แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทยจับมือจุฬาฯ เนคเทค พัฒนาสุดยอดโปรแกรมคิดและเข้าใจข้อความภาษาไทย


กสิกรไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย NECTEC และ KBTG ทำวิจัยเรื่องการประมวลผลภาษาธรรมชาติซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างในการสื่อสารภาษาธรรมชาติระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ซึ่งการวิจัยในเรื่องนี้มีความโดดเด่นในการสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้ และวิเคราะห์ภาษาที่ซับซ้อนต่าง ๆ ได้ใกล้เคียงกับมนุษย์ ตั้งแต่ระดับคำ ระดับประโยค จนถึงระดับข้อความที่เราใช้สื่อสารกัน และหวังเป็นต้นแบบให้หน่วยงานรัฐหรือเอกชนนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศชาติ


 
 
 
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าธนาคารกสิกรไทยร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค (NECTEC) และบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) พัฒนาโปรแกรมการประมวลผลทางภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) หรือ NLP ซึ่งเป็นการพัฒนานวัตกรรมการประมวลผลภาษาไทยซึ่งเรียกว่า Thai NLP ในส่วนของภาษาทางการเงินการธนาคารและธุรกิจ ทั้งนี้คอมพิวเตอร์ AI จะฉลาดไม่ได้เลยถ้าไม่มีเทคโนโลยี NLP ที่แปลภาษามนุษย์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว องค์ประกอบหลักจึงเป็นเรื่องของภาษาและคอมพิวเตอร์ และสำหรับภาษาไทยนั้นคงไม่มีใครเข้าใจได้ดีเท่าคนไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากรที่มีความแข็งแกร่งทั้งทางด้านภาษาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ ในขณะที่ เนคเทค เป็นสถาบันวิจัยด้านเทคโนโลยีที่มีความเชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และทำการวิจัยเรื่องนี้มายาวนาน ส่วนธนาคารกสิกรไทยก็เป็นผู้นำด้านธุรกิจการเงินการธนาคารที่พร้อมสนับสนุนข้อมูลเพื่อให้งานวิจัยออกมาใช้ได้จริงกับภาคธุรกิจ เกิดเป็นความสำเร็จในการพัฒนา Thai NLP ครั้งนี้ ซึ่งธนาคารได้มีการทดลองใช้งานระยะเวลาหนึ่งแล้ว จึงได้เห็นความก้าวหน้าของความสามารถในการแปลความหมายของภาษาไทยในเชิงลึกได้แม่นยำมากขึ้น อันจะเป็นต้นแบบในการนำไปพัฒนาต่อยอดใช้งานสำหรับธุรกิจธนาคารและองค์กรอื่น ๆ ต่อไป

สำหรับธนาคารกสิกรไทยได้มีการนำ Thai NLP นวัตกรรมการประมวลภาษาไทยเข้ามาใช้เพื่อสร้างความสามารถให้คอมพิวเตอร์ทำความเข้าใจข้อความที่ลูกค้าพิมพ์เข้ามาในระบบต่าง ๆ เพื่อการให้บริการและตอบคำถามลูกค้าโดยแชทบอทบนช่องทางโซเชียลมีเดียให้มีความถูกต้องแม่นยำและรวดเร็วได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งการประมวลผลเพื่อทำความเข้าใจลูกค้าอย่างลึกซึ้ง (Customer Insight) จากการเก็บความเห็นลูกค้าซึ่งแต่ก่อนธนาคารต้องจ้างบริษัทภายนอกดำเนินการเพื่อทำการวิจัยซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาทและได้ความเห็นลูกค้าในปริมาณไม่มาก ปัจจุบันธนาคารสามารถเก็บความเห็นลูกค้าได้ครอบคลุมทั้งฐานของธนาคารในช่องทางต่าง ๆ ในเวลาอันรวดเร็วและนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้า ตัวอย่างธุรกิจในต่างประเทศที่นำ NLP มาใช้ ก็มี E Market Place ในจีนที่ใช้ NLP มาช่วยประมวลผลสิ่งที่ลูกค้าพูด เขียน และอ่าน เป็นส่วนประกอบการนำเสนอสินค้าที่ตรงใจลูกค้า หรือใช้แชทบอทแทนพนักงานในการแนะนำสินค้าและบริการหลังการขาย

เมื่อ Thai NLP สามารถพัฒนาให้คอมพิวเตอร์ฉลาดได้ธนาคารจะมี Virtual Assistant ที่จะสามารถเป็นเพื่อนกับลูกค้าคอยช่วยเหลือลูกค้าให้ได้รับบริการที่เกินความคาดหวังและได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เราเห็นว่าในอนาคต NLP จะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจทั้งของธนาคารและธุรกิจอื่น ๆ ได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยวิเคราะห์และจัดการเอกสาร และองค์ความรู้ของธนาคาร ช่วยคัดกรองผู้สมัครเข้าทำงานกับธนาคาร สรุปเนื้อหาสำคัญที่จำเป็นต่อการอนุมัติสินเชื่อออกมาจากเอกสารประกอบการขอสินเชื่อรวมถึงยังสามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบเอกสารสัญญาและธุรกรรมต่างๆได้ในอนาคต

ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่างานวิจัย Thai NLP เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ต่างจากภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก เพราะลักษณะภาษาไทยมีความซับซ้อน ทั้งสระ วรรณยุกต์ ความหมายในการใช้งานก็มีความแตกต่างกัน รวมถึงมีคำใหม่เกิดขึ้นเสมอตามการใช้งานแต่ละสมัย โดยเฉพาะปัจจุบันภาษาไทยที่ใช้ในโซเชียลมีเดีย เช่น ภาษาไทยที่ใช้ในทางการเงินการธนาคารก็มีความเฉพาะแตกต่างจากภาษาในภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงภาษาทางราชการก็ต่างจากภาษาที่เราใช้ในชีวิติประจำวัน

ศ.ดร.บัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่าในด้านการศึกษาเกี่ยวกับงานวิจัย Thai NLP ในไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็เป็นหนึ่งในสถาบันการศึกษาที่มีความสนใจเรื่องนี้ ปัจจุบันคนที่สนใจ Thai NLP และ AI ในไทยเริ่มมีมากขึ้น เพราะเรื่องนี้เป็นงานที่เติบโตทั่วโลก แต่ถึงเราจะมีคนสนใจมากขึ้นกว่าเดิมมากแต่เมื่อเทียบกับสากลแล้วนักวิจัยไทยในด้านนี้ก็ยังน้อยอยู่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเน้นสร้างนักวิจัยใหม่ ๆ กระตุ้นให้มีคนมาสนใจงานด้านนี้มากขึ้น ซึ่งทางจุฬาฯ มีการสอนเรื่องนี้อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีอาจารย์รุ่นใหม่ ๆ ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนางานวิจัยหลายคน ธนาคารเองก็ให้ความสนับสนุนในเรื่องทุนการศึกษากับทางมหาวิทยาลัย รวมถึงให้นักศึกษาได้ใช้ข้อมูล และ Open API ที่เกิดจากงานวิจัยนี้ ในส่วนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรามองกระบวนการพัฒนาที่เป็นระบบและยั่งยืน งานวิจัยต้องตอบโจทย์ทั้งในด้านบุคลากรที่มีทักษะในการตอบสนองต่อกระแสความผันผวนในยุคใหม่ และเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมได้จุฬาฯ ได้จัดตั้ง School of Integrated Innovation ที่มีพันธกิจในการผลิตบุคลากรยุคใหม่ที่มีทักษะที่เหมาะสมที่จะสามารถสร้างสรรค์งานนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ และได้มีการจัดตั้ง University Technology Center ที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมโยงนักวิจัยของจุฬาฯ กับภาคอุตสาหกรรมในการนำงานวิจัยเชิงลึก หรือ deep tech มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมไทย และมีหน่วย CU Enterprise เพื่อบ่มเพาะการพัฒนาให้นวัตกรรมของงานวิจัยเป็นผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของ Startup ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานจะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาประเทศ

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ( เนคเทค-สวทช.) กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ก่อตั้งเนคเทคขึ้นมา เนคเทคให้ความสำคัญและพัฒนางานวิจัยด้าน Thai NLP มาตลอด การสร้างความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นก้าวสำคัญระหว่างองค์กรภาคธุรกิจและหน่วยงานภาครัฐในการสร้างความเข้มแข็งของ Thai NLP ให้เป็นนวัตกรรมที่ทันต่อยุคสมัย AI ในปัจจุบัน หนึ่งในกลุ่มธุรกิจที่นำ Thai NLP มาประยุกต์ใช้ได้แก่ กลุ่มธนาคาร ซึ่งธนาคารเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลหลากหลายและมีภารกิจสำคัญในการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและต้องมีความรวดเร็ว เนคเทค-สวทช. ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในฐานะหน่วยงานวิจัยของประเทศ มีนโยบายและให้ความสำคัญกับการสนับสนุนเพื่อสร้างงานวิจัยไปสู่การใช้งานจริง

ล่าสุดเนคเทค-สวทช. ได้เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการ AI ในชื่อว่า AI FOR THAI รองรับการประมวลผลภาษาไทย เสียง และรูปภาพ อาทิ การวิเคราะห์ความคิดเห็น (Sentiment Analysis) การสร้างแชทบอท (chat bot) การแปลเสียงพูดให้เป็นข้อความ (Speech To Text) การแปลข้อความให้เป็นเสียงพูด (Text To Speech) การวิเคราะห์ภาพ ใบหน้าและวัตถุ (Face & Object Recognition) นักพัฒนาโปรแกรมสามารถเข้ามาทดลองใช้งานและร่วมพัฒนาบริการใหม่ ๆ เพื่อมาวางบนแพล็ตฟอร์ม AI FOR THAI ต่อไปได้ และแน่นอนว่าองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่ทาง KBTG วิจัยพัฒนาร่วมกับเนคเทค-สวทช. ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะโดยผ่านแพล็ตฟอร์ม AI FOR THAI เพื่อให้ AI ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในประเทศไทยต่อไป

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ธ.ค. 2562 เวลา : 21:06:04
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 2:06 pm