หุ้นทอง
ตลาดผันผวนหนัก "เทรดเดอร์ - VI" ใจต้องนิ่ง


ถ้าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย เริ่มมีอาการเปลี่ยนทิศ หรือส่ออาการผันผวนอย่างรวดเร็วคำถามที่ตามมาติดๆ และคำถามยอดฮิต ก็คือ ต้องทำอย่างไร ก่อนที่จะตัดสินใจ  “ซื้อ” “ถือ” หรือ“ขาย”


 

 

สไตล์เทรดเดอร์

แต่สำหรับ สไตล์ของผู้ลงทุนสายเทคนิเคิล หรือ  Trader  กลุ่มนี้ มักจะเชื่อว่าตลาดหุ้นถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวและความโลภ อีกทั้งข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ ได้ถูกสะท้อนอยู่ในราคาของสินทรัพย์ประเภทนั้นไปแล้ว 

ดังนั้นจึงทำให้การวิเคราะห์การลงทุน ให้น้ำหนักกับการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น มูลค่าการซื้อ-ขาย(Volume) หรือตัวบ่งชี้ต่างๆ (Indicators) โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเติบโตของบริษัทหรือมูลค่าบริษัท

ดังนั้น ในช่วงที่ตลาดผันผวน จึงอาจทำให้คุณหวั่นไหว หรืออาจลืมนึกถึงหลักการที่วางแผนไว้ไปชั่วขณะหนึ่ง ดังนั้นวันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ ขอย้ำเตือนถึงหลักการลงทุนกันอีกครั้ง นั่นก็คือ...

หลักการ Method หรือกลยุทธ์การลงทุน โดยการใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้ามาช่วย (Technical Analysis) ซึ่งอาจแบ่งกลยุทธ์ได้ดังนี้

กลยุทธ์การเข้าซื้อ ถ้าสไตล์เทรดเดอร์จะเข้าลงทุนเมื่อราคาหุ้น หรือราคาสินทรัพย์เกิดสัญญาณซื้อ ซึ่งอาจเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาเปลี่ยนเป็นแนวโน้มขาขึ้น (Uptrend) หรืออาจเข้าลงทุนเมื่อเกิดสัญญาณกลับตัวขึ้น (Reversal Pattern) รวมถึงเมื่อราคาปรับตัวลดลงมาสู่ระดับแนวรับ (Support) หรือระดับราคาที่เมื่อสินทรัพย์ลงทุนปรับตัวลดลงมาชนระดับราคาดังกล่าวแล้ว ราคาของสินทรัพย์มักจะกลับตัวขึ้น

กลยุทธ์การถือ โดยสายเทคนิเคิล จะถือสินทรัพย์ลงทุนในกรณีที่การเคลื่อนไหวของราคาเป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ หรือเพราะระดับราคาในปัจจุบัน รวมถึงตัวบ่งชี้ต่างๆ (Indicators) ยังไม่ส่งสัญญาณให้ขายสินทรัพย์ดังกล่าวออกไป

กลยุทธ์การขายออก โดยส่วนมากแล้ว ผู้ลงทุนสไตล์นี้จะขายทำกำไร (Take Profits) หรือขายตัดขาดทุน(Stop Loss) เมื่อการเคลื่อนไหวของราคาไม่เป็นไปในทิศทางที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจมาจากการเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง เกิดสัญญาณกลับตัวลง (Reversal Pattern) ราคาปรับตัวขึ้นมาอยู่ในระดับแนวต้าน (Resistance) หรือเป็นระดับราคาที่เมื่อสินทรัพย์ลงทุนปรับตัวขึ้นมาชนที่ระดับราคาดังกล่าวราคาหุ้น (ราคาสินทรัพย์ต่างๆ) มักจะปรับตัวลดลง

หลักการ Mind หรือจิตวิทยาการลงทุน นักลงทุนสไตล์เทรดเดอร์จะต้องควบคุมอารมณ์ของตัวเองอยู่เสมอ รวมถึงไม่มีอคติในการตัดสินใจลงทุน เพราะต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่เสมอ ซึ่งอาจทำให้การขึ้น - ลง ของราคาสินทรัพย์มีผลต่อสภาพจิตใจและอารมณ์ของคุณได้

หลักการ Money Management หรือการบริหารเงินลงทุน คุณต้องวางแผนการลงทุนให้ดี ควรมีแผนการลงทุนล่วงหน้าก่อนการซื้อ - ขายทุกครั้ง เช่น จะลงทุนที่ระดับราคาใด จำนวนกี่หุ้น คาดหมายกำไรเท่าไหร่ ยอมรับขาดทุนมากน้อยขนาดไหนและจะตัดขาดทุนเมื่อใด 

สำหรับกรอบระยะเวลาการลงทุน ส่วนใหญ่มองว่า สายเทคนิเคิล ต้องเป็นผู้ลงทุนระยะสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว กรอบระยะเวลาการลงทุนไม่ได้ถูกจำกัดไว้ ขึ้นอยู่กับความชำนาญของผู้ลงทุนแต่ละราย อาจเป็นนักลงทุนระยะสั้น หรืออาจเป็นนักลงทุนระยะยาวก็ได้

อีกทั้ง นักลงทุนสไตล์นี้ ไม่มีระดับราคาใดที่ “แพง” หรือ “ถูก” เกินไป มีแต่ระดับราคาที่คาดว่าจะปรับตัว “ออกข้าง” “เพิ่มขึ้น” หรือ “ลดลง”

 
 
 
การลงทุนแบบวีไอ

หรือหากคุณตั้งใจจะเป็น “ผู้ลงทุนเน้นปัจจัยพื้นฐาน” หรือ “ผู้ลงทุนแบบเน้นคุณค่า” (Value Investor : VI) กลุ่มนี้จะมองการลงทุนในหุ้นเปรียบเสมือนการลงทุนในธุรกิจ โดยให้น้ำหนักกับการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการ และมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นในรายบริษัทมากกว่าการคาดการณ์ภาวะตลาดโดยรวมหรือทิศทางภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้น อย่าปล่อยให้ภาวะตลาดที่ผันผวนกดดันให้คุณอ่อนไหว

 
การตัดสินใจ “ซื้อ”

เมื่อเห็นว่ากิจการ มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง กำไรมีแนวโน้มเติบโตดี และมีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน เช่น 
 
ต้องมีการ วิเคราะห์งบการเงิน ก่อนที่จะซื้อหุ้น เพราะจะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบ่งบอกฐานะทางการเงินและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ด้วยตัวเลขในงบการเงินและอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญเช่น ROE, ROA, Gross Profit Margin, Net Profit Margin, DE Ratio เป็นต้น

ต้องวิเคราะห์การเติบโตของกำไร (Earnings Growth) ก่อนลงทุน โดยต้องประเมินกลยุทธ์ที่บริษัทใช้ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การเติบโตของกำไรในอนาคตของบริษัทได้ เช่น การขึ้นราคาสินค้า การลดต้นทุน การขยายสาขา การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือการเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ

ต้องวิเคราะห์ความสามารถในการแข่งขัน (Competitive Advantage) วิเคราะห์ว่าธุรกิจที่ลงทุนมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง มีความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ ซึ่งทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญกิจการจะต้องไม่ถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเข้ามาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย

“ซื้อ” เมื่อพบว่าราคาหุ้นของบริษัท (Market Price) ถูกกว่ามูลค่าที่เหมาะสม (Intrinsic Value) คุณควรประเมินมูลค่าของหุ้นตัวนั้นๆ ก่อนที่จะซื้อลงทุนทุกครั้ง แม่หุ้นจะมีคุณภาพดีแค่ไหน แต่อาจจะเป็นการลงทุนที่แย่ได้หากซื้อมาในราคาแพงเกินไป

“ซื้อ” เมื่อหุ้นตัวนั้นมี “ตัวเร่ง” ที่จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งเข้าสู่มูลค่าที่ควรจะเป็นได้ เพราะหุ้นที่ลงทุนควรมีstory ที่ตลาดอาจหันมาให้ความสนใจกับหุ้นตัวนี้มากขึ้นในอนาคต 

เช่น กิจการมีแนวโน้มประกาศซื้อหุ้นคืน มีการประกาศควบรวมกิจการ หรือมีการขายสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลที่บริษัทถือครองอยู่ ซึ่งจะเป็นการปลดล๊อคมูลค่าให้กับบริษัทได้ เป็นต้น ข้อดีของการซื้อหุ้นที่มีตัวเร่ง คือ ช่วยให้นักลงทุนไม่ต้องถือหุ้นรอนานเกินไปและเสียโอกาสในการลงทุนอื่นๆ

กรณี “ถือ”

หากภาวะตลาดโดยรวมมีความผันผวน แต่คุณตรวจสอบแล้วว่า เหตุผลที่ตัดสินใจซื้อหุ้นในตอนแรก รวมถึงพื้นฐานของหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ควรถือลงทุนระยะยาวในหุ้นนั้นต่อ 

ที่สำคัญอย่าลืมว่า การถือเงินสดก็นับเป็นการลงทุนแบบหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันให้ผลตอบแทนเพียงแค่ 1-2% คุณจะเลือกลงทุนในหุ้นเป็นส่วนใหญ่มากกว่า หากประเมินแล้วว่าได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยง เช่น ได้รับเงินปันผล 4- 5% ต่อปีแบบ โดยประเมินแล้วว่ากิจการมีโอกาสจ่ายเงินปันผลระดับนี้ไปได้อีกยาวนาน

กรณี “ขาย”

ขายเมื่อราคาแพงเกินมูลค่าที่เหมาะสม เช่น หุ้นซื้อ-ขายกันที่ P/E Ratio ที่สูงกว่าอัตราการเติบโตเป็น 1.5-2 เท่าขึ้นไป หุ้นมี P/E Ratio สูงเกิน 50 เท่า แต่บริษัทไม่ใช่หุ้นประเภทฟื้นตัว หุ้นวัฎจักร หรือหุ้นที่มีฐานกำไรเล็กมาก และมีโอกาสเติบโตก้าวกระโดด ซึ่งความแม่นยำของการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของนักลงทุน และความเข้าใจที่มีต่อกิจการนั้น

ขายเมื่อพื้นฐานกิจการแย่ลง เช่น กำไรสุทธิมีการเติบโตช้าลง หรือมีการลดลงต่อเนื่อง ผลิตภัณฑ์ของบริษัทเริ่มไม่เป็นที่นิยมเหมือนเดิมและบริษัทไม่สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่น่าสนใจหรือขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ ได้ กิจการถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือบริษัททำธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ถดถอย และไม่สามารถพลิกฟื้นเพื่อสร้างการเติบโตกลับมาได้

ขายเมื่อเจอหุ้นตัวที่มีความน่าสนใจมากกว่า (มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงกว่า หรือValuation ถูกกว่า) เพื่อเป็นการ Switching เข้าลงทุนหุ้นตัวอื่นที่มี Upside มากกว่า

จะสังเกตได้ว่า เหตุผลที่นักลงทุนวีไอตัดสินใจขายหุ้น จะไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ต้นทุนที่ซื้อมา” ว่าเป็นเท่าไหร่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ “ภาวะตลาด” ว่าดีหรือไม่ แต่ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ “พื้นฐานของกิจการ” และ “มูลค่าที่เหมาะสม” ว่าเป็นอย่างไร

ทั้งหมดนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และ Wealth Advisory ธนาคารทิสโก้ ต้องการจะย้ำให้คุณมั่นใจอีกครั้งว่า คุณกำลังวางแผนการลงทุนได้อย่างถูกต้อง ตามสไตล์  Trader-VI เมื่อตลาดหุ้นเปลี่ยนทิศ เพื่อคุณจะได้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง

 
 

 


LastUpdate 22/01/2563 18:54:13 โดย : Admin
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 2:25 pm