แบงก์-นอนแบงก์
"กรุงไทย"ให้บริการเติมเงินบัตร MRT ผ่าน Krungthai NEXT และ ATM เริ่ม 13 เมษายนนี้


การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)BEM จับมือธนาคารกรุงไทยให้บริการเติมเงินในบัตรโดยสาร MRT ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT และ ATM เป็นธนาคารแห่งแรกที่ให้บริการผ่าน Mobile  Banking เติมเงินขั้นต่ำ100 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,500 บาท เริ่ม 13 เมษายน  2563 นี้ ลดการใช้เงินสด ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19

 


 
 
 
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เปิดเผยว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ในฐานะผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม  (MRT สายสีม่วง) ได้ตระหนักเห็นถึงความสำคัญในการช่วยให้ประชาชน ลดการจับเงินสด เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้รับความร่วมมือที่ดีจากธนาคารกรุงไทย ในการเพิ่มช่องทางการเติมเงินเข้าบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ทุกประเภท ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT และ ATM ของธนาคารกรุงไทย ตั้งแต่วันที่ 13  เมษายน 2563 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ได้เพิ่มขบวนรถไฟฟ้า MRT ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเย็น เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร โดยสายสีน้ำเงินจะจัดรถไฟฟ้าจำนวน 42 ขบวน วิ่งให้บริการต่อเนื่องในช่วงเวลา 17.30 –21.30 น . ด้วยความถี่ 3.50 นาทีต่อขบวนและสายสีม่วงจะจัดรถไฟฟ้า จำนวน 16 ขบวน วิ่งให้บริการระหว่างเวลา18.00 –21.30 น. ด้วยความถี่ 4.30 นาทีต่อขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความหนาแน่นของผู้โดยสารให้สามารถเดินทางกลับบ้านได้ก่อนเวลา 22.00 น.ในช่วงเคอร์ฟิว

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า  ธนาคารได้รับความไว้วางใจจากบริษัททางด่วน และรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในการพัฒนาช่องทางการเติมเงินเข้าบัตรโดยสาร MRT และ MRT Plus ทุกประเภท เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT และนับเป็นธนาคารแห่งแรกที่สามารถเปิดให้บริการเติมเงินผ่าน Mobile Banking ได้ โดยเติมเงินขั้นต่ำ  ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปแบบทวีคูณ สูงสุดไม่เกิน 1,500 บาท  พร้อมฟรีค่าธรรมเนียมการเติมเงิน ทั้งนี้หลังจากเติมเงินภายใน  7 วัน  ผู้โดยสารกรุณานำบัตรโดยสาร ไปปรับมูลค่าที่เครื่องปรับมูลค่าบัตรโดยสาร (Activate  Value Machine :  AVM )ในสถานี MRT ภายใน 7 วัน หากไม่ปรับมูลค่ารายการภายในระยะเวลาที่กำหนด ระบบจะคืนเงินเข้าบัญชีโดยอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตามธนาคารได้เร่งพัฒนาช่องทางการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment ด้วยการพัฒนาระบบการชำระเงินในกลุ่ม Mass Transit ที่เป็น 1 ใน 5 Ecosystem เพื่อส่งเสริมลดการใช้เงินสด และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังเป็นการป้องกันในการลดการสัมผัสพันธบัตรและเหรียญ ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 เม.ย. 2563 เวลา : 08:30:11
27-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 27, 2024, 3:34 am