การตลาด
สกู๊ป จับตาอาณาจักร"เอ็มเค" หลังปลุก 4 กลยุทธ์เชิงรุก ขยายธุรกิจร้านอาหาร


หลังจากสร้างความฮือฮาให้กับวงการธุรกิจร้านอาหารไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยการอนุมัติให้บริษัท คาตาพัลท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 99.99%  ดำเนินการเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด หรือที่รู้จักกันดีในส่วนของร้านอาหารแหลมเจริญซีฟู้ด ด้วยการให้บริษัท คาตาพัลท์ จำกัด เข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 65% ในกิจการคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 2,060 ล้านบาท เอ็มเคก็เดินหน้าลุยขยายธุรกิจในรูปแบบต่างๆต่อทันทีไม่ว่าจะเป็นการขยายธุรกิจร้านอาหารในเครือ การลงทุนในด้านของการพัฒนาเทคโนโลยีหรือการลงทุนในด้านของระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกเมื่อใช้บริการร้านอาหารในเครือ

สำหรับกลยุทธ์ที่ เอ็มเคจะนำมาใช้เพื่อพาธุรกิจไปสู่เป้าหมายที่วางไว้มีอยู่ด้วยกัน 4 แนวทาง คือ 1. การซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์หรือไลเซนส์ 2. การร่วมทุนกับเจ้าของแบรนด์เดิม 3. การซื้อกิจการหรือเทกโอเวอร์ และ4. การพัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเองเพื่อสร้างการเติบโต ซึ่งหลังจากทดลองใช้กลยุทธ์ดังกล่าวขยายธุรกิจในช่วงที่ผ่านมาพบว่าธุรกิจมีการขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้นเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-8% จากรายได้รวมประมาณ 18,000-20,000 ล้านบาท

 
 
นายฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)กล่าวว่าแม้ปัจจุบันการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารจะค่อนข้างรุนแรงแต่บริษัทก็ยังมองว่ามีโอกาสในการทำธุรกิจร้านอาหารอีกมาก เพราะยังมีอีกหลายอย่างที่บริษัทยังไม่ได้ทำ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านอาหารแบรนด์ใหม่ การเข้าไปซื้อธุรกิจร้านอาหารที่มีศักยภาพ หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาในธุรกิจ ล่าสุดบริษัทได้เข้าไปซื้อกิจการธุรกิจร้านอาหารภายใต้แบรนด์ แหลมเจริญซีฟู้ด เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและอาหารซีฟู้ดก็เป็นอะไรที่คนไทยชอบรับประทาน

ดังนั้น นายฤทธิ์จึงได้ทำการศึกษาธุรกิจดังกล่าวอย่างจริงจังและพบว่าเป็นธุรกิจที่เหมาะกับบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่ซ้ำซ้อนกับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ ซึ่งหลังจากตัดสินใจจะเข้าลงทุนในธุรกิจดังกล่าว เอ็มเค ก็ใช้เวลาในการเจรจากับบริษัท แหลมเจริญ ซีฟู้ด จำกัด เป็นระยะเวลา 1 ปี จึงได้ตกลงทำธุรกิจร่วมกัน ซึ่งหลังจากเข้าซื้อกิจการก็ยังคงให้กลุ่มทุนเดิมบริหารธุรกิจต่อไป

อย่างไรก็ดีแม้ว่าเอ็มเคจะมองธุรกิจร้านอาหารยังมีโอกาสให้เข้าไปขยายธุรกิจได้อีกมากแต่ก็ไม่ใช่ธุรกิจร้านอาหารทุกประเภทที่จะเข้าไปลงทุน ซึ่งเซกเมนต์ที่นายฤทธิ์ประกาศว่าไม่สนใจที่จะเข้าไปลงทุน คือธุรกิจร้านอาหารประเภทสตรีทฟู้ดหรือฟาสต์ฟูดเพราะต้องควบคุมเรื่องคุณภาพและความปลอดภัย

 
 
 
สำหรับธุรกิจร้านอาหารแบรนด์เดิมที่มีอยู่นั้น เอ็มเค ยังคงเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นร้านยาโยอิ ร้านมิยาซากิ ร้านฮากาตะ ร้านเลอสยาม ร้าน ณ สยาม หรือร้านเลอเพอทิท เป็นต้น ซึ่งในส่วนของร้านอาหารไทย ณ สยาม เอ็มเค จะไม่เน้นการขยายสาขามากนักเพราะกลุ่มเป้าหมายค่อนข้างเฉพาะ

นอกจากนี้เอ็มเคจะให้ความสำคัญนับจากนี้คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีเข้าไปมีบทบาทในชีวิตของผู้บริโภคค่อนข้างมาก ซึ่งที่ผ่านมามา เอ็มเคก็ได้เริ่มทดลองนำเทคโนโลยีเข้ามาให้บริการภายในร้านอาหารบ้างแล้ว  เช่นการนำระบบการจ่ายเงินด้วยเครื่องทอนเงินอัตโนมัติมาให้บริการในร้านเอ็มเคสุกี้หรือการนำเอาไอแพดมาใช้ในการสั่งอาหารด้วยตัวเองในร้านเอ็มเคสุกี้

นายฤทธิ์ กล่าวต่อว่าสิ่งที่บริษัทจะทำนับจากนี้คือการนำบริการใหม่ๆโดยเฉพาะเทคโนโลยีมาทดลองใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพราะสิ่งดังกล่าวถือเป็นคาแรคเตอร์ของบริษัทที่ปฏิบัติมาโดยตลอดภายในร้านอาหารในเครือ เช่น การสั่งอาหารด้วยแท็บเล็ต การใช้เครื่องทอนเงินอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการใช้เครื่องทอนเงินอัตโนมัติมาทดลองใช้ภายในร้านเอ็มเคสุกี้แล้วประมาณ 10-20 สาขาและภายในปี2562 นี้คาดว่าจะขยายบริการดังกล่าวได้ครบทุกสาขา เพราะหลังจากนี้ไปทุกสาขาของร้านเอ็มเคสุกี้จะไม่มีเมนูที่เป็นกระดาษ เนื่องจากจะเปลี่ยนวิธีการสั่งอาหารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเองบนโต๊ะอาหาร

 
อีกหนึ่งบริการที่เอ็มเคให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ล่าสุดได้มีการร่วมทุนกับบริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้ง คัมปะนี ร่วมทุนกันจัดตั้งบริษัท เอ็ม-เซนโค เพื่อขยายธุรกิจในด้านของโลจิสติกส์ เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 280,000 ล้านบาท

นายยาสึฮิสะ ฟุคุตะ ประธาน บริษัท เซนโค กรุ๊ป โฮลดิ้ง คัมปะนี ในฐานะผู้บริหารของ บริษัท เอ็ม-เซนโค ร่วมทุนระหว่างเซนโคกับเอ็มเค ทำธุรกิจโลจิสติกส์ในไทย กล่าวว่าตลาดโลจิสติกส์และซับพลายเชนในไทยมีมูลค่ามากถึง 280,000 ล้านบาท แบ่งเป็นด้านการขนส่งและจัดเก็บคลังสินค้ามากกว่า 40% โดยในจำนวนนี้เป็นธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าแบบควบคุณอุณหภูมิหรือโคลด์เชน (Cold Chain Logistics) ประมาณ 26,000 ล้านบาท หรือเพียงแค่ 10% เท่านั้นเอง จึงทำให้ธุรกิจโคลด์เชนโลจิสติกส์ในปีนี้มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

สำหรับการเข้ามาร่วมทุนกับเอ็มเคในครั้งนี้ เซนโค มีเป้าหมายระยะยาวในไทยว่าต้องการจะก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำในด้านของธุรกิจโลจิสติกส์ครอบคลุม 4 หลัก คือ การให้บริการด้านคลังสินค้า การขนส่ง การบริการนำเข้า-ส่งออกสินค้าและการซื้อขายสินค้า เจาะกลุ่มเป้าหมายภาคธุรกิจและลูกค้ารายย่อยในอนาคต เช่น ร้านอาหาร ผู้ผลิตอาหาร ธุรกิจนำเข้าและส่งออก มินิมาร์ท ซูเปอร์มาร์เกต เป็นต้น คาดว่าใน 3 ปีจะทำได้ครบวงจรและขยายตลาดในต่างประเทศด้วย ขณะนี้มีการส่งสินค้าของชีลไปห้างค้าปลีกในเวียดนามแล้ว

ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคตล่าสุดได้มีการใช้เงินลงทุน 1,750 ล้านบาท สร้างคลังสินค้าแบบเย็น โดยเฟส 1 ลงทุน 1,300 ล้านบาท พัฒนาคลังสินค้าแบบเย็น ขนาด 20,000 ตารางเมตร รองรับการเก็บสินค้าได้ถึง 12,000 พัลเลต เปิดบริการต้นเดือนตุลาคม 2562 ภายใน 3 ปีจะมีรายได้ 1,000 ล้านบาทและเติบโต 15% ต่อปี สัดส่วนลูกค้าในเครือเอ็มเค 80% นอกเครือ 20% เช่น ดองกี้ เป็นต้น ส่วนภายใน 3 ปีสัดส่วนจะเป็นในเครือเอ็มเค 20% และนอกเครือ 80% และเฟสที่ 2 จะลงทุนอีก 450 ล้านบาท ขยายพื้นที่ในต้นปีหน้า จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว เอ็ม-เซนโค  ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้รวมในปี 2568 ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาท
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 12 ต.ค. 2562 เวลา : 07:00:23
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 2:05 pm