เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"พาณิชย์"เกาะติดสถานการณ์เบร็กซิทดีล เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการไทย


สหราชอาณาจักรและอียู บรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกอียูแล้ว เตรียมนำข้อตกลงเสนอรัฐสภายุโรปและรัฐสภาสหราชอาณาจักรเห็นชอบภายในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ย้ำช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปีนี้ สหราชอาณาจักรยังคงเป็นสมาชิกอียูและใช้กฎระเบียบของอียู ปูทางให้ภาคธุรกิจเเละพลเมืองสองฝ่ายมีเวลาปรับตัว รวมทั้งผู้ประกอบการไทยยังมีเวลาเตรียมความพร้อมด้วย


 
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าตามที่นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร (นายบอริส จอหน์สัน)และประธานกรรมาธิการยุโรป (นายฌ็อง-โคล้ด ยุงเคอร์) ได้ร่วมกันแถลงว่า สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป (อียู) สามารถบรรลุข้อตกลงฉบับใหม่ว่าด้วยการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากการเป็นสมาชิกอียูได้แล้ว เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 และจะต้องนำข้อตกลงดังกล่าวเสนอให้รัฐสภายุโรปและรัฐสภา สหราชอาณาจักรเห็นชอบ ภายในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ เพื่อให้ทันกำหนดที่สหราชอาณาจักรจะต้องออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 หากข้อตกลงฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่าย สหราชอาณาจักรก็จะสามารถออกจากการเป็นสมาชิกอียูได้แต่จะมีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเเยกตัวออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ สหราชอาณาจักรจะยังคงเป็นสมาชิกอียูและใช้กฎระเบียบของอียู ปูทางให้ภาคธุรกิจเเละพลเมืองทั้งสองฝ่ายมีเวลาในการปรับตัว รวมทั้งผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจกับสหราชอาณาจักรและอียูก็จะมีเวลาในการเตรียมความพร้อมเช่นกัน

นางอรมน เพิ่มเติมว่าหากรัฐสภาสหราชอาณาจักรไม่เห็นชอบข้อตกลงเนื่องจากยังมีสมาชิกรัฐสภาและพรรคการเมืองคัดค้าน สหราชอาณาจักรก็อาจมีทางเลือก คือ (1) ขอให้อียูขยายกำหนดเบร็กซิทออกไป เพื่อให้มีเวลาในการเจรจาจัดทำข้อตกลงถอนตัวที่เป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายแต่จะยืดเวลาไปแค่ไหน ทั้งสองฝ่ายคงต้องตกลงกัน ซึ่งไม่น่าจะขยายได้นานเกินไป หรือ (2) ออกจากการเป็นสมาชิกอียูแบบไม่มีข้อตกลง (no-deal Brexit) ในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ตามกำหนดเดิม ซึ่งที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรได้เคยประกาศว่า หากเกิด no deal ได้เตรียมที่จะยกเว้นการเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าจำนวนกว่าร้อยละ 87 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น จิวเวลรี่ ชิ้นส่วนยานยนต์ แว่นตา อาหารปรุงแต่ง ยางรถยนต์ เครื่องสำอาง และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ให้กับประเทศต่างๆรวมทั้งอียูแต่จะยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับสินค้าอีกร้อยละ 13 ของรายการสินค้าทั้งหมด เช่น ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) เนื้อหมู เนื้อแกะ ข้าว น้ำตาล เซรามิก รถยนต์ เอธานอล เนยและชีส เป็นต้น เป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเวลาปรับตัวและส่งผลกระทบผู้บริโภคน้อยที่สุด ซึ่งผู้ประกอบการและส่งออกของไทย ควรแสวงโอกาสจากการยกเว้นภาษีดังกล่าว และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับสินค้าส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าศักยภาพของไทย เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ของทำด้วยพลาสติก และจิวเวลรี่ เป็นต้น  

ทั้งนี้ในปี 2561สหราชอาณาจักรนำเข้าสินค้าจากไทยมูลค่า 3,963 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม เช่น จิวเวอรี่ ฮาร์ดดิสก์ ชิ้นส่วนยานยนต์ กระสอบและถุงทำจากพลาสติก วงจรพิมพ์ เครื่องเงิน แว่นตา เครื่องสำอางค์ ยางรถยนต์ เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบของเครื่องพิมพ์ เป็นต้น สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการนำเข้าจากไทยมูลค่าสูงเป็นสินค้าโควตาภาษี เช่น ข้าว ไก่แปรรูป พาสต้า ซอส และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 ต.ค. 2562 เวลา : 13:56:51
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 6:57 am