เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กรุงไทยเปิดศูนย์วิจัย Krungthai COMPASSคาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.2% ส่วนปีนี้หั่นเหลือโต 2.7%


กรุงไทยเปิดศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินเศรษฐกิจไทยปีหน้าโต 3.2% ส่วนปีนี้หั่นเหลือโต 2.7%  แนะผู้ประกอบการออนไลน์ใช้เครื่องมือใหม่ๆดึงดูดผู้บริโภคทั้ง Online Influencer และ e Logistics


ธนาคารกรุงไทยเปิดศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ซึ่งเป็นคลังสมองของธนาคาร วิเคราะห์เชิงลึกในด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม สร้างองค์ความรู้ที่นำไปต่อยอดทางธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเปิดเผยผลงานวิจัยที่ระบุว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะโต 3.2% โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ประเมิน กนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีหน้า เหตุเพราะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่มากและไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
 
 
 
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปรียบเสมือนคลังสมองของธนาคาร ในการทำหน้าที่วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจระดับมหภาคและแนวโน้มธุรกิจระดับอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุค Technology Disruption ตลอดจนเสนอแนะวิธีการหรือเครื่องมือที่สามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจและนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งธนาคารเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์กับลูกค้า ผู้ประกอบการ  นักลงทุน รวมทั้งภาคส่วนอื่นๆของเศรษฐกิจไทย
 
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS  ได้ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 3.2% สูงกว่าปี 2562 ที่เติบโต 2.7% เนื่องจากในปีหน้า เศรษฐกิจจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทั้งในส่วนของงบประมาณประจำปีและงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปเป็นแรงจูงใจให้เกิดการใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ประมาณการเศรษฐกิจไทยลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.6% เป็นเพราะความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่โต้ตอบรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ภาคการส่งออกยังต้องเผชิญกับอุปสรรค โดยมูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์จะขยายตัวเพียง 0.3% หลังจากที่หดตัว 1.8% ในปี 2562 ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับ WTO ที่ประเมินว่าการค้าโลกในปีหน้าจะขยายตัวเพียง 2.7%
 
“สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ทวีความเข้มข้นตลอดปี 2562 ส่งผลให้ภาพรวมของอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลงเรื่อยๆและในปี 2563 สิ่งที่บั่นทอนและเป็นความน่ากลัว คือความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันด้านการค้าและด้านเทคโนโลยี  ทั้งนี้แม้ว่าประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2563 จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา และมีความน่าจะเป็นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่คาดว่าจะไม่รุนแรง เพราะสหรัฐฯซึ่งเป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจโลก ไม่ได้เปราะบางเหมือนในอดีต ตลาดแรงงานยังแข็งแกร่ง ทำให้เฟดไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการรุนแรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จะเห็นนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกกลับมาผ่อนคลายมากเป็นพิเศษอีกครั้ง สำหรับประเทศไทยประเมินว่ากนง.จะไม่ลดดอกเบี้ยในปีหน้าแม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดต่ำกว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพราะการลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม ไม่อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก และไม่สามารถทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้”

 
ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้ากลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน KTB  เปิดเผยว่า เงินบาทสิ้นปีนี้ยังคงระดับไว้ที่ 30.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปีหน้าประเมินดอลลาร์จะอ่อนค่าจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงจากการเลือกตั้งและสงครามการค้า โดยศูนย์วิจัยฯประเมินทิศทางค่าเงินบาทใน 3 ระดับ ได้แก่ 1. หากการเจรจาสงครามการค้าถูกต่อรองด้วยอัตราแลกเปลี่ยน มีโอกาศที่เงินบาทจะแข็งค่าไปถึงระดับ 27.50 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้น 30%  2. หากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนดำเนินต่อไปไร้ที่สิ้นสุด เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงแตะระดับ 31.00 บาทต่อดอลลาร์  และ 3. หากสงครามการค้ากลายเป็นสงครามภาษีเต็มรูปแบบ เงินบาทจะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่โดยรวมเงินบาทในปีหน้ายังเคลื่อนไหวในกรอบ 29.00-30.00 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับตลาดหุ้นไทยสิ้นปีนี้คาดดัชนีจะอยู่ที่ 1,710 จุด จากเดิมคาด 1,800 จุด ผลจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลที่เข้ามาน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม 5 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าจะไหลเข้ามาเพียง 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น และ ปีหน้าจะไหลเข้ามากกว่า 1 แสนล้านบาท ส่วนปีหน้าคาดดัชนีอยู่ที่ 1,760 จุด ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ 1,850 จุด กำไรบริษัทจดทะเบียน เติบโต 3-5% จากเดิม 8% โดยกลุ่มที่ยังน่าลงทุนได้ คือ กลุ่มธนาคารและกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ส่วนกลุ่มที่หลีกเลี่ยง คือ กลุ่มเกษตรและ อิเล็กทรอนิกส์
 
 
ด้านดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า 5 เทรนด์ผู้บริโภคออนไลน์ ในปี 2563 ได้แก่ 1. เทรนด์ชีวิตติดเน็ต  จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่จะแตะระดับ 85%  2. เทรนด์ Gen C เมื่อโลกของผู้บริโภคเชื่อมต่อกัน และ 90%ของผู้บริโภคเลือกที่จะเชื่อข้อมูลจากคนรอบข้าง 3. เทรนด์สูงวัยแต่ใจออนไลน์ โดยกว่า 46% ซื้อของออนไลน์  4. เทรนด์โสดพร้อมเพย์ ที่ช้อปปิ้งมากกว่าคนมีครอบครัว 5. เทรนด์อยากกินต้องได้กินที่ทำให้การสั่งอาหารออนไลน์โตก้าวกระโดด ซึ่งผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือใหม่ๆในการดึงดูดผู้บริโภคเหล่านี้ เช่น การใช้ Online Influencer เพื่อทำการตลาดให้โดนใจ ตลอดจนเลือกใช้ผู้ให้บริการ e Logistics เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคด้านความสะดวก รวมทั้งส่งสินค้าได้หลากหลายและถูกกว่า 
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ต.ค. 2562 เวลา : 15:43:53
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 5:18 am