ประกัน
ประกันชีวิตฉบับแรก"แบบตลอดชีพ"ตอบโจทย์ทุกคนทำง่าย-เงินไม่หาย-ยืดหยุ่น-เบี้ยประกันไม่สูง


ทุกวันนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้โดยที่คุณอาจไม่ได้คาดคิดและคุณไม่เคยคิดว่าปัญหาใกล้ตัวเหล่านี้จะเข้ามาในชีวิตคุณวันนี้ วันพรุ่งนี้หรือวันไหนๆ โดยเฉพาะเรื่องเจ็บป่วย อุบัติเหตุ แม้คุณไม่ต้องการให้เกิดเแต่ตัวคุณเองสามารถตั้งรับและรับมือกับมันได้ด้วยการวางแผนป้องกันตั้งแต่วันนี้ ด้วยการประกัน


คำถามที่ตามมาสำหรับคนที่มีกำลังมองปัญหานี้อยู่ก็คือ แล้วประกันแบบไหนจะดีและเหมาะสมกับตัวคุณและคุณสามารถรับได้

ดังนั้นวันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีโอกาสได้รับรู้เรื่องราวดีๆเกี่ยวกับรูปแบบการเลือกผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต จากเพราพรรณ วัชรกาฬ, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทยมาบอกเล่าให้ฟังว่า ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจก่อนว่า ประกันชีวิตมี 4 แบบ ได้แก่ แบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา แบบสะสมทรัพย์และแบบบำนาญ

 
 
 
 
คำถามคือประกันฉบับแรกที่เหมาะกับทุกคนคือแบบไหนคำตอบคือ แบบตลอดชีพ

ทั้งนี้ประกันชีวิตแบบตลอดชีพเป็นแบบจ่ายเบี้ยประกันเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยผู้เอาประกันเลือกได้ว่าจะจ่ายเบี้ยประกันแบบไหน เช่น 10 ปี, 15 ปี หรือ 20 ปี หรือใช้อายุเป็นตัวกำหนดก็ได้ เช่น จ่ายเบี้ยจนถึงอายุ 50 ปี หรือ 55 ปี

โดยที่คุณจะได้รับความคุ้มครองไปตลอดชีวิตของผู้เอาประกันและหากผู้เอาประกันเสียชีวิต(ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม) บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์เท่ากับจำนวนทุนประกันที่ผู้เอาประกันได้ซื้อไว้ ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งกำหนดระยะเวลาสุดท้ายของสัญญา เช่นที่อายุ 90 ปี หรือ 99 ปี (แล้วแต่กรณี)

เหตุผลที่ควรทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพเป็นฉบับแรกในชีวิต คื มีระยะการจ่ายคืนที่แน่นอนทำให้เบี้ยประกันอยู่ในระดับต่ำ ค่าเบี้ยประกันคงที่นับตั้งแต่วันแรกจนถึงครบกำหนดอายุสัญญา เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน รายได้แต่ละเดือนยังไม่เยอะและเข้าใจง่ายมีความยืดหยุ่นสูง

ตัวอย่างเช่น นาย ก. อายุ 25 ปี ทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท เบี้ยประกันประมาณ 20,000 บาทต่อปี (ประมาณเดือนละ 1,666 บาท) เลือกชำระเบี้ย 20 ปี คุ้มครองที่อายุ 90 ปี

กรณีนาย ก. หมายความว่าจ่ายเบี้ยประกันไปจนถึงอายุ 45 ปี จากนั้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันอีกต่อไปแค่รอรับทุนประกันเมื่ออายุ 90 ปี (กรณียังไม่เสียชีวิต) แต่ถ้าเสียชีวิตก่อนอายุ 90 ปี ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์จะได้รับทุนประกัน 1 ล้านบาท

โดยนาย ก.ได้รับความคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญา ยกเว้นกรณีที่ผู้ทำประกันมีโรคประจำตัวและไม่ได้แจ้งบริษัทประกัน (ปกปิด) ถ้าภายใน 2 ปีแรกเกิดเสียชีวิตจากโรคที่เคยเป็นมาก่อนและบริษัทประกันสืบทราบก็จะไม่จ่ายทุนประกันให้

ดังนั้นหากมีโรคประจำตัวต้องแจ้งบริษัทประกันเพื่อทำการตรวจสอบว่าสามารถทำประกันได้หรือไม่ เทคนิคคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมให้ดูจากเงินเดือน ระยะเวลาการทำงานที่เหลือ จากนั้นดูว่าปัจจุบันมีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินเท่าไหร่ เช่น คุณอายุ 25 ปี เงินเดือน 25,000 บาท (300,000 บาทต่อปี) วางแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี แสดงว่าเหลือเวลาทำงาน 35 ปี ก็นำ 300,000 คูณ 35 ผลลัพธ์ที่ได้หมายถึงมีความสามารถสร้างรายได้จนถึงวันเกษียณได้อีก 10,500,000 บาท

จากนั้นดูว่าทุกวันนี้คุณมีทรัพย์สินที่สามารถแปลงเป็นเงินได้เท่าไหร่ เช่น มีเงินออมและเงินลงทุน 5 แสนบาท, ทองคำ 2 แสนบาท รวมแล้ว 7 แสนบาท แสดงว่าหากคุณต้องการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ทุนประกันที่เหมาะสมประมาณ 9,800,000 บาท (10,500,000-700,000 บาท) เพราะคุณพึ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนยังไม่มากและยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ดังนั้นคุณจึงควรเริ่มต้นด้วยทุนประกันไม่มากและเมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นค่อยทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพฉบับใหม่เพิ่ม

ซึ่งหมายความว่าผู้ที่อายุมากก็สามารถทำประกันแบบนี้ได้แต่ควรเลือกชำระเบี้ยประกันให้สั้นลง เพราะมีเวลาในการทำงานเก็บเงินไม่มาก เช่น คุณอายุ 45 ปี (ถ้าทำงานถึง 60 ปี จะเหลือเวลาในการทำงาน 15 ปี) ก็เลือกชำระเบี้ยประกัน 15 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาทำงาน

การประกันชีวิตแบบตลอดชีพก็อาจเป็นอีกช่องทางการออมเงินไปในตัวด้วย เพราะเงินที่จ่ายเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะคืนตอนครบกำหนด เช่น คุณเลือกจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี ปีละ 20,000 บาท รวมเบี้ยประกันที่ส่ง 400,000 บาท เมื่อคุณอายุ 90 ปี จะได้ทุนประกันคืน 1 ล้านบาท (กรณีไม่เสียชีวิต)ความหมายคือ จ่ายเงิน 4 แสนบาท แต่ได้เงิน 1 ล้านบาท

เมื่อถึงวัยเกษียณคุณก็สามารถนำเงินออกมาใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ โดยติดต่อบริษัทประกันเพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งจะได้รับตามมูลค่าเงินสดตามเงื่อนไขที่บริษัทประกันกำหนด แต่จะทำให้ความคุ้มครองชีวิต1ล้านบาทของคุณสิ้นสุดลง

แม้ว่าบริษัทเอกชนส่วนใหญ่จะทำประกันให้กับพนักงานแต่ประกันแบบตลอดชีพก็ไม่ควรมองข้าม เพราะความหมายของการทำประกันชีวิตคือต้องทำทุนประกันให้มากพอหากเกิดเสียชีวิตก็จะได้ไม่เป็นภาระกับคนข้างหลัง

และนี่ก็คือการแนะนำง่ายๆแต่เมื่อคุณได้รับรู้ข้อมูลเหล่านี้แล้วก็ควรที่จะศึกษาหาข้อมูลส่วนอื่นมาสนับสนุนเพิ่มได้ก่อนตัดสินใจเลือก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ย. 2562 เวลา : 15:44:17
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 1:25 pm