หุ้นทอง
เอเซียพลัสให้น้ำหนัก"กลุ่มสื่อสาร"เท่ากับตลาดหลังต้นทุนคลื่นใหม่ไม่สูง


สำหรับราคาตั้งต้นประมูลคลื่น 2600 MHz และ 26 GHzของกสทช. ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญของผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ ทั้ง ADVANC, DTAC, TRUE ตอนนี้ต้องถือว่าเป็นข่าวดีของหุ้นกลุ่มนี้ เพราะราคาตั้งต้นประมูลใหม่ “ไม่สูง”

  
ล่าสุดกสทช.เปิดเผยราคาตั้งต้นประมูลคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz ค่อนข้างถูก ราคาเริ่มต้น 2600 MHz จำนวน 190 MHz เริ่มใบละ 1.86 พันล้านบาท (19 ใบอนุญาต ใบละ 10 MHz) ส่วนคลื่น 26 GHz จำนวน 2700 MHz เริ่มใบละ 300 ล้านบาท (27 ใบอนุญาตใบละ 100 MHz) อายุใบอนุญาตอยู่ที่ 15 ปี กำหนดเงื่อนไขชำระเงินผ่อนคลายอีกเช่นกัน คือ จ่ายปีที่ 1 ที่ 10% ปีที่ 2-4 ไม่ต้องจ่าย และปีที่ 5-10 ปีละ 15% อีกทั้งเงื่อนไขการลงทุนโครงข่าย 5G ก็เป็นค่อยเป็นค่อยไป เฉพาะพื้นที่ EEC ในปีแรกและจังหวัดที่เป็นสมาร์ท ซิตี้ใน 4 ปี
 
โดยทั้ง 2 คลื่นดังกล่าวจะเปิดประมูลพร้อมกับอีก 2 คลื่นที่เคยจัดสรรไปแล้วและยังเหลืออยู่ ซึ่งจะอิงราคาที่จัดสรรไปแล้ว คือ 700 MHz จำนวน 15x2 MHz แบ่ง 3 ใบอนุญาต ใบละ 8.7 พันล้านบาท และ 1800 MHz จำนวน 35x2 MHz แบ่ง 7 ใบอนุญาต ใบละ 1.2 หมื่นล้านบาท กสทช.กำหนดจัดประมูลเดือนก.พ.2563
 
 
ดังนั้นฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส หรือ ASP มองว่าคลื่นที่ผู้ประกอบการน่าจะสนใจ คือ 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งราคาสมเหตุสมผลและเป็นคลื่นที่ยังไม่เคยมี ราคาต่อ MHz ต่อปีของคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz อยู่ที่ 12.4 และ 0.2 ล้านบาท ต่ำกว่าคลื่น 4G ที่กสทช.ประมูลถึง 3 เท่าตัว คือคลื่น 900 และ 1800 MHz ที่ 253 และ 76.7 ล้านบาท
 
แม้ผู้ประกอบการจะต้องใช้คลื่น 5G สูงกว่า 4G ราว 20 เท่าตัว และคลื่นส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะมาจากคลื่นความถี่สูง 26 GHz ที่มีราคาถูก ก็เชื่อว่าต้นทุนคลื่นชุดใหม่จะถูกลง โดยหากกำหนดให้ทั้ง 3 ค่ายมือถือแบ่งคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz เท่าๆกันที่ 6 และ 9 ใบให้ราคาประมูลเท่าราคาตั้งต้น เนื่องจากเชื่อว่าการแข่งขันไม่สูง
 
 
 
ดังนั้นจึงคาดว่าต้นทุนคลื่นต่อรายที่ราว 1.38 หมื่นล้านบาทบวกกับคลื่น 700 MHz ที่จัดสรรและรวมในประมาณการแล้ว ต้นทุนคลื่นสำหรับ 5G ต่อรายจะเหลือราว 3.14 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 4G ที่ 9.8 หมื่นล้าน จากส่วนการลงทุนโครงข่ายคาดว่าทุกรายจะยังลงทุนตามเงื่อนไขไปก่อนจนกว่าธุรกิจ 5G จะมากพอ
 
หากอิงสมมติฐานอายุคลื่น 15 ปี ต้นทุนคลื่นนอกประมาณการให้เพิ่มไม่เกินรายละ 1 พันล้านบาทต่อปี รวมต้นทุนของทั้ง 3 ราย จะสร้าง Downside ต่อกำไรกลุ่มสื่อสารจำกัดไม่เกินราว 5% แม้มีโอกาสชดเชยได้ จากการแข่งขันที่บรรเทา แต่ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส รวมอยู่ในประมาณการแล้ว
 
ผู้ที่จะเติบโตได้ จึงต้องมีปัจจัยเฉพาะตัวอื่นๆ ซึ่งฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส มองว่าผู้ที่เข้าข่าย คือ ADVANC ที่จะมีต้นทุนค่าเช่าอุปกรณ์กับ TOT ลดลงเต็มปีในปี 2563 ขณะที่ DTAC และ TRUE ไม่มีปัจจัยเฉพาะตัวมาช่วยลดภาระต้นทุนคลื่นใหม่ กำไรในปี 2563 จึงเสี่ยงลดลง yoy
 
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส จึงให้น้ำหนักลงทุนกลุ่มสื่อสารเท่ากับตลาดจะติดตามเงื่อนไขประมูลคลื่นใหม่อย่างเป็นทางการและท่าทีผู้ประกอบการก่อนรวมในประมาณการ จึงยังเน้น Selective Buy หุ้น ADVANC, INTUCH ที่คาดหวังการเติบโตได้ชัดเจนกว่ารายอื่น ส่วน DTAC และ TRUE แนะนำ Switch

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 31 ต.ค. 2562 เวลา : 17:57:28
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 4:19 am