แบงก์-นอนแบงก์
ธนาคารกรุงเทพสานต่อความสำเร็จ"วิถีเกษตรก้าวหน้า"ยุคดิจิทัล


ธนาคารกรุงเทพเดินหน้าสานต่อโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ สู่ยุคดิจิทัล หนุนเกษตรกรไทยปรับตัว ดึงนวัตกรรมช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต-ลดความเสี่ยง สร้างโมเดลธุรกิจตนเอง อยู่รอดอย่างยั่งยืน พร้อมชวนเกษตรกรตัวอย่างร่วมเวที แชร์ประสบการณ์ประยุกต์เชื่อมเทคโนโลยีสู่วิถีเกษตร


 
 
 
 
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)เปิดเผยว่าในปัจจุบันที่เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิธีการดำเนินธุรกิจในแบบเดิมหรือDisrupt ในทุกวงการธุรกิจ รวมถึงภาคการเกษตรที่กำลังเผชิญกับความท้าทายนี้เช่นกัน ดังนั้นธนาคารกรุงเทพซึ่งได้ร่วมสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ได้กำหนดแนวคิดหลักของการดำเนินโครงการในปีนี้ให้สอดคล้องกัน โดยมีความมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันให้เกษตรกรไทยสามารถปรับตัว โดยเรียนรู้ทำความเข้าใจและเลือกสรรเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ให้เข้ากับแนวทางการดำเนินธุรกิจของตน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดความเสี่ยงลง ตลอดจนสามารถอยู่รอดในโลกดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน

 
 
 
 
โอกาสนี้ธนาคารกรุงเทพได้จัดสัมมนาพิเศษผ่านกิจกรรมของโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ประจำปี 2562 โดยได้รับเกียรติจากคุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง “นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์”

นอกจากนี้ยังได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิและเกษตรกรตัวอย่างมาร่วมเสวนาในหัวข้อ “เกษตรกรจะปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัล” ประกอบด้วย คุณปรียานุช ทิพยะวัฒน์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กระทรวงเกษตรฯบรรยายเรื่อง“การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก” คุณนิธิภัทร์ ทองอ่อน เกษตรกรก้าวหน้ารุ่นใหม่ จ.ระยอง บรรยายเรื่อง “การจัดการสวนทุเรียนแบบเกษตรแม่นยำ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (IOT)” คุณอาทิตย์ จันทร์นนทชัย เจ้าของแพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกร Application Farm To (ฟาร์มโตะ) บรรยายเรื่อง “การสนับสนุนเครือข่ายการตลาดออนไลน์สินค้าเกษตรปลอดภัย โดยเชื่อมเกษตรกรกับลูกค้า, ผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมในการผลิตผ่านระบบอินเทอร์เน็ต” และคุณอรทัย เอื้อตระกูล คอลัมนิสต์ วารสารเคหการเกษตรบรรยายเรื่อง “การปรับตัวของเกษตรกรเพื่อให้ผ่านกฎ ระเบียบ กติกาของประเทศผู้ซื้อสินค้าเกษตร” โดยมี ผศ.อดิศักดิ์ บ้วนกียาพันธุ์ เจ้าของรายการติดดิน กินได้ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ธนาคารกรุงเทพได้ริเริ่มอำนวยสินเชื่อให้แก่เกษตรกรไทยมาตั้งแต่ปี 2505 และได้จัดตั้งโครงการ ‘เกษตรก้าวหน้า’ ขึ้นเมื่อปี 2542 โดยอดีตประธานกรรมการบริหาร “คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ต่อเนื่องมาถึง“คุณเดชา ตุลานันท์” โดยการนำตัวอย่างความสำเร็จมาเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านการเกษตร การจัดการตลาด การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกัน การบริหารจัดการการเงิน การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ควบคู่กับการสร้างเครือข่ายการผลิตกับการตลาดที่มีศักยภาพ รวมถึงจัดงานมอบรางวัล ‘เกษตรก้าวหน้าดีเด่น’ เพื่อเป็นเกียรติแก่เกษตรกรต้นแบบผู้ประสบความสำเร็จ

“เราพูดถึงเรื่องเกษตรก้าวหน้ามาร่วม 20 ปีแล้ว ด้วยความมุ่งหวังที่จะผลักดันให้เกษตรกรมีองค์ความรู้ที่กว้างขวางขึ้น ในหลากหลายมิติ ยิ่งมาถึงยุคดิจิทัลในปัจจุบันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกิดขึ้นมากมายในวงการเกษตร ก่อให้เกิดเกษตรอัจฉริยะ และเกษตรแม่นยำขึ้น ไปจนถึงการสร้างแพลตฟอร์มเข้ามาช่วยเชื่อมโยงให้เกิดการสั่งงานผ่านแอปพลิเคชันและการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เทคโนโลยีสามารถเข้ามาสนับสนุนได้ตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการผลิตไปจนถึงการส่งมอบผลผลิตให้แก่ลูกค้า ดังนั้น นอกเหนือจากเทคโนโลยีแล้ว เกษตรกรจำเป็นที่จะต้องมี “ความรู้” เพื่อคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาปรับใช้สำหรับสร้างเป็นวิถีแนวทางของตนเองที่จะก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างยั่งยืน” นาย เดชา กล่าว

 
 
 
นายอาทิตย์ จันทร์นนทชัย เจ้าของแพลตฟอร์มเครือข่ายเกษตรกร Application FarmTo (ฟาร์มโตะ) ซึ่งนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยแก้ไขปัญหาด้านช่องทางการตลาด โดยใช้แนวคิด “เกษตรแบ่งปัน” คือ ผู้บริโภคสามารถเข้ามาร่วมเป็นเจ้าของผลผลิตร่วมกับเกษตรกรได้ตั้งแต่ก่อนเพาะปลูกเพื่อจ่ายเงินซื้อผลผลิตล่วงหน้า โดยถือว่าผู้บริโภคได้เป็นเจ้าของผลผลิตในรอบการปลูกนั้นๆ ร่วมกับเกษตรกร ระหว่างการเพาะปลูก ผู้บริโภคสามารถติดตามความคืบหน้าของผลผลิตผ่านช่องทางออนไลน์ได้ทั้งเว็บเพจและแอปพลิเคชัน ทั้งสามารถไปเยี่ยมเกษตรกรถึงแปลงปลูกได้อีกด้วย และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็จะได้รับผลผลิตกลับไปตามจำนวนที่สั่งจอง

“แนวคิดนี้ช่วยให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่ามีตลาดรองรับที่แน่นอนและราคาที่เหมาะสมโดยวิธีการขายผ่านทางออนไลน์ส่งตรงถึงผู้บริโภค ขณะเดียวกันผู้บริโภคสามารถรับรู้แหล่งที่มาของผลผลิตและมั่นใจในผลผลิตที่ตนเองจะได้บริโภคเช่นกัน จึงอาจกล่าวได้ว่า FarmTo คือสื่อกลางที่ทำให้เกษตรกรและผู้บริโภคได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น” นายอาทิตย์ กล่าว

ปัจจุบัน FarmTo ได้เริ่มขยายเครือข่ายไปยังโรงแรมและผู้ประกอบการร้านอาหาร ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรมีตลาดที่กว้างขึ้นและรายได้เพิ่มขึ้น รวมถึงช่วยวางแผน ให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่สามารถบริหารจัดการเองได้ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถช่วยเหลือตัวเองและเติบโตไปสู่การสร้างแบรนด์ให้แก่ผลผลิตของตัวเองได้ในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 02 ต.ค. 2562 เวลา : 17:35:39
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 11:57 pm