แบงก์-นอนแบงก์
EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ ช่วย SMEs แบกรับต้นทุน ลดภาระหนี้ เข้าถึงเงินทุนปรับปรุงกิจการส่งออก


EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ ช่วย SMEs แบกรับต้นทุน ลดภาระหนี้ เข้าถึงเงินทุนปรับปรุงกิจการส่งออก รองรับความผันผวนเศรษฐกิจโลกปี 2563


 
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกที่ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปีอยู่ที่ 3.0% และ 1.1% ตามลำดับ ในปี 2562 เงินเฟ้อและดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้การค้าขายไปต่างประเทศประสบความยากลำบาก ประกอบกับคู่แข่งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจากการที่ประเทศตลาดใหม่สร้างฐานการผลิตได้เองหรือมีแรงงานผันตัวเป็นผู้ประกอบการมากขึ้น รวมทั้งการค้าทางออนไลน์ทำได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องแบกรับต้นทุนในการดำเนินกิจการ และยังมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานสากลที่มีข้อกำหนดเพิ่มมากขึ้นให้สามารถแข่งขันได้ ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ
 
 
 
 
ดังนั้น EXIM BANK จึงออก “มาตรการ EXIM เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก” และ “มาตรการ EXIM ลดภาระในการชำระหนี้” เพื่อช่วยผู้ส่งออก SMEs ทั้งลูกค้าใหม่และลูกค้าปัจจุบันของ EXIM BANK ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ให้มีสภาพคล่องมากขึ้นสำหรับนำไปใช้ในกิจการและได้รับการบรรเทาภาระในการชำระหนี้ในภาวะที่อาจได้รับคำสั่งซื้อลดลง แต่ยังคงมีภาระของต้นทุนคงที่ที่กิจการต้องจ่ายทุกเดือน หรือเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา ก็สามารถนำมาเบิกใช้สินเชื่อหมุนเวียนได้ รวมทั้งใช้ในการปรับปรุงสินค้าและบริการให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมที่จะแข่งขันท่ามกลางตลาดโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในปี 2563

มาตรการ EXIM เสริมสภาพคล่องผู้ส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออก ผู้นำเข้าเพื่อผู้ผลิตในการส่งออก และผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก สามารถเลือกได้ที่จะใช้วงเงินกู้ระยะยาวหรือวงเงินกู้ระยะสั้น สำหรับนำไปลดภาระการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องกิจการให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับดำเนินธุรกิจส่งออก หรือปรับปรุงเครื่องจักร โรงงาน เทคโนโลยีการผลิต เป็นต้น วงเงินสูงสุด 20 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลาชำระคืนสูงสุด 7 ปี อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-2 เท่ากับ 3.99% ต่อปี สามารถใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นหลักประกันร่วมกับหลักประกันอื่น ๆ ได้ ฟรีค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อผ่าน บสย. สูงสุด 4 ปี เป้าหมายวงเงินอนุมัติ 2,000 ล้านบาท

มาตรการ EXIM ลดภาระในการชำระหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า SMEs ของ EXIM BANK ที่ยังไม่ต้องการวงเงินเพิ่ม แต่ต้องการลดภาระในการผ่อนชำระหนี้รายงวดที่มีกับ EXIM BANK ทั้งเงินกู้ยืมระยะยาวและเงินกู้ยืมระยะสั้น โดยลูกค้าที่มีวงเงินกู้ยืมระยะยาวจะขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 2 ปี กรณีขยายระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับอัตราดอกเบี้ยลดลงจากเดิม 0.125% ต่อปี ส่วนลูกค้าที่มีวงเงินกู้ยืมระยะสั้นจะได้รับการเพิ่มสัดส่วนการเบิกกู้และลดอัตราดอกเบี้ย โดยเบิกกู้ได้เพิ่มสูงสุด 95% ของมูลค่า L/C และ 85% ของมูลค่า P/O พร้อมลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.125% ต่อปีเป็นระยะเวลา 1 ปี มีวงเงินสนับสนุน 4,000 ล้านบาท

ทั้งสองมาตรการมีระยะเวลาให้บริการตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 ถึง 31 ธันวาคม 2563 คาดว่าจะช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ราว 15,700 ล้านบาท ช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบ 5,200 ราย เพิ่มสภาพคล่องและบรรเทาภาระหนี้ของผู้ส่งออก SMEs ได้กว่า 750 ราย ช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ในห่วงโซ่มูลค่าการส่งออก (Export Value Chain) ได้รับการบรรเทาภาระหนี้และต้นทุนการดำเนินกิจการ รวมทั้งใช้โอกาสนี้ปรับปรุงสินค้าและบริการเพื่อให้การส่งออกแข่งขันได้ดีขึ้นในอนาคต

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เปิดเผยว่าปัจจุบันที่การส่งออกของประเทศในหลายภูมิภาคทั่วโลกมีทิศทางหดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและผลพวงจากสงครามการค้า การส่งออกของไทยปี 2562 ก็มีแนวโน้มจะหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปี โดยคาดว่าจะหดตัว 2.0% แต่การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าอีกหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ที่ตั้งแต่ต้นปี 2562 หดตัว 10.7% อินโดนีเซียหดตัว 7.8% มาเลเซียหดตัว 5.0% ญี่ปุ่นหดตัว 4.6% และคาดว่าการส่งออกของไทยในปี 2563 น่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งที่ 0-2%
 
 
 
 
 
EXIM BANK จึงได้ออกมาตรการในปลายปี 2562 นี้ เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการส่งออก ยังคงมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะประคองกิจการและไม่หยุดพัฒนากิจการให้เติบโตยิ่งขึ้น สามารถแข่งขันได้ภายใต้มาตรการทางการค้าต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ภาคการส่งออกไทยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2563 โดยอาศัยจุดแข็ง 3 ประการ ได้แก่
 
1. ศักยภาพของสินค้าไทยที่ทนต่อแรงเสียดทานจากความไม่แน่นอนได้ดี ทั้งสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป ที่ได้มาตรฐานสากล และสินค้าที่ตอบสนองเมกะเทรนด์โลก รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ในแต่ละช่วงวัยได้ อาทิ สินค้าเครื่องสำอาง เครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ เภสัชภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์
 
2. การกระจายตลาด ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยสร้างสมดุลการส่งออกไปตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ได้ดี ทำให้สินค้าไทยบางรายการได้อานิสงส์จากการแทนที่สินค้าจีน อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และของใช้ในครัวเรือน ขณะที่สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอาหารของไทยสามารถเข้าตลาดญี่ปุ่นได้มากขึ้น รวมทั้งเพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของญี่ปุ่นในปี 2563 ขณะเดียวกันไทยก็มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 50%ไปตลาดใหม่ อาทิ อินเดีย เวียดนาม ฮังการี โปแลนด์ ไนจีเรีย โมร็อกโก และเม็กซิโก รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจที่ขยายตัวกว่า 5% ผู้บริโภคโดยเฉพาะวัยหนุ่มสาวมีกำลังซื้อมากขึ้น และยังมีความต้องการสินค้าไทยอีกมากในตลาดเหล่านี้
 
3.การลงทุนเพื่อสร้างห่วงโซ่มูลค่าใหม่ๆ เพื่อส่งออกมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันการลงทุนของต่างชาติในไทยและการลงทุนของนักลงทุนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งให้สิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีแก่นักลงทุน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีมูลค่าหรือนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

“EXIM BANK ออกมาตรการของขวัญปีใหม่ในครั้งนี้เพื่อเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของผู้ส่งออก โดยเฉพาะ SMEs ที่มีจำนวนมากและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในภาวะที่เศรษฐกิจโลกซบเซา เพื่อช่วยให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้อย่างไม่สะดุด ไม่สั่นคลอนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาจนกระทบการจ้างงาน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคครัวเรือนของไทย ขณะเดียวกันก็เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและส่งออกสินค้าหรือบริการของไทยตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าให้ได้มาตรฐานสากล นำไปสู่การเติบโตของภาคธุรกิจ SMEs ที่แข่งขันได้มากขึ้นตามเทรนด์และทิศทางการค้าโลก มีส่วนแบ่งการตลาดที่มั่นคงและสร้างโอกาสใหม่ๆทางธุรกิจได้มากขึ้น เป็นฐานรากที่เข้มแข็งของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน” นายพิศิษฐ์กล่าว
 
 
นายพิศิษฐ์กล่าวยอมรับว่า การออกทั้งสองมาตรการของ EXIM BANK เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ SMEs แน่นอนมาร์จิ้นของธนาคารอาจจะบางลงไปบ้าง แต่เป็นหน้าที่ของ EXIM BANK ที่ต้องช่วย SMEs ในกลุ่มผู้ส่งออกให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เราขอย้ำเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วย แต่ธนาคารก็ยังมีกำไรอยู่น่ะ เพียงแต่ลดลงไปบ้างเท่านั้น ซึ่งถือว่าคุ้มค่ากับการที่ทำให้ SMEs เหล่านั้น กลับมาเป็นฟันเฟื่องสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของประเทศไทยต่อไป

"เดิมประเทศไทยตั้งเป้าการส่งออกปีนี้ไว้ที่ 6% แต่ตัวเลขออกมากลับหดตัว 2.0% เพราะคาดการณ์ผิด ประเมินผลกระทบมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีระหว่างสหรัฐและจีนไม่น่าจะรุนแรงขนาดนี้ ทำให้ทุกประเทศที่เป็นคู่ค้ากับประเทศทั้งสองได้รับผลกระทบ แต่ละประเทศจึงออกมาตรการของตัวเอง เพื่อปกป้องและช่วยเหลือผู้ประกอบการของประเทศตน ทำให้เกิดผลกระทบการค้าขายการส่งออกไปในวงกว้างทั่วโลก"นายพิศิษฐ์กล่าว

นายพิศิษฐ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเติบโตของสินเชื่อส่งออกของ EXIM BANK อย่างไรปีนี้มั่นใจจะมีการเติบโตได้ถึง 5-6% แม้จะเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงกว่าปีก่อนๆ ที่มีการเติบโตถึง 18% ในปี 2561 และ 10% ในปี 2560 และ 12% ในปี 2559 แต่ถือว่าเป็นการเติบโตที่ดีและสวนทางตลาดที่ส่วนใหญ่หดตัวลงจากเทรนด์การส่งออกของโลกที่ลดลง โดย ณ ปัจจุบัน EXIM BANK สามารถช่วย SMEs ในกลุ่มผู้ส่งออกได้ถึง 3 พันรายแล้ว จากเดิมเคยช่วยได้แค่ 1 พันราย และคาดว่าปีหน้าจะช่วยได้ถึง 4 พันราย

"ปีหน้าคนหวังเรื่องมาตรการภาครัฐที่ออกมาเยอะมากจะมาช่วยผลักดันเศรษฐกิจ แต่ผมอยากบอกภาคเอกชน และ SMEs เอง ก็ต้องหันกลับมาดูตัวเองต้องปรับปรุงตัวเอง เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาเยอะและมาเร็ว เศรษฐกิจปีหน้าน่าจะกลับมาเติบโตได้ในระดับ 3.2-3.4% ต่อปี  แต่ปีนี้ต่ำกว่า 3% เล็กน้อย แต่ปีหน้าน่าจะดีกว่าปีนี้ เพราะผู้ประกอบการปรับตัวได้ รู้ว่าจะต้องลงทุนอะไร จากปีนี้ที่รีรออยู่ไม่กล้าลงทุน โดยงบประมาณของรัฐในปีหน้าจะออกมามากกว่าปีนี้มาก ตัว G คือภาครัฐ จะเป็นตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยได้อย่างมาก และตัว I คือการลงทุนก็จะเริ่มกลับมา ที่เคยยื่นขอลงทุนไปเยอะและปีนี้ยังไม่ได้ลงทุน อย่างไรปีหน้าก็ต้องลงทุนแล้วที่ขอมา และใครที่มั่นใจลงทุนก็จะได้ต้นทุนดอกเบี้ยที่ต่ำ หากรอต่อไปดอกเบี้ยก็จะเพิ่มขึ้นสูงทำให้ต้นทุนสูง"นายพิศิษฐ์กล่าว

LastUpdate 20/12/2562 14:58:22 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 7:00 am