แบงก์-นอนแบงก์
ธนชาต ริเริ่ม...เมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าเติมเต็มทักษะเยาวชน


ธนชาต ริเริ่ม...เมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าเติมเต็มทักษะเยาวชน ปลูกฝังความเป็นไทย สู่การเติบใหญ่อย่างยั่งยืน


เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษแล้วที่โครงการรณรงค์ส่งเสริมให้เยาวชนรักในความเป็นไทยก่อกำเนิดขึ้นและธนาคารธนชาตนำมาต่อยอดเป็นโครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย”การประกวดอ่านฟังเสียงภาษาไทยและมารยาทไทยที่เปิดให้เยาวชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

โครงการนี้ ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ในนามธนาคารศรีนคร ส่งผ่านธนาคารนครหลวงไทยมาจนถึงธนาคารธนชาตในปัจจุบัน โดยเมื่อปี ๒๕๕๔ ธนาคารธนชาตได้เริ่มจัดแข่งขันในชื่อโครงการ “ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็ม เอกลักษณ์ไทย”ภายใต้กิจกรรม“การแข่งขันอ่านฟังเสียง”และ“การประกวดมารยาทไทย”และได้ต่อยอด เติมเต็ม สร้างเวทีให้แก่เยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ธนาคารธนชาตสานต่อจัดการประกวดนี้มาอย่างยาวนานถึง 48 ปี คำตอบไม่ได้มีเพียงเจตนารมณ์อันหนักแน่นในการดำรงรักษาเอกลักษณ์อันดีงามของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นความมุ่งหวังที่จะสร้างทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับความก้าวหน้าให้กับเยาวชนไทยและเพาะเมล็ดพันธุ์ส่งต่อสำนึกรักความเป็นไทยออกไปสู่สังคมอย่างยั่งยืน

 
 
 
 
คุณเกรียงไกร ภูริวิทย์วัฒนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“สามสิ่งสำคัญที่ธนาคารธนชาตคำนึงถึงอยู่เสมอ คือ ความเท่าเทียม ความก้าวหน้าและความยั่งยืนของสังคมด้วยเหตุนี้เราจึงต่อยอดโครงการ ‘ธนชาต ริเริ่ม...เติมเต็มเอกลักษณ์ไทย’ ให้ครอบคลุมทั้งเยาวชนผู้บกพร่องทางการได้ยินและการมองเห็น เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนทุกคนได้มีความเท่าเทียมในการฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในการสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและเราเชื่อว่าเมื่อกำลังหลักของสังคมในภายภาคหน้ามีความพร้อมที่จะสร้างความก้าวหน้าในชีวิตแล้ว สังคมไทยก็จะก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน”

นางสาววชิราภรณ์ ทองจำนงค์และเพื่อนร่วมทีมจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร เยาวชนที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันมารยาทไทยระดับมัธยมศึกษาสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน กล่าวผ่านล่ามภาษามือถึงเหตุผลที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ว่า“มารยาทไทยเป็นทักษะที่ช่วยเสริมสร้างบุคลิกให้ดูดี สามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น ทั้งยังเป็นภาษากายที่มีเสียงดังและสำคัญไม่แพ้ภาษาพูด การฝึกบุคลิกและมารยาทจึงเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการสื่อสารและการทำงานในชีวิตประจำวัน”

 
 
 
 
ด้านคุณครูอรอนงค์ นุเสนและคุณครูปานจรี เคนศรี ครูผู้ฝึกสอนจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯกล่าวเสริมถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นในโรงเรียนว่า “เราส่งนักเรียนเข้าประกวดมาตั้งแต่ปี 2558 ความสำเร็จที่เห็นชัดเจนคือสายสัมพันธ์อันดีงามระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง หลังจบการแข่งขัน เด็กที่เข้าแข่งขันจะมาสาธิตการไหว้อย่างถูกต้องที่หน้าเสาธง เกิดเป็นความรู้สึกชื่นชมและความสนใจในเรื่องมารยาทไทย รุ่นพี่ที่เคยแข่งขัน ซึ่งรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง ได้ผันตัวมาเป็นผู้ช่วยครู เป็นแบบอย่าง ละคอยสอนน้องที่จะแข่งขันในปีต่อไป ทุกคนตั้งใจที่จะส่งต่อความรักและความตั้งใจในการรักษาวัฒนธรรมอันดีงามของชาติให้แก่รุ่นน้อง เรื่องเล็กๆเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม ครูเห็นความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองจากพฤติกรรมเด็กๆที่เปลี่ยนไปและไม่ใช่เฉพาะแต่เด็กที่เข้าร่วมการแข่งขันเท่านั้น เด็กๆยังนำการฝึกตรงนี้ไปใช้ต่อกับผู้ปกครอง ถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีของไทยสู่สังคมรอบข้างอีกทางหนึ่งด้วย”

เช่นเดียวกับนายศักดินันท์ โพธิ์ทองและนางสาวพรรวษา ศรีกุณะ เยาวชนผู้บกพร่องทางการมองเห็นจากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันอ่านฟังเสียงอักษรเบลล์ในระดับมัธยมศึกษากล่าวว่าการประกวดครั้งนี้เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้มีบ่อยและเป็นโอกาสที่จะได้ฝึกการรับมือกับความตื่นเต้นและความกดดันในสถานการณ์จริง ได้เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและยังได้พบมิตรภาพใหม่ๆ อีกทั้งผลลัพธ์จากการฝึกซ้อมเพื่อมาแข่งขัน ยังทำให้ได้ฝึกลับคมทักษะการสื่อสารที่จะเป็นประโยชน์ไปตลอดชีวิต “ประสบการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่โอกาสใหม่ๆที่ช่วยให้ชีวิตก้าวหน้า เพราะทักษะการสื่อสารให้ชัดเจนเป็นสิ่งจำเป็นในการใช้ชีวิต ผมสามารถนำทักษะที่ได้ฝึกฝนจากการเข้าแข่งขันไปใช้ได้ตั้งแต่ขั้นตอนการสัมภาษณ์ไปจนถึงในการทำงานจริง” นายศักดินันท์กล่าว

คุณครูศิริวรรณ อ่อนเกตุ ครูผู้ฝึกสอนน้องๆจากโรงเรียนสอนคนตาบอดภาคเหนือ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จ.เชียงใหม่ กล่าวสรุปว่า “สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหัวใจของครูในวันนี้คือการได้เห็นเด็กๆมีความกล้าหาญที่จะมาร่วมการแข่งขัน ครูขอบคุณที่พวกเขากล้าที่จะออกจากพื้นที่เล็กๆของตัวเองมาพบเจอสิ่งใหม่ ครูบอกเด็กทุกคนว่าเราอาจไม่ได้เก่งที่สุด แต่เรากล้าหาญที่สุด การประกวดครั้งนี้เป็นสปิริตของทั้งตัวเด็ก ของคณะกรรมการและของผู้จัดงาน ไม่ว่าพวกเขาจะได้รางวัลหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ประสบการณ์ที่เด็กๆได้ออกจากสังคมเล็กๆของตนเอง มาเจอประสบการณ์ใหม่ ได้พบปะผู้คนที่ให้เกียรติและปฏิบัติกับพวกเขาอย่างเท่าเทียม คือประสบการณ์ที่มีค่ามากที่สุดสำหรับพวกเขาและครูเองจะใช้ประสบการณ์วันนี้ไปวางแผนนโยบายต่อยอดในโรงเรียน เพื่อเติมเต็มเมล็ดพันธุ์แห่งความก้าวหน้าที่ธนาคารธนชาตได้ริเริ่มให้กับเด็กของเรา เพื่อพาพวกเขาสู่ปลายทาง ซึ่งก็คือการมีทักษะชีวิตที่สมบูรณ์นั่นเอง”

เพราะเชื่อในพลังของเด็กและเยาวชน ธนชาตจึงจะมุ่งมั่นเดินหน้าตามแนวคิด "ACT FOR SOCIAL PROGRESS ลงมือทำ...เพื่อสังคมก้าวหน้าอย่างยั่งยืน”ต่อไป เพื่ออนาคตที่สดใสของเด็กไทยและสังคม

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 09 ก.ย. 2562 เวลา : 15:49:34
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 2:41 am