หุ้นทอง
คิดจะก่อหนี้ ควรสำรวจกำลังจ่าย-ความพร้อมก่อน


การเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก เป็นสัจธรรมแห่งชีวิตมนุษย์ไม่เปลี่ยน ไม่ว่าโลกจะหมุนเร็วเพียงใดเทคโนโลยีจะทันสมัยขนาดไหนก็ยังเห็นคนเป็นทุกข์จากการเป็นหนี้อยู่เสมอ 

 

 
ปัญหาหนี้สินถือเป็นปัญหาอันดับต้นๆที่นอกจากจะบั่นทอนความสุขความสงบในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันของผู้เป็นหนี้แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจระดับประเทศได้อีกด้วยมีข้อมูลจากหลายสำนัก ระบุตรงกันว่าสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินส่วนบุคคลในประเทศไทยมีความน่ากังวลอยู่ไม่น้อย เพราะปัจจุบันหนี้ครัวเรือนไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย และยังพบว่า 1 ใน 3 ของคนไทยเป็นหนี้และ 1 ใน 2 ของคนอายุ 25 - 35 ปี มีหนี้ซึ่งเป็นช่วงอายุที่คนเป็นหนี้มากที่สุด สะท้อนภาพการเข้าสู่ภาวะการเป็นหนี้ของคนไทยตั้งแต่อายุยังน้อย โดยคนในกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนหนี้เสียสูงเกิน 1 ใน 5 อีกด้วย

มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและดร.อัจฉรา โยมสินธุ์  ระบุว่าข้อมูลเหล่านี้น่ากลัวอยู่ไม่น้อยใครจะก่อหนี้หรือกำลังจะเป็นหนี้เพิ่ม คงต้องทบทวนให้แน่ใจว่า คุณพร้อมที่จะเป็นหนี้แล้วจริงๆ จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์เพราะเป็นหนี้ที่มากเกินพอดี ปัจจุบันคนกลุ่มใหญ่ๆในบ้านเรา “ขาดความรู้ที่ถูกต้องในการจัดการทางการเงิน” และยัง “ขาดวินัยในการใช้ชีวิต” จึงไม่น่าแปลกใจที่ตัวเลขสถิติเกี่ยวกับหนี้สินส่วนบุคคลในประเทศไทยจะน่ากังวลขึ้นเรื่อยๆผู้มีหนี้บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองต้องจ่ายดอกเบี้ยเท่าไร จะต้องผ่อนไปอีกนานเท่าไร หรือจะจัดการหนี้แต่ละก้อนอย่างไร โดยเฉพาะในกรณีผู้ที่เป็นหนี้สินหลายๆก้อน จนเข้าข่ายหนี้สินรุงรัง หมุนเงินจ่ายหนี้พัลวันทุกเดือน

ดังนั้นถ้าคุณไม่อยากตกที่นั่งลำบากเข้าสู่วังวนการเป็นหนี้แบบไร้อนาคต คุณต้อง“ขยันหมั่นหาความรู้ที่ถูกต้อง”ในการจัดการทางการเงิน โดยเฉพาะการจัดการหนี้สินและต้อง “ฝึกฝืนใจตัวเองบ่อยๆ” เพื่อพิชิตวินัยในการใช้ชีวิตและวินัยทางการเงิน โดยจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการจะเป็นหนี้หรือก่อหนี้เพิ่ม คุณควรเริ่มต้นที่ 3 รู้ สู่การเป็นหนี้อย่างมีสติ

โดยคุณต้องเริ่มจาก รู้ความจำเป็นในการก่อหนี้ เมื่อจะเป็นหนี้คุณควรมีเหตุผลในการก่อหนี้ เป็นหนี้ที่ดีหนี้ที่จะสร้างอนาคตที่มั่นคง เช่น หนี้บ้าน หนี้เพื่อการศึกษาและที่สำคัญเป็นหนี้ในจำนวนที่พอเหมาะพอดีไม่ก่อหนี้เกินตัว คือ ไม่ควรมีหนี้เกิน 50%ของสินทรัพย์ ตัวอย่าง เช่น คุณมีบ้าน มีรถ มีเงินลงทุนและสินทรัพย์อื่นๆ รวมทั้งสิ้น 2,000,000 บาท เพื่อไม่ต้องแบกภาระหนี้สินที่มากเกินตัว คุณไม่ควรมีหนี้สินเกิน 1,000,000 บาท เป็นต้น 

ดังนั้นใครกำลังจะกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อโทรศัพท์ใหม่ ต้องลองทบทวนสถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเองดูว่า คุณควรซื้อบ้านหลังใหม่ 300 ตารางวา หรือว่า 60 ตารางวา คุณควรซื้อโทรศัพท์มือถือราคา5,000 บาท หรือ 50,000 บาท การเป็นหนี้ตามความจำเป็น เป็นหนี้ไม่เกินตัวสำคัญที่สุด ใครตัดสินใจตาม “ความจำเป็น” ได้บ่อยๆ ไม่ปล่อยใจไปกับ “ความต้องการที่เกินจำเป็น” รับรองเป็นหนี้ไม่เกินตัว   

ต่อมาคุณควรรู้ความสามารถในการจ่ายหนี้ ซึ่งความสามารถในการจ่ายหนี้จะพิจารณาจากรายได้ที่หาได้ในแต่ละเดือน เพื่อให้การดำเนินชีวิตในแต่ละเดือนเป็นไปอย่างปกติสุข ยอดผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนรวมแล้วไม่ควรเกิน 40% ของรายได้ ตัวอย่างเช่น คุณมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท คุณควรผ่อนหนี้ไม่เกินเดือนละ 12,000 บาท (30,000 x 40%) หากภาระผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนมากกว่า 40% ของรายได้ อาจจะทำให้คุณมีเงินไม่พอใช้จ่ายในแต่ละเดือน จนอาจจะต้องกู้เงินเพื่อเป็นสภาพคล่อง หรือเพื่อกินเพื่อใช้ในแต่ละเดือน และอาจเป็นเหตุให้คุณติดอยู่ในวังวนแห่งการเป็นหนี้ที่ไม่สิ้นสุด!!! 

และคุณควรรู้ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากจัดการหนี้ไม่ได้ ภาพสำคัญภาพหนึ่งที่คุณควรจะนึกถึงก่อนจะเป็นหนี้หรือก่อหนี้เพิ่ม ก็คือหากไม่สามารถผ่อนชำระหนี้สินได้ อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง เช่น บ้านหรือรถโดนยึด ถูกฟ้องล้มละลาย ถูกให้ออกจากการงาน ลูกต้องออกจากโรงเรียน เป็นต้น เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือเหตุฉุกเฉินทางการเงินเกิดขึ้นได้เสมอ การนึกถึงความน่ากลัว ความเสียหายรุนแรงที่จะเกิดขึ้นไว้บ้างจะทำให้เราไม่ประมาท มีความระมัดระวัง รอบคอบในการวางแผนและการตัดสินใจ รวมทั้งจะสร้างพลังผลักดันให้เรามีแรงกายแรงใจสู้จนรอดพ้นจากความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความเสียหายเหล่านั้นได้

ถ้าคุณที่มีหนี้สินและเริ่มมีปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่ตัดสินใจตามกระแส ตามเทรนด์ โดยเฉพาะกระแสในโลกโซเซียลและเกมการตลาดที่รุมเร้าอยู่รอบตัว จนยากที่จะยับยั้งชั่งใจให้กิน ใช้ บริโภคหรือท่องเที่ยวตามความจำเป็น ให้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ในราคาที่พอเหมาะพอดีกับความสามารถในการจัดการหนี้สินเงินในอนาคตที่ถูกดึงมาเพื่อเพิ่มความสุข ความสะดวกสบายในปัจจุบัน จึงอาจสร้างปัญหาตามมาอย่างไม่จบไม่สิ้น 

ดังนั้นใครไม่อยาก“มีความสุขในระยะสั้นและจะต้องทนทุกข์ในระยะยาว” ลองสำรวจตัวเองผ่านChecklist สร้างสติ เพิ่มความสตรอง กันก่อน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.พ. 2563 เวลา : 08:28:46
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 3:30 am