หุ้นทอง
ไร้กังวลรายใหม่กับคลื่น 700 MHz


ก่อนหน้านี้กรณีที่มีข่าว กสทช.จะตัดคลื่น 700 MHz ออกจากการประมูลคลื่น 5G หุ้นกลุ่มสื่อสารก็ขึ้นเอาๆ แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2562 ที่ผ่านมา  กสทช.ให้นำคลื่น 700 MHz มาประมูลด้วย “ส่งผลต่อราคาหุ้นผู้ให้บริการมือถือ กอดคอกันร่วงไปตามๆกัน”


จากประเด็นปัญหาดังกล่าวนี้ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส หรือ ASP มองว่าที่ประชุมกสทช. มีมติเห็นชอบนำการประมูลคลื่นความถี่ 5G  ทั้ง 4 ย่าน คือ 700 MHz,1800 MHz, 2600 MHz และ 26 GHz ซึ่งผิดไปจากกระแสข่าวก่อนหน้า ที่คณะอนุกรรมการโทรคมนาคมเสนอให้ตัดคลื่น 700 MHz ซึ่งโดยรวมสร้างความกังวลต่อหุ้นกลุ่มสื่อสาร ในเรื่องการเปิดประมูลคลื่นสั้น 700 MHz เพราะกังวลว่ามีโอกาสนำมาสู่การเกิดของผู้ประกอบการรายที่ 4 ง่ายขึ้น  แต่ประเด็นนี้ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ไม่กังวลต่อการเกิดขึ้นของรายที่ 4 อยู่แล้ว
 
 
 
ขณะเดียวกัน บล.เอเซีย พลัส กลับเชื่อว่าราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารในสัปดาห์ที่ผ่านมา"ปรับตัวขึ้นมากเกินไป" เพราะผู้ที่มีท่าทีสนใจประมูลคลื่น 700 MHz คือ CAT ซึ่งแม้ฐานะการเงิน CAT รองรับการประมูลได้ แต่ CAT ยังขาดความพร้อมฐานลูกค้าและมีแนวโน้มที่ยังไม่สามารถใช้คลื่นได้ทันทีหลังประมูล เช่น คลื่นอื่นๆจากปัญหาคลื่นไมโครโฟนรบกวน ที่ต้องใช้เวลาจัดการอีกกว่า 1 ปี ท้ายที่สุด ยังเชื่อว่า CAT น่าจะให้บริการตามแนวทางรัฐฯที่กำหนดให้ร่วมประมูล เพื่อรองรับบริการสาธารณะเป็นหลัก ไม่น่าจะแข่งขันกับเอกชนโดยตรง 

นอกจากนี้ กสทช. ยังได้ปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์เรื่องการเพิ่มเงินประกันการประมูลเพิ่มเป็นราว 30% ของราคาตั้งต้น จากเดิม 10% น่าจะช่วยคัดกรองผู้ที่สนใจประมูล เพื่อให้ทำธุรกิจจริง ลดความเสี่ยงเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ตอนประมูลคลื่น 4G
 
นอกจากนี้ภายใต้โครงสร้างประมูล ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ยังคงมุมมองเดิม โดยคาดว่า เอกชน 3 รายจะให้ความสำคัญกับคลื่น 2600 MHz และ 26 GHz  เพราะราคาถูก, เป็นคลื่นที่ยังไม่มี และใช้งาน 5G ได้ ซึ่งด้วยปริมาณคลื่นที่มีเพียงพอให้ทุกราย (2600 MHz 19 ใบอนุญาต, 26 GHz 27 ใบอนุญาต) ขณะที่รัฐวิสาหกิจน่าจะให้ความสนใจคลื่น 700 MHz จึงเชื่อว่าราคาประมูลคลื่น 2600 MHz และ 26GHz จะใกล้เคียงราคาตั้งต้น
 
หากกำหนดแต่ละรายได้คลื่นรายละเท่าๆกัน ยังคงประเมินต้นทุนคลื่น 5G ที่ประมูลจะสร้างภาระเฉลี่ยที่ยังไม่รวมในประมาณการ ไม่เกินปีละ 1 พันล้านบาทต่อราย แม้จะตํ่าลงกว่าคลื่น 4G ที่มีต้นทุนสูงกว่ามาก แต่ด้วยฐานกำไรแต่ละรายที่แตกต่างกัน Downside ต่อประมาณการจึงจำกัดต่อ ADVANC ผู้ที่มีฐานกำไรปกติสูง
 
ส่วน DTAC และ TRUE มีฐานกำไรเล็กกว่า จะกระทบสูง หากพิจารณาจากฐานกำไรปกติ DTAC ที่ 6.3 พันล้านบาท และขาดทุนปกติของ TRUE ที่ 1.3 พันล้านบาท ภาพรวมแล้ว Downside ต้นทุนอาจบั่นทอนการเติบโตกำไรปีในปี 2563
 
ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส  จึงยังให้ลงทุนกลุ่มเท่าตลาด ขณะที่ราคาหุ้นที่อ่อนตัวลงมา ประเมินเป็นโอกาสลงทุน หุ้นแข็งแกร่งที่เชื่อว่ายังรักษาฐานกำไรได้ คือ  ADVANC 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ธ.ค. 2562 เวลา : 14:46:54
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 11:37 pm