การศึกษา-สิ่งแวดล้อม-สาธารณสุข
ศธ.นำร่องโรงเรียนสองภาษากว่า 2 พันโรง ปี63


“รมว.ศธ.” ระบุปี 2563 นำร่องโรงเรียนสองภาษากว่า 2,000 โรงเรียน เริ่มตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ส่วนปีการศึกษา 2564 เตรียมงบฯรองรับหนุนโครงการนี้ต่อเนื่องแล้ว เป้าหมายเพื่อวางรากฐานทักษะภาษาเด็กไทยให้ดีขึ้น รองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว หลังนานาชาติ-ไอเอ็มเอฟ มั่นใจไทยมีศักยภาพ


 
 
 
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.)เปิดเผยว่าตามที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 โดยหลายประเทศได้พูดถึงประเทศไทยว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ได้มีการพูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่ได้พูดถึงปัญหาที่ประเทศไทยจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข เช่น เรื่องการจัดการศึกษาที่ยังต้องปรับปรุง เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ที่กำลังดำเนินการพัฒนาเรื่องดังกล่าวอยู่

“ทั้งนี้ ศธ.หวังว่าการวางรากฐานด้านการศึกษาในเรื่องต่างๆ จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานได้ เพราะในอนาคตประเทศจะต้องเตรียมตัวเรื่องการลงทุนที่จะมีเพิ่มมากขึ้นจากการเปิดประเทศ ดังนั้นคนของเราก็จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในทุกๆด้าน ทั้งทักษะอาชีพและทักษะด้านภาษา” รมว.ศธ.กล่าว

นอกจากนี้ รมว.ศธ.ยังกล่าวอีกว่าสำหรับการพัฒนาทักษะด้านภาษานั้น ตนตั้งใจว่าในระยะเวลาสั้น โรงเรียนประจำอำเภอจะต้องสอน 2 ภาษา ซึ่งในปัจจุบันก็มีหลายโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้แต่อาจจะยังขาดความเข้มข้น ไม่สามารถเห็นผลเชิงประจักษ์ได้

“หากมีการจัดสรรงบประมาณลงทุนไปในส่วนของการสอนภาษาที่ 2 มากขึ้น จะส่งผลให้การวางฐานเรื่องทักษะภาษาของเราดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากงบฯของ ศธ.ที่มีในปัจจุบันยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ในทุกโรงเรียนทั่วประเทศ แต่ผมจะพยายามที่จะขับเคลื่อนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” รมว.ศธ. กล่าว
 
 

 
 
รมว.ศธ. ย้ำว่าการขับเคลื่อนโครงการนี้จะเริ่มที่กลุ่มโรงเรียนประจำอำเภอ ประมาณ 2,000 แห่ง ในปีภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ก่อน ซึ่งจะจัดการเรียนการสอน 2 ภาษา ตั้งแต่ชั้นปฐมวัยเป็นต้นไป ส่วนการดำเนินงานในปีการศึกษา 2564 ได้เตรียมงบฯเพื่อรองรับเรื่องนี้แล้ว ส่วนของอาชีวศึกษาก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะอาชีพ และทักษะภาษาควบคู่กันไป ซึ่งเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)จะสรุปข้อมูลการจัดกลุ่มวิทยาลัยให้เข้ากับกลุ่มธุรกิจต่างๆ มาให้ตนเองดู เพื่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมที่มีคุณภาพในแต่ละสายงานให้เป็นหลัก ส่วนการจัดวิทยาลัยจะมองถึงบริบทในพื้นที่ด้วย เพราะต้องมีสถานที่ฝึกงานที่ใกล้เคียง ซึ่งจะเป็นการใช้งบฯที่ตรงกับความต้องการ และยังสามารถผลิตแรงงานได้อย่างมีคุณภาพ
 
 

 
 
จากข้อมูลดัชนีความสามารถภาษาอังกฤษคนไทยร่วงต่อเนื่อง 3 ปี โดยอยู่ในระดับต่ำมาก (Very Low Proficiency) ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 74 ของโลก แม้ดีกว่ากัมพูชาและเมียนมาแต่ด้อยกว่า มาเลเซีย จีน เวียดนาม ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย หากเทียบเป็นรายภาคของประเทศไทย ภาคเหนือและภาคกลางจะมีความสามารถทางภาษาอังกฤษ สูงกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เล็กน้อย ขณะที่กรุงเทพฯมีความเชี่ยวชาญทักษะภาษาอังกฤษมากที่สุดของประเทศ รองลงมาคือ นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรีและขอนแก่น ตามลำดับ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 พ.ย. 2562 เวลา : 19:27:15
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:02 am