แบงก์-นอนแบงก์
"กลุ่มธนชาต"อาณาจักรแห่งความแข็งแกร่ง


หากเอ่ยชื่อ “ธนชาต”คนส่วนใหญ่จะนึกไปถึงธนาคารธนชาต ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ ซึ่งกำลังจะรวมกิจการกับธนาคารทีเอ็มบี กลายเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมีสินทรัพย์รวมแตะ 2 ล้านล้านบาท ให้บริการลูกค้ากว่า 10 ล้านราย


การนำธนาคารธนชาตไปรวมกิจการกับทีเอ็มบีถือเป็นกลยุทธ์เหนือชั้นของ บมจ.ทุนธนชาต หรือ TCAP ซึ่งเป็น Financial Holding Company ชั้นนำของไทย ที่ใช้เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างมั่นคงในระยะยาว โดย TCAP จะได้รับประโยชน์และส่วนแบ่งจากการเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารหลังการรวมกิจการที่มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีศักยภาพในการเติบโตและทำกำไรได้มากขึ้นในอนาคต

ธนชาตเล็งเห็นศักยภาพของการรวมกิจการ
การรวมกิจการครั้งนี้ TCAP เล็งเห็นศักยภาพและจุดแข็งจากทั้งสองธนาคาร ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วจะเป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เกือบเท่าตัว มีสินทรัพย์รวมกันเกือบ 2 ล้านล้านบาท มีโครงสร้างทางธุรกิจและความชำนาญซึ่งเสริมรับซึ่งกันและกัน ธนาคารใหม่ที่เกิดขึ้นจากการรวมกันของทั้ง 2 ธนาคาร ก็จะเป็นธนาคารที่มีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเป็นประมาณ10 ล้านคน มีความทับซ้อนกันไม่ถึง 10% ซึ่งถือเป็นโอกาสทางการตลาดที่ใหญ่ขึ้น กว้างขวางขึ้น มีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นจากความเก่งของทั้ง 2 ธนาคารที่จะรวมกัน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกฐานลูกค้าทั่วประเทศ ทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนทางธุรกิจที่สูงขึ้น เป็นประโยชน์ทั้งผู้ถือหุ้น ลูกค้า พนักงาน รวมถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม

ดึงจุดแข็ง 2 ธนาคาร มอบประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า
การรวมกิจการเป็นธนาคารใหม่ครั้งนี้จะนำไปสู่การยกระดับการให้บริการที่ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ ทุกกลุ่มลูกค้าที่จะได้รับประโยชน์และการให้บริการที่ดีที่สุด เนื่องจากมีการผนึกกำลังความเชี่ยวชาญ และจุดแข็งที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะธนาคารธนชาตที่เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ และทีเอ็มบีซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการระดมเงินฝาก ส่งผลให้การบริหารจัดการต้นทุนในการทำธุรกิจเกิดประสิทธิภาพรวมถึงโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นจากฐานลูกค้าที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า คู่ค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ธนชาตไม่ได้มีดีแค่ธนาคาร
ศักยภาพของกลุ่มธนชาตที่มี ทุนธนชาต (TCAP) เป็นบริษัทแม่ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงธุรกิจธนาคารพาณิชย์เท่านั้น ยังมีบริษัทลูกอีกหลายบริษัทที่ธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลมายังความสามารถในการทำกำไรที่ยั่งยืนให้กับ TCAP

เมื่อดูถึงผลประกอบการ TCAP มีผลการดำเนินงานจากธนาคารธนชาตและในบริษัทย่อย โดยในปี 2561 TCAP และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม จํานวน 15,806 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน ขณะที่กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของ TCAP มีจำนวน 7,839 ล้านบาท เติบโต 11.97% จากปีก่อนหน้า

ในขณะที่ผลประกอบการล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2562 TCAP และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิตามงบการเงินรวม จำนวน 4,616 ล้านบาท โดยเป็นกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทฯ จำนวน 2,472 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 573 ล้านบาท หรือ 30.17% จากไตรมาสก่อน ในส่วนของงวด 9 เดือน กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทฯ มีจำนวน 6,387 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความสำเร็จในการดำเนินกลยุทธ์ของธนาคารธนชาตซึ่งเป็นบริษัทลูกของ TCAP ที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) โดยมุ่งเน้นในการเป็นธนาคารหลัก (Main Bank) ของลูกค้า ทำให้ธนาคารธนชาตมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะไตรมาสนี้ที่ธนาคารฯ สามารถสร้างกำไรสุทธิที่สูงเป็นสถิตินิวไฮได้ด้วย

TCAP แข็งแกร่ง เสริมศักยภาพธนาคารใหม่แข็งแกร่ง
หลังรวมกิจการ (ธ.ธนชาตรวมทีเอ็มบี) TCAP จะถือเป็น 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารใหม่นี้ ด้วยสัดส่วนที่มากกว่า 20% และด้วยความแข็งแกร่งของ TCAP จะส่งผลถึงความแข็งแกร่งให้ธนาคารใหม่นี้ ขณะที่โครงสร้างการลงทุนของ TCAP จะมีการปรับเปลี่ยนภายหลังการรวมกิจการของธนาคารใหม่ โดยการลงทุนด้วยการถือหุ้นของ TCAP ในบริษัทต่างๆ จะประกอบด้วย ธนชาตประกันภัย 51% บล.ธนชาต 51 % ราชธานีลิสซิ่ง 65.2% (ถือผ่านนิติบุคคล-SPV) บริษัทบริหารสินทรัพย์ เอ็นเอฟเอส 100%บริษัทบริหารสินทรัพย์ แม็กซ์ 83.4% บริษัทบริหารสินทรัพย์.ทีเอส 100% เอ็มบีเคไลฟ์ประกันชีวิต 51% อีกทั้งยังมีเงินลงทุนในบริษัทร่วม อย่าง เอ็ม บี เค และ ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี ในสัดส่วน 19.9% และ 19.6% ตามลำดับ

ดังนั้นผลการดำเนินงานของ TCAP ยังจะคงมีรายได้ที่ดีจากธุรกิจที่หลากหลาย แม้ธนาคารธนชาตไปรวมกิจการกับทีเอ็มบีแล้ว สะท้อนจากผลการดำเนินงานในปี 2561 ที่บริษัทลูกต่างโชว์ผลประกอบที่ดี เช่น ธนชาตประกันภัยมีกำไร 1,042 ล้านบาท ราชธานีลิสซิ่ง มีกำไร 1,641 ล้านบาท บล.ธนชาต มีกำไร 593 ล้านบาท บบส.ทีเอส มีกำไร 237 ล้านบาท บบส.แม๊กซ์ มีกำไร 201 ล้านบาท

MBK 1 ในการลงทุนของ TCAP กับธุรกิจที่กำลังเติบโต
นอกเหนือจากการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเงินแล้ว เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า TCAP ยังมีการลงทุนในธุรกิจแขนงอื่นๆ ด้วย เช่น ใน บมจ.เอ็ม บี เค ที่ถืออยู่เกือบ 20% MBK เป็น 1 ในบริษัทชั้นนำของประเทศ มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ประกอบด้วย ธุรกิจศูนย์การค้า ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร ธุรกิจการเงิน ธุรกิจกอล์ฟ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจอื่นๆ โดยผลประกอบการของ MBK ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีสินทรัพย์รวม 4.9 หมื่นล้านบาท มีกำไร 2,881 ล้านบาท และที่น่าสนใจ MBK ยังถือหุ้นอยู่ใน บริษัทสยามพิวรรธน์ 47.98 % โดยสยามพิวรรธน์ เป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์การค้าของประเทศ มีศูนย์การค้าที่เรียกได้ว่าเป็นระดับแลนด์มาร์คของประเทศทั้ง ไอคอนสยาม สยามพารากอน รวมถึง ศูนย์การค้าที่อยู่ในทำเลทอง เช่น สยามดิสคัฟเวอรี สยามเซ็นเตอร์

TCAP รวมขุนพลการเงินของไทย
ภายใต้คณะกรรมการของ TCAP ที่มีวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผู้บริหารมากความสามารถที่อยู่ในวงการการเงินการธนาคารมาอย่างยาวนาน นำโดย นายบันเทิง ตันติวิท ประธานกรรมการ นายศุภเดช พูนพิพัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ที่นำพาธนชาตสู่การเติบโตอย่างความมั่นคงมาตลอด
กว่า 40 ปี และผ่านพ้นหลายสภาวะวิกฤติการเงินของประเทศมาแล้ว จะยังคงสามารถรักษาให้ธนชาตเป็นบริษัทระดับแถวหน้าของประเทศได้อีกยาวนาน

TCAP ยังคงศักยภาพเติบโตสูง
เมื่อมองในภาพรวมแล้ว TCAP ถือเป็นบริษัทที่มีศักยภาพเติบโตสูง ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในธนาคารธนชาตและบริษัทย่อย การดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ Active อย่างต่อเนื่องหรือธุรกิจอื่นๆ ที่ช่วยสร้างกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากการรวมกิจการระหว่าง ธนาคารธนชาต และ ทีเอ็มบี เสร็จสมบูรณ์ ธนาคารใหม่นี้จะมีความสามารถในการเติบโตทางธุรกิจและสร้างผลกำไรที่ดีขึ้น ซึ่งผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นนี้จะสะท้อนมาสู่ TCAP อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากTCAP เป็น 1 ในผู้ถือหุ้นใหญ่ เมื่อผนวกกับผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัทลูก รวมถึงการลงทุนในแขนงอื่นๆ TCAP จึงยังคงมีแนวโน้มที่จะมีผลการดำเนินงานที่ดีและสามารถเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไปในอนาคต

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 พ.ย. 2562 เวลา : 18:59:15
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:35 am