แบงก์-นอนแบงก์
"ธ.ออมสิน"เปิดศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน"สร้างสรรรค์งานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจไทยยั่งยืน"


เปิดตัวศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน : GSB Research คลังข้อมูลใหม่ด้านเศรษฐกิจของประเทศ“สร้างสรรรค์งานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ด้านธุรกิจมั่นใจปีนี้ปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้า 6% หลัง7 เดือนยอดปล่อยสินเชื่อโต 4%


 
 
 
 
 
วันนี้ (23 สิงหาคม 2562) ณ ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ บริเวณชั้น 1 อาคาร 72 ปี (อาคาร 4) ได้มีพิธีเปิดศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน หรือ GSB Research เพื่อผลิตงานวิจัย รายงาน บทวิเคราะห์ ทั้งเศรษฐกิจมหภาค จุลภาค เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นศูนย์ข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ที่พร้อมให้บริการแก่ผู้สนใจ โดยมี ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสินเป็นประธานในพิธี พร้อมกับจัดงานสัมมนาเชิงวิชาการ 3 หัวข้อ ได้แก่ “Mega Trends เทรนด์เปลี่ยน โลกปรับ” โดย ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน “Change อนาคตใหม่กับ Data Driven” โดย นายปณต กาญจนศูนย์ หัวหน้าแผนกการตลาดและดิจิทัลโซลูชัน บริษัท จีเอเบิล จำกัด และ “หนี้ครัวเรือนกับอนาคตแบงก์ไทย มุมมองใหม่ผ่าน Big Data” โดย นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด

 
 
 
 
ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า“ศูนย์วิจัยธนาคารออมสิน” หรือ GSB Research เกิดขึ้นจากนโยบายของธนาคารฯที่ต้องการให้มีสถานที่ตั้งของศูนย์วิจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค จุลภาค เศรษฐกิจฐานราก และเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐาน รวมถึงมีนักวิจัยและเครื่องมือที่รองรับต่อการวิเคราะห์วิจัยอย่างเป็นระบบ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทันสมัย ทันเหตุการณ์ ตลอดจนใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ เป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าข้อมูลของหน่วยงานภายในธนาคารและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและเพื่อสะท้อนภาพลักษณ์การเป็นองค์กรเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาของธนาคารออมสิน

ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินเป็นศูนย์วิจัยที่มุ่งเน้นการใช้ข้อมูลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทุกภาคส่วนผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytic) และการวิจัยต่างๆด้วยเครื่องมือทางสถิติขั้นสูง และ Modelต่างๆ โดยนักวิจัยจำนวน 28 คน เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญ/คลังสมอง (Think Tank) ที่ให้บริการข้อมูลใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ด้านเศรษฐกิจมหภาค ด้านเศรษฐกิจฐานราก ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม โดยเศรษฐกิจมหภาคถือเป็นภาพหลักที่สำคัญที่แสดงถึงการเจริญเติบโตและการพัฒนาของประเทศ  ดังนั้นศูนย์วิจัยธนาคารออมสินจึงได้ติดตาม การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจการเงินในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจรายไตรมาส เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายและกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงนำเสนอผลงานวิจัยต่างๆต่อสาธารณชน

สำหรับด้านเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economy) เป็นส่วนเศรษฐกิจที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย และเป็นภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินจึงมุ่งที่จะเป็นศูนย์กลางข้อมูลตลอดจนองค์ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศผ่านการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานรากที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก (Grassroots Economic Sentiment Index) รวมถึงการติดตามแนวนโยบาย และภาวะของเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนมีการวิจัยเชิงลึกและบทวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฐานราก

 
 
 
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมนั้น ศูนย์วิจัยธนาคารออมสินมุ่งมั่นวิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มธุรกิจ/อุตสาหกรรมในแต่ละ Sector โดยเฉพาะ Sector ที่มีความสำคัญของประเทศ อาทิการผลิต การบริการ การค้า อสังหาริมทรัพย์ การขนส่งและคลังสินค้า รวมถึงบริการทางการเงินที่เป็น Financial Innovation ต่างๆ พร้อมทั้งวิเคราะห์เจาะลึกเพื่อจัดกลุ่ม/ค้นหาธุรกิจ/อุตสาหกรรมที่เป็น Sunrise-Sunset ดาวเด่น ดาวร่วงในแต่ละภูมิภาค    ของประเทศ อีกทั้งยังยังติดตามสถานการณ์ของกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ซึ่งภาครัฐถือว่าเป็นกำลังสำคัญ            ในการขับเคลื่อนรายได้ของประเทศผ่านการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Startup (SSI) รายไตรมาส          เพื่อให้เป็นแหล่งข้อมูลธุรกิจ/อุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการ หน่วยงานและสาธารณชน อีกทั้งยังได้ติดตาม          ความเคลื่อนไหวด้านเทคโนโลยีทางการเงิน เพื่อให้ทันกับโลกในยุค Digital ด้วย

นับได้ว่าศูนย์วิจัยธนาคารออมสินแห่งนี้มีความสมบูรณ์แบบในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านของเศรษฐกิจฐานรากนั้นถือเป็นงานบุกเบิกชิ้นสำคัญที่ธนาคารออมสินได้ริเริ่มมาตั้งแต่แรกอย่างเป็นรูปธรรมมีดัชนีชี้วัดความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจฐานราก (GSI) ซึ่งใช้บ่งชี้ถึงสถานการณ์ของเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงจัดทำ Poll เพื่อศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มคนฐานราก ทั้งเรื่องวิถีชีวิต การประกอบอาชีพ การหารายได้ การออม การใช้จ่าย การก่อหนี้ เป็นต้น ตลอดจนมีรายงานวิจัยเชิงลึกทางด้านฐานรากนำเสนอต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง 

“ศูนย์วิจัยแห่งนี้มีนักวิจัยที่มีคุณภาพ มีระบบการวิเคราะห์วิจัยตามแบบมาตรฐานงานวิจัยสากลมีเครื่องมือตลอดจนเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล คำนวณค่าสถิติ และการประมาณการที่เที่ยงตรงแม่นยำ ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์ประเด็นร้อน (Hot Issue) ที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ มีการจัดทำรายงานที่นำเสนอแบบ Infographic ที่สวยงาม ง่ายต่อการทำความเข้าใจ โดยปัจจุบันมีรายงานวิจัยที่เกิดจากศูนย์วิจัยธนาคารออมสินกว่า 100 เรื่องต่อปี และมีความพร้อมในการนำเสนอผลการวิจัยเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความมุ่งมั่นเพื่อผลสำเร็จที่ว่า “สร้างสรรรค์งานวิจัย เพื่อเศรษฐกิจไทยยั่งยืน” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.

ดร. ชาติชาย บอกถึงการปล่อยสินเชื่อของธนาคารในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว 4-5 แสนล้านบาท หรือเติบโต 4% คิดเป็น การปล่อยสินเชื่อสุทธิ 1.2 แสนล้านบาท  และเชื่อว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปล่อยสินเชื่อได้อีก 2% ทำให้ทั้งปีธนาคารปล่อยสินเชื่อได้ 6%ตามเป้าหมาย  โดยสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแบ่งเป็นสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าเศรษฐกิจฐานราก มีสัดส่วน 30%  สินเชื่อลูกค้าบุคคล ประมาณ 30 %และสินเชื่องานภาครัฐและ sme มีสัดส่วนประมาณ 35% ส่วนหนี้NPL ปีนี้ธนาคารยังมั่นใจว่าจะรักษาให้อยู่ในระดับ 2.8%ใกล้เคียงกับปี 2561

สำหรับการทำธุรกรรมของธนาคารผ่านระบบดิจิตอลปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 80% ตัวใหญ่และตั้งเป้าว่าภายใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 90-95%

ส่วนการทำธุรกรรมโมบายด์แบงก์กิ้งในปี 2563 ธนาคารตั้งเป้ามีลูกค้าในบริการ 13 ล้านบัญชี ซึ่งจะเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคาร เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะมี 8.5 ล้านบัญชี
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ส.ค. 2562 เวลา : 16:13:06
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 4:48 am