยู่ที่ 19.33% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 2,788 ล้านบาท สื่อเคเบิลทีวี/แซทเทลไลท์ทีวี ขยายตัวติดลบที่ 11.88% หรือมีมูลค่า 1,269 ล้านบาท สื่อวิทยุขยายตัวติดลบที่ 3.36% หรือมีมูลค่า 2,587 ล้านบาท และสื่อทีวีขยายตัวติดลบที่ 0.97% หรือมีมูลค่า 38,864 ล้านบาท

ในส่วนของสื่อที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา คือ สื่อเคลื่อนที่เติบโต 5.37% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 3,651 ล้านบาท ตามด้วยสื่อโรงหนังเติบโตที่ 4.39% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 4,660 ล้านบาท สื่อในอาคารเติบโตที่ 1.16% หรือมีมูลค่า 612 ล้านบาท และสื่อนอกอาคารเติบโตที่ 0.99% หรือมีมูลค่าอยู่ที่ 3,961 ล้านบาท

ข้อมูลดังกล่าวถือได้ว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ของ บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI ที่ออกมาระบุว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมของไทยในปี 2562 นี้ไม่น่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ในแดนบวกอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงต้นปี เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีปัจจัยบวกมาหนุนให้อุตสาหกรรมโฆษณาฟื้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้วก็ตาม

 
 
 
 
นายภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผนและกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อิเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มีเดีย อินไซต์ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาบริษัทเคยคาดการณ์ไว้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2562 นี้น่าจะกลับมาเติบโตได้อีกครั้งในระดับ5% แต่หลังจากจบไตรมาสแรกจบไปภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณายังคงมีการขยายตัวติดลบ ทำให้ในช่วงเดือนเม.ย.ที่ผ่านมาบริษัทต้องออกมาประมาณการณ์อัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมโฆษณาใหม่ว่าภาพรวมทั้งปีน่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 1.49%

ปัจจัยที่ทำให้ MI ออกมาคาดการณ์ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2562 นี้น่าจะเติบโตอยู่ในระดับดังกล่าว เหตุผลหลักมาจาก การได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งการจัดตั้ง“รัฐบาลลุงตู่2”น่าจะมีนโยบายเศรษฐกิจออกมากระตุ้นกำลังซื้อและเศรษฐกิจขยายตัวได้อีกครั้ง

แต่หลังจากเวลาผ่านไปกลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีนโยบายอะไรแรงๆที่จะผลักดันการเติบโตโดยรวมได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยลบนอกประเทศ เศรษฐกิจยุโรปตกต่ำ สงครามการค้าจีน-อเมริกา ส่งผลต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว ถึงขณะนี้รัฐบาลใหม่ยังไม่สามารถเรียกความมั่นใจจากตลาดได้ในระยะสั้น จึงยังไม่เห็นปัจจัยบวกที่จะช่วยกระตุ้น

จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวทำให้นายภวัต ออกมาคาดการณ์สถานการณ์ของอุตสาหกรรมโฆษณาใหม่ว่า ปี 2562 นี้ ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาไม่น่าจะมีอัตราการเติบโต เนื่องจากช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ยังไม่มีอะไรหวือหวา แม้ไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซัน หลายผู้ประกอบการจะออกมาทำกิจกรรมส่งเสริมการขายกันอย่างคึกคัก แต่เม็ดเงินที่ใช้ก็ยังคงระมัดระวังไม่กล้าทุ่มงบเหมือนที่ผ่านมา

นายภวัต กล่าวต่อว่าแม้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้อยู่ในภาวะทรงตัว สื่อดั้งเดิมส่วนใหญ่จะขยายตัวติดลบ แต่ในส่วนของสื่อออนไลน์ยังคงขยายตัวได้ในทิศทางที่ดี เนื่องจากสัดส่วนประชากรไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตกว่า 80% มีพฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เห็นได้ชัดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าจากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ ทำให้การขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ และมาร์เก็ตเพลสต่างๆมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ส่งผลให้นักการตลาดและนักสื่อสารการตลาดให้ความสำคัญกับการทำตลาดในแพลตฟอร์มดิจิทัลกันมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)หรือ Digital Advertising Association (Thailand) (DAAT) ออกมาคาดการณ์ว่าภาพรวมโฆษณาดิจิทัลในปี 2562 นี้น่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ซึ่งในส่วนของ MI ก็มีการคาดการณ์ว่าภายใน 2 ปีนับจากนี้สัดส่วนเม็ดเงินโฆษณาผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล น่าจะขยับสัดส่วนจาก 21.9% ของภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาในปี 2562 มาอยู่ที่ 28.2%ในปี 2563หรือมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 25,000 ล้านบาท

อีกสื่อที่น่าจับตามอง รองจากสื่อโฆษณาดิจิทัล คือสื่อนอกบ้าน (OOH) เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคจะอยู่นอกบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในชุมชนเมือง เพราะปัจจุบันการเดินทางจากนอกเมืองเข้าสู่ในเมืองมีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น เนื่องจากมีการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายหลายเส้นทางและขณะนี้ได้เริ่มมีการเปิดทดลองให้ใช้บริการบ้างแล้ว ส่งผลให้มีสินค้าแบรนด์ต่างๆให้ความสนใจเข้าไปซื้อพื้นที่โฆษณาในเส้นทางการเดินทางดังกล่าว  

อย่างไรก็ดีแม้ว่าสื่อดิจิทัลจะมีการขยายตัวแซงหน้าสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี วิทยุ และสิ่งพิมพ์ แต่สำหรับตลาดต่างจังหวัดสื่อดังกล่าวยังถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากสำหรับการทำตลาด เพียงแต่ตอนนี้พื้นที่ดังกล่าวกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวก็เท่านั้น

บันทึกโดย : วันที่ : 17 ส.ค. 2562 เวลา : 21:09:06
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 3:22 am