แบงก์-นอนแบงก์
กรุงไทยพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย และให้สินเชื่อฟื้นฟูกิจการลูกค้าประสบภัย


ธนาคารกรุงไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่มีวงเงินสินเชื่อบุคคลหรือสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก รวมทั้งลูกค้า SME ที่ประสบภัยจากพายุโซนร้อนหลายลูก








นางอรนุช ศิรประภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์ภัยพิบัติพายุโซนร้อนหลายลูกได้สร้างความเสียหายต่อลูกค้า ประชาชน ในด้านที่อยู่อาศัย และการดำเนินธุรกิจต่างๆ ซึ่งธนาคารเล็งเห็นถึงความเดือดร้อนในครั้งนี้ จึงได้ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้า เพื่อแบ่งเบาภาระและเพิ่มสภาพคล่องแก่ลูกค้าในพื้นที่ประสบภัย

ธนาคารได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ สำหรับลูกค้าสินเชื่อบุคคล โดยพักชำระหนี้นาน 3 เดือนและพักชำระดอกเบี้ยอีก 3 เดือน ในเดือนที่ 4-6 ลูกค้า สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อ Home For Cash ธนาคารไม่คิดดอกเบี้ย นาน 3 เดือน และปรับลดลงอีก 0.25% ในเดือนที่ 4 – 12 ส่วน สินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่สถานประกอบการได้รับผลกระทบหรือคู่ค้า แหล่งวัตถุดิบ แรงงานอยู่ในพื้นที่ประสบภัย ลดดอกเบี้ยลงสูงสุด 1% ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน รวมทั้งพักชำระเงินต้นหรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน ตลอดจนสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ เพิ่มเพื่อฟื้นฟูปรับปรุงซ่อมแซม ซื้อสินทรัพย์ถาวรและวัตถุดิบ โดยให้วงเงินกู้เพิ่มสูงสุด 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้นปีแรก4%ต่อปี

สำหรับลูกค้า SME ธนาคารสนับสนุนวงเงินสินเชื่อเพิ่มในการฟื้นฟูกิจการหรือลงทุนทดแทนสินทรัพย์ที่เสียหาย เพื่อให้สามารถฟื้นตัวและก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง ในวงเงินสูงสุดรายละ 10 ล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น4%ต่อปีและสำหรับลูกค้าที่ใช้วงเงินสินเชื่อเดิมยังลดดอกเบี้ยลงสูงสุด 1% ต่อปี เป็นเวลา 12 เดือน พักชำระหนี้หรือขยายระยะเวลาสัญญาออกไปสูงสุด 12 เดือน เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้า ภายใต้เงื่อนไขตามที่ธนาคารกำหนด

ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและลูกค้าสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ยื่นขอรับความช่วยเหลือได้ทุกสาขาลูกค้า SME ยื่นได้ที่สำนักงานธุรกิจทั่วประเทศ 74 แห่ง ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Krungthai Call Center 02-111-1111

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 ก.ย. 2562 เวลา : 14:30:14
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 3:08 am