หุ้นทอง
รู้ไหม!...ภาครัฐมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยผู้สูงวัย ใช้บริการผ่าน "ธอส.-ออมสิน"


 

 

 

พอได้ยินได้ฟัง ตัวเลขจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังได้ประมาณการสัดส่วนผู้สูงวัยไว้แล้วต้องถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะในปี 2563 นี้จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 12 ล้านคน หรือ 18% ของประชากรทั้งหมด ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการสำรวจทักษะทางการเงินกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ในปี 2558 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจต่อเนื่องทุก 2 – 3 ปี และพบว่าพฤติกรรมการออมเงินของคนไทยทั้งในแง่ออมเพื่อเกษียณและออมเผื่อฉุกเฉิน ต้องได้รับการส่งเสริมให้ดีขึ้น เพราะคนไทยที่วางแผนเก็บออมเพื่อยามชราและสามารถทำได้ตามแผนที่วางไว้มีเพียง 14.2% ซึ่งน่าเสียดายที่ยังมีคนไทย ที่ไม่รู้หรือไม่แน่ใจว่าตัวเองมีเงินออมเผื่อฉุกเฉินเพียงพอหรือไม่ถึง 32.2% และมีคนไทยอีก 37.3% ที่มีเงินออมเผื่อฉุกเฉินรองรับการใช้จ่ายไม่ถึง 3 เดือน 


สำหรับด้านทัศนคติทางการเงิน พบว่าทัศนคติที่คนไทยด้อยที่สุด คือ นิยมความสุขในการใช้เงินมากกว่าการออมเพื่ออนาคต แถมยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในตอนนี้และอนาคต คือ รายได้ที่จะใช้ในวันที่ไม่สามารถทำงานหาเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเรื่องสุขภาพที่ถดถอย ซึ่งต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากในการรักษาตัวเองจากโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นโรคเรื้อรังและอยู่ด้วยกันจนวันสุดท้ายของชีวิต

สำหรับคนถ้าอยู่ในระบบราชการที่มีบำนาญให้เบิกค่ารักษาพยาบาลก็ไม่น่าเป็นห่วง แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุที่ไม่ได้เป็นข้าราชการบำนาญ ไม่มีเงินสำรองเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และไม่มีลูกหลานคอยดูแล ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงเสนอให้มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse Mortgage Loan) วิธีการคือ ผู้กู้สามารถใช้บ้านและที่ดินที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้กับสถาบันการเงินและได้รับเงินเป็นงวดๆหรือการแปลงมูลค่าบ้านและที่ดินเป็นเงินสด โดยที่ไม่ต้องย้ายออกมาจนกว่าผู้กู้จะเสียชีวิต โดยสถาบันการเงินจะเรียกทายาทโดยธรรมมาทำการไถ่ถอนคืนหรือจะให้ทางสถาบันการเงินขายแทนการชำระหนี้เงินกู้ที่ได้รับ

ในประเทศไทยมีสถาบันการเงิน 2 แห่ง ที่เปิดให้สินเชื่อบ้านผู้สูงอายุเพื่อการเกษียณ ได้แก่  ธนาคารออมสินและธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้กู้ คือ เป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 ปี ส่วนเงื่อนไขอื่นๆขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารนั้นๆ

การมีสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุเพื่อการเกษียณเป็นตัวเลือกที่ทำให้ผู้เกษียณอายุสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายต่างๆ และมีเงินเพียงพอเพื่อดำรงชีวิตแต่ในปัจจุบัน มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และคุณ วิรัตน์ ตรงพิทักษ์กุล ยอมรับว่าแม้ภาครัฐให้การสนับสนุนแต่ก็ยังมีปัญหาและอุปสรรคของสินเชื่อบ้านผู้สูงอายุเพื่อการเกษียณสำหรับฝ่ายสถาบันการเงิน  นั่นก็คือ 

อุปสรรคแรก คือยังขาดการประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุรับรู้เป็นวงกว้าง รวมถึงการให้ข้อมูลสินเชื่อและการรับรู้ถึงข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วนสำหรับผู้สูงอายุ ตามด้วยอุปสรรคปัญหาเกี่ยวกับดอกเบี้ย เพราะสถาบันการเงินเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินก้อนระยะยาวและมีความเกี่ยวข้องในเรื่องของเวลา จึงมีความเสี่ยงเกิดขึ้น สถาบันการเงินจึงมีต้นทุนทางความเสี่ยงหากผลักภาระไปให้แก่ผู้กู้มากเกินอาจเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาแลอุปสรรคทั้งสองฝ่าย

อุปสรรคต่อมาประเด็นของวัฒนธรรมที่คนรุ่นเก่ามองภาพการกู้การขอสินเชื่อ คือ การเป็นหนี้และไม่ต้องการจะกู้ให้เป็นภาระ แม้ธนาคารจะให้อาศัยในบ้านที่นำไปค้ำประกันจนเสียชีวิต เป็นการผลักภาระให้ทายาท หากต้องการบ้านคืนต้องเอาเงินไปคืนให้กับธนาคารบวกดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม อีกทั้งในเรื่องของ Generation ที่มีความคิดต่างกันซึ่งคนรุ่นหลังมีความเป็นไปได้ในการเข้าร่วมโครงการนี้มากกว่ารุ่น Baby Boomer
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 ก.พ. 2563 เวลา : 19:00:19
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 12:21 am