เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเป้าจีดีพีปีนี้เหลือ2.8%ส่วนปี 63 เสี่ยงโตต่ำกว่า 3.0%


ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2562 ลงมาอยู่ที่ 2.8% จากเดิม 3.1% ขณะที่คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีหน้าว่ามีความเสี่ยงที่จะโตต่ำกว่า 3.0%จากหลายปัจจัยลบ


 
 
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่าศูนย์วิจัยฯได้ปรับลดจีดีพีปี 2562 ลงอยู่ในกรอบ 2.5-3% โดยมีค่ากลาง 2.8% จากเดิมคาดขยายตัว 3.1% จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทำให้ตัวเลขส่งออกของไทยในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมาหดตัวมากกว่าคาด โดยหดตัวในหลายกลุ่มสินค้าและเกือบทุกตลาดหลัก ซึ่งส่งผลให้ปรับลดประมาณการการส่งออกลงเหลือ -2.0% ถึง 0.0% จากเดิมที่ 0.0%

 
 
สำหรับในปี 2563 ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอยู่มาก ทำให้การส่งออกยังคงหดตัว ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้จีดีพีมีโอกาสต่ำกว่า 3.0% อย่างไรก็ตามประมาณการนี้ตั้งอยู่บนเงื่อนไขแวดล้อมที่ประเมินได้ ณ ขณะนี้และยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยในปีนี้คาดว่ามาตรการ “ชิม ช้อป ใช้”จะช่วยหนุนจีดีพีราว 0.02% ส่วนในปีหน้าต้องรอติดตามว่าจะมีมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งหากมีก็ควรเป็นมาตรการเกี่ยวกับการตั้งกองทุนเพื่อดูแล โดยเน้นดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ เช่นกลุ่มอาชีพอิสระ รวมถึงเอสเอ็มอีที่ยอดขายชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระวังการใช้จ่าย ในส่วนของมาตรการทางการเงินนั้น มองว่า กนง.อาจลดดอกเบี้ยได้อีก เพียงแต่มาตรการทางการเงินต้องใช้เวลากว่าจะทยอยเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ

 
 
 
สำหรับค่าเงินบาทยังมีทิศทางผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 63 จากที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าลดลงอีก 1 ครั้ง หลังจากนั้นอาจจะชะลอไปและไม่ส่งสัญญาณแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยออกมาอีก ซึ่งถ้าเฟดหยุดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทและอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในปี 63 ในทางตรงกันข้ามหากเฟดยังคงลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าไปได้อีก โดยคาดว่าเงินบาทในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

 
 
 
ด้าน ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยังคงยืดเยื้อจะกระทบการส่งออกของไทยในปี 2563 เพิ่มเติมอีก 1,000-2,500 ล้านดอลลาร์ฯ หลังต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนต่อเนื่อง ขณะที่ในปี 2562 คาดการณ์ผลกระทบไว้ที่ 2,100-3,000 ล้านดอลลาร์ฯ นอกจากนี้แม้ว่าไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้างแต่ก็จะเน้นไปที่ธุรกิจที่ไทยเป็นฐานการผลิตเดิม
 
ส่วนสถานการณ์ Brexit คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่สหราชอาณาจักรคงต้องออกจากสหภาพยุโรปแบบ No Deal โดยขั้นตอนต่อไปคือการตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ต.ค. 2562 เวลา : 16:21:26
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:58 am