การตลาด
สกู๊ปโฆษณาดิจิทัลแรงปีนี้ทะลุ 2 หมื่นล้าน ชี้จับตา"ทวิตเตอร์" ปี 63 มาแรง


ยังคงขยายตัวได้อย่างสวยงามสำหรับโฆษณาดิจิทัล แม้ว่าปีนี้จะดูขยายตัวอ่อนแรงไปบ้างแต่ถ้าเทียบกับสื่อโฆษณาที่มีอยู่ทั้งหมดโฆษณาดิจิทัลยังคงติดอยู่ 1 ใน 3 ของอัตราการเติบโต เนื่องจากเจ้าของสินค้ามีการโยกงบที่เคยใช้กับสื่อทั่วไปอย่างทีวี วิทยุและสิ่งพิมพ์มาใช้กับสื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง facebook และ Youtube ซึ่งถือเป็นสื่อที่เจ้าของสินค้าให้ความนิยมมากที่สุดในขณะนี้








จากแนวโน้มที่ดีดังกล่าวทำให้ภาพรวม 8 เดือนที่ผ่านมา สื่อโฆษณาดิจิทัลมีการขยายตัวสูง ล่าสุดสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAATออกมาคาดการณ์ว่าสิ้นปี 2562 นี้มูลค่าเม็ดเงินที่ไหลผ่านเข้าสื่อดิจิทัลน่าจะมีมูลค่าทะลุ 20,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน

น.ส.พัชรี เพิ่มวงศ์อัศวะ กรรมการสมาคมฯโฆษณาดิจิทัล(ประเทศไทย)กล่าวว่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลนั้นเติบโตมาทุกปีนับตั้งแต่ปี2555จนถึงปีนี้ เพราะแบรนด์ต่างๆโยกเงินโฆษณาจากสื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี หนังสือพิมพ์และนิตยสาร มาทุ่มให้กับสื่อดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งในส่วนของปี2562นี้คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ19%จากปี2561แม้จะเติบโตที่ไม่ร้อนแรงเท่าปีก่อนๆแต่เมื่อมองจำนวนเม็ดเงินรวมกันถือว่ายังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยตัวเลขงบโฆษณาจริงในครึ่งปีแรกของปีนี้นั้นอยู่ที่ 9,019 ล้านบาทและคาดว่าครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 11,144 ล้านบาท รวมตลอดทั้งปีเป็น 20,163 ล้านบาท ทะลุหลัก 20,000 ล้านบาทครั้งแรก ซึ่งถือว่าสูงกว่าปี2555ประมาณ 10 เท่า เนื่องจากปีดังกล่าวมีเม็ดเงินโฆษณาเพียง 2,783 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 624.51%

ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมแล้ว ธุรกิจยานยนต์น่าจะยังคงทุ่มเงินโฆษณาดิจิทัลมากเป็นอันดับ 1 ด้วยเม็ดเงิน 2,596 ล้านบาท แม้ว่าภาพรวมอาจใช้งบลดลงไปบ้างในปีนี้ เพราะมีการทำแคมเปญส่งเสริมการขายค่อนข้างน้อย ส่วนอันดับ 2 เป็นของธุรกิจสกินแคร์มีการใช้เม็ดเงินผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 1,900 ล้านบาท เนื่องจากเจ้าของแบรนด์เริ่มมีการโยกงบจากสื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสาร มาเน้นลงคลิปวิดีโอแบบออนดีมานด์กันมากขึ้น

ส่วนอันดับ 3 เป็นของธุรกิจโทรคมนาคม มีการใช้งบสื่อโฆษณาดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 1,584 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพอสมควร เนื่องจากผู้ประกอบการค่ายเทเลคอมในประเทศไทยกำลังผลักดันให้ผู้ใช้งานเลิกใช้เครือข่าย 2G และหันไปใช้ 3G กันทั้งหมด ซึ่งกลุ่มผู้ใช้งาน 2G ส่วนใหญ่ยังคงติดการใช้งานสื่อดั้งเดิม ทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ยังต้องทุ่มงบไปกับสื่อดั้งเดิม เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยในส่วนของภาพรวมสิ้นปี 2562 นี้คาดว่าเม็ดเงินจากกลุ่มธุรกิจนี้น่าจะปรับตัวลดลงประมาณ 18%

อันดับที่ 4 เป็นของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์มีการใช้งบผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 1,436 ล้านบาท และอันดับ 5 เป็นของกลุ่มธุรกิจธนาคารมีการใช้งบผ่านสื่อโฆษณาดิจิทัลอยู่ที่ประมาณ 1,195 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการหันมาให้ความสำคัญกับการสื่อสารผ่านช่องทางดิจิทัลมากขึ้น

นายราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่าอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในปีนี้คือ ธุรกิจขนมขบเคี้ยว ซึ่งแม้เม็ดเงินโดยรวมจะอยู่อันดับท้ายๆแต่อัตราการเติบโตนั้นคาดว่าจะอยู่ที่ถึง 109% สาเหตุเป็นเพราะว่าแบรนด์เหล่านี้กำลังโยกเงินโฆษณาจากสื่อดั้งเดิม เช่น ทีวี มาไว้กับสื่อดิจิทัลมากขึ้น เพราะกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวส่วนใหญ่เป็นเด็กและวัยรุ่น ซึ่งใช้สื่อดิจิทัลเป็นหลัก เช่น Twitter, LINE TV และ Tiktok ขณะเดียวกันการที่ช่องรายการการ์ตูนได้ทยอยปิดตัวลงนั้นก็บีบให้แบรนด์เหล่านี้ต้องมองหากลยุทธ์โฆษณาใหม่เช่นกัน

สำหรับช่องทางโฆษณาดิจิทัลที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องได้แก่ Facebook Ad และ Youtube Ad ซึ่งคาดว่าจะยังคงกวาดงบโฆษณามาได้เพิ่มขึ้นอีกในปีนี้ ขณะที่ Twitter น่าจะมาแรงในปีหน้า ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลสถิติที่ว่าคนไทยได้หันมานิยมเล่น Twitter เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีอัตราการเติบโตที่มากติดอันดับโลก

ปัจจัยที่ทำให้นักการตลาดหันมาทำ Marketing บน Twitter มากขึ้น เพราะ Twitter คือห้อง Focus Group ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แค่Search HashtagหรือKeywordก็เจอInsightได้ไม่ยาก นอกจากนี้ยังสามารถเข้าไปในโมเม้นท์ได้แบบ Real timeจากเทรนด์ Hashtag (#)

อย่างไรก็ดีแม้ว่าTwitterจะเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่ทุกโมเม้นท์ที่จะสามารถเข้ากับ Brand หรือเทิร์นกลับมายังสินค้าและบริการได้ ดังนั้นนักการตลาดจึงต้องวิเคราะห์และเลือกเครื่องมือในการสื่อสารให้ดี เช่น ทำแคมเปญอย่างเข้าใจคนในTwitter , เปิดตาค้นพบเรื่องใหม่ ,เปิดใจตามติดในเรื่องที่สนใจและไม่รอช้าที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Conversation

 
 
 
 
 
ด้านนายศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT กล่าวว่าแพลตฟอร์มที่มีการลงเงินกับการซื้อโฆษณามากที่สุดในประเทศไทย คือ Facebook มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ 5,762 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29% ของทั้งหมดตามด้วย Youtube มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ประมาณ 4,120 ล้านบาทหรือคิดเป็น 20% Creative มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ 2,108 ล้านบาท คิดเป็น 10% Display มีเม็ดเงินไหลเข้า 1,731 ล้านบาทหรือคิดเป็น 9% Search มีเม็ดเงินไหลเข้าอยู่ที่ 1,643 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8%  LINE มีเม็ดเงินไหลเข้า 1,472 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% Social มีเม็ดเงินไหลเข้า 1,342 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% Online Video มีเม็ดเงินไหลเข้า 1,079 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% Twitter มีเม็เงินไหลเข้า 204 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% Instagram มีเม็ดเงินไหลเข้า 113 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ส่วนที่เหลืออีก 3% เป็นสื่ออื่นๆคิดเป็นมูลค่าประมาณ 519 ล้านบาท

ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มไหนส่วนใหญ่แล้วมักจะมี Walled Gardens ที่เป็นเสมือนกำแพงที่ปิดกั้นไม่ยอมแชร์ Data ไปให้กับผู้ซื้อโฆษณาได้ทั้งหมด ทำให้ผู้ซื้อโฆษณาไม่สามารถนำข้อมูลมาสร้างแคมเปญข้ามแพลตฟอร์มเพื่อขยายฐานลูกค้าได้

บันทึกโดย : วันที่ : 07 ก.ย. 2562 เวลา : 08:06:00
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:54 am