แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดชูไทยและอาเซียนเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านการค้า


ไทย อินโดนีเซียและเวียดนามติดอันดับ Trade20 ดัชนีล่าสุดจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดซึ่งจัดอันดับ 20 เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านการค้ามากที่สุด  


ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเปิดตัวรายงาน Trade20เผยประเทศไทยติดอันดับที่ 8 ใน 20 ประเทศที่มีศักยภาพในการเติบโตด้านการค้ามากที่สุด โดยมีปัจจัยหนุนจากความพร้อมในด้านการค้า และการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในด้านอีคอมเมิร์ซ  

รายงานTrade20 เป็นการสำรวจ 66 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมุ่งวิเคราะห์ศักยภาพการเติบโตด้านการค้าของแต่ละตลาด โดยมีตัววัด 12 ด้านภายใต้แกนหลัก 3 ด้านคือ พลวัตทางเศรษฐกิจ ความพร้อมด้านการค้าและความหลากหลายของการส่งออก  

ตัวขับเคลื่อนของอาเซียน 
ดัชนีของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมุ่งวิเคราะห์ศักยภาพการเติบโตของภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย อินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งมีความโดดเด่นในด้านความพร้อมทางการค้า ซึ่งสะท้อนถึงพื้นฐานของตลาดในการเติบโตทางการค้าในอนาคต 

เศรษฐกิจของทั้งสามประเทศมีศักยภาพในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยการเป็นฐานหลักด้านการผลิตเพื่อส่งออก การค้าระหว่างประเทศในภูมิภาคอเซียนที่กำลังเติบโต การบริโภคภายในประเทศที่เข้มแข็ง ประกอบกับความเชื่อมโยงทางการค้าที่ใกล้ชิดกับประเทศจีนและการเป็นตลาดแรงงานที่เติบโตด้วยดี  

แม้ว่าจะเผชิญกับความท้าทายจากความไม่แน่นอนของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นแต่ทั้งสามประเทศนี้อยู่ในสถานะที่ได้ประโยชน์หากสงครามการค้าเข้มข้นขึ้นจนส่งผลให้บริษัทข้ามชาติทั้งหลายพิจารณาย้ายฐานระบบห่วงโซ่อุปทานของตนไปยังประเทศอื่น นอกจากนี้การทำธุรกรรมทางการค้าระหว่างภูมิภาค การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและการปฏิรูปกฎระเบียบต่างๆล้วนช่วยส่งเสริมให้การค้าขายในตลาดเหล่านี้เติบโตยิ่งขึ้น  

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 758 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7และมีมูลค่าเงินลงทุน 232,610 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 มูลค่าเงินลงทุนตรงจากต่างประเทศใน 5 อุตหกรรมเป้าหมายของบีโอไอ (ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรอัตโนมัติและหุ่นยนต์) เพิ่มขึ้นร้อยละ 58 มาอยู่ที่ 23,840 ล้านบาทในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว  

ประเทศไทยโดดเด่นในเรื่องความพร้อมด้านการค้าติดอันดับ 9 จาก 20 อันดับ 
ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการปรับระบบต่างๆให้เป็นระบบดิจิทัลและเพิ่มประสิทธิภาพในทุกอุตสาหกรรมและธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างประเทศและการส่งออก ประเทศไทยน่าจะสามารถนำระบบดิจิทัลมาปรับใช้กับการค้าได้อย่างรวดเร็วร่วมกับการทำงานกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเป็นการช่วยเร่งการเติบโตด้านการค้าให้กับภูมิภาคเอเชีย  

โอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทย : ด้านความหลากหลายของการส่งออก 
ประเทศไทยไม่ติดใน 20 อันดับแรกในด้านความหลากหลายของการส่งออก เนื่องจากดัชนีให้น้ำหนักกับพัฒนาการของตลาดในแง่ความหลากหลายของการส่งออก ซึ่งวัดจากความหลากหลายของสินค้าส่งออกและรายได้จากการส่งออกที่มาจากความหลากหลายของสินค้าเหล่านั้น ตลาดที่ทำคะแนนได้ดีในด้านนี้คือตลาดที่มีพัฒนาการอย่างมากในแง่การกระจายการส่งออก ซึ่งน่าจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้การเติบโตทางการค้าและลดความผันผวนต่อแรงกดดันของตลาด  

 
 
 
นายพลากร หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)กล่าวว่า “รายงานดัชนี Trade20 เป็นการประมวลดาวรุ่งในด้านการค้า โดยวิเคราะห์ตลาดที่มีภาวะการค้าและศักยภาพการเติบโตทางการค้าที่มีพัฒนาการอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา”

“ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายการค้าการลงทุนของต่างประเทศเท่านั้นแต่บริษัทไทยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มีการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศอย่างเข้มแข็งเช่นกัน” นายพลากรกล่าวเสริม  

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2561บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีการลงทุนไปยังต่างประเทศสูงที่สุดในรอบ 8 ปี ที่ 199,000 ล้านบาท ไม่รวมเงินลงทุนในประเทศ ซึ่งเติบโตขึ้นร้อยละ 15 จากปี 2560 มาอยู่ที่ 818,000 ล้านบาท  

“ยังมีโอกาสในด้านการค้าระหว่างประเทศอยู่อีกมาก ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)มีเครือข่ายทั่วโลกและนวัตกรรม การเพิ่มการใช้ระบบอัตโนมัติ เพื่อให้บริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นไป” นายพลากร กล่าว“นอกจากความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในโครงการอินทนนท์แล้ว เรายังให้บริการออกหนังสือค้ำประกันบนระบบบล็อกเชน (eGuarantee) โดยเมื่อไม่นานมานี้ ธนาคารประสบความสำเร็จในการทดสอบธุรกรรม Letter of Credit ผ่านระบบ Blockchain เป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมน้ำมัน”     

“ท่ามกลางกระแสการกีดกันทางการค้าและการเติบโตของโลกที่ชะลอตัวลง ตลาดที่แสดงพัฒนาการที่น่าสนใจเหล่านี้ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับองค์กรที่กำลังมองหาทางเลือกในการลงทุน ช่องทางการนำเข้า และคู่ค้าในระบบห่วงโซ่อุปทานใหม่ๆ” 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 01 ต.ค. 2562 เวลา : 17:26:36
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:25 pm