หุ้นทอง
ต้องรู้..กฏเหล็ก 7 ข้อ ช่วยปิดจุดอ่อนการลงทุนคุณ


คุณในฐานะผู้ลงทุน อย่างน้อยต้องมีความเข้าใจแนวคิด “จิตวิทยาการลงทุน”และนำมาใช้กับการตัดสินใจลงทุนแต่คุณก็คงปฏิเสธไม่ได้ที่ในบางครั้งอาจมีบางจังหวะที่ทำให้คุณเกิดการใช้ “อารมณ์” มาตัดสินใจลงทุนมากกว่า “การใช้เหตุผล”ดังนั้น คำถาม คือแล้วอะไรที่เป็นแนวทางที่ช่วยให้กลับมาใช้ “สติ” เหนือ “อารมณ์” วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯและคุณมยุรี โชวิกรานต์ ขอเสนอแนวทางง่ายๆ 7 ข้อ ดังนี้

 

 
 
 
แนวทางแรก ข้อมูลที่มากเกินไป โอกาสเสี่ยงที่จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินสถานการณ์ไปในทิศทางที่ผิดพลาดได้ง่าย คุณควรเลือกจัดลำดับความสำคัญและจัดระบบของข้อมูล เพื่อนำมาชั่งน้ำหนักที่จะให้ในแต่ละสถานการณ์
แนวทางที่สอง การวางขั้นตอนการตัดสินใจ รายการตรวจสอบ (Checklist) หรือเหตุผลของการตัดสินใจ ที่ใช้ในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้น ขั้นตอนนี้ถือว่าสำคัญ เพราะจะช่วยให้คุณคิดเป็นระบบมากขึ้น เมื่อใดที่มีอารมณ์เข้ามาแทนเหตุผลจะสามารถกลับมาอ่านขั้นตอน รายการตรวจสอบที่ทำไว้ตั้งแต่แรกที่เลือกลงทุนในหุ้นนั้น หรือวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงเวลานั้น ซึ่งขั้นตอนการตัดสินใจ รายการตรวจสอบไม่มีเกณฑ์ตายตัว เพราะรูปแบบการลงทุนแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันและความสามารถในการรับความเสี่ยงก็ไม่เท่ากันอีก
 
ส่วนแนวทางที่สาม เครื่องมือการลงทุนต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่น เพราะภาวะการลงทุนในแต่ละช่วง แต่ละเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ ซึ่งเครื่องมือหรือแนวคิดหรือหลักเกณฑ์การลงทุน คุณอาจใช้ได้ดีในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อาจไม่สามารถใช้ได้ดีตลอดไป ดังนั้นคุณต้องปรับเปลี่ยนเครื่องมือหรือแนวคิดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดรับกับภาวะในช่วงนั้นๆ 
ขณะที่แนวทางที่สี่ นั่นก็คือ การตั้งป้อม “ไม่เชื่อ” ก่อนเสมอ เมื่อใดที่มีคนมาอธิบายไปในทางที่ตัวเองคิดตัวเองเชื่ออยู่แล้ว ย่อมทำให้เกิด Positive Bias ได้ง่ายมากขึ้น ทำให้คุณมองข้ามบางประเด็นของการลงทุนไป ดังนั้น การเริ่มต้นด้วยการ “ไม่เชื่อ” และพยายามหาเหตุและผลมาอธิบาย มาแก้ไข มาชี้แจง ประเด็นต่างๆ ที่ “ไม่เชื่อ” จะช่วยให้คุณคิดได้รอบคอบ ได้รอบมุมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้
 
แนวทางที่ห้า อย่าเชื่อใจตัวคุณเองอย่ามั่นใจตัวคุณเองมากเกินไป โดยไม่มีการประเมินมุมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ “เชื่อ มั่นใจ” เพราะยิ่งมั่นใจในสิ่งที่ตัดสินใจมากเท่าไร การเกิด Positive Bias หรือมองโลกสวย จะมีมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นโอกาสการตัดสินใจพลาด จึงมีสูงขึ้นอย่างที่คุณไม่รู้ตัวมาก่อน โดยเฉพาะการพลาดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนำไปสู่ความเสียหายของพอร์ตการลงทุนของคุณที่มากขึ้น
 
แนวทางที่หก การควบคุมอารมณ์หรือการควบคุมตัวคุณเอง ถือเป็นเงื่อนไขที่ทำยากแต่สำคัญต่อการลงทุน การควบคุมตัวเองด้วยการใช้หลักคิด เหตุและผลเหนืออารมณ์ วางแผนการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ หรือการเรียนรู้ในการลดความร้อนแรงของการใช้อารมณ์ในภาวการณ์ต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน โดยที่คุณอาจปิดจอ และเดินออกจากโต๊ะ ไปเดินผ่อนคลาย เพื่อลดแรงกดดัน ณ ช่วงเวลานั้นๆ
 
และแนวทางที่เจ็ดการเรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเสร็จสิ้นการลงทุนในหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง หรือรอบการลงทุนรอบใดรอบหนึ่ง คุณควรเอารายการตรวจสอบที่เขียนไว้ตั้งต้นมาเทียบกับผลที่ได้จากการลงทุนในรอบนั้นว่ามีความต่าง หรือเหมือนในข้อใด เพื่อเรียนรู้ถึงข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการลงทุนรอบนั้น และนำไปสู่การปิดจุดอ่อนการลงทุนในรอบถัดไปหรือในหุ้นถัดไปของคุณได้
 
ดังนั้นขั้นตอนที่ช่วยให้คุณประสบความสำเร็จและหลุดออกจากข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นระหว่างทางของการลงทุนได้ด้วยตัวคุณเอง ดังนี้
คุณต้องกำหนดเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน จับต้องได้ เช่น ต้องการผลตอบแทนต่อรอบการลงทุน 10% บนความเสี่ยงที่รับได้จากการตัดขาดทุน 5% เป็นต้น
นอกจากนี้คุณต้องกำหนดรายการตรวจสอบ (Checklist) จุดอ่อนของการลงทุนและพฤติกรรมการลงทุนของคุณ เพื่อเป็นการย้ำเตือนตัวคุณเองไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเหล่านั้น
คุณต้องเขียนแผนดังกล่าวอย่างชัดเจน รวมถึงแนวทางการตัดสินใจการลงทุน เพื่อเป็นคำมั่นสัญญากับตัวคุณเองในการลงทุน 
คุณต้องมีการตรวจสอบและติดตามผล ทั้งในแง่ของการลงทุนและพฤติกรรมการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ว่าเกิดข้อผิดพลาดใดบ้าง บนปัจจัยแวดล้อมแบบใด เพื่อที่จะเรียนรู้ นำมาประยุกต์และเตือนตัวคุณเองในครั้งต่อไป 

คุณต้องประเมินผลอย่างสม่ำเสมอและยอมรับในผลที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและนำไปปิดความเสี่ยงของคุณเองในครั้งต่อไป 
เมื่อคุณตัดสินใจขายหุ้นควรทำแบบเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าได้เรียนรู้จากการลงทุนในหุ้นนั้น โดยเฉพาะการขายขาดทุน ที่ทำให้คุณเกิดความรู้สึกเสียใจ แต่คุณจะได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดในการลงทุนหุ้นนั้น 
และคุณต้องปรับปรุงเป้าหมายการลงทุน และรายการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเรียนรู้จากการประเมินและการตัดสินใจที่เป็นระบบ ยิ่งทบทวนสม่ำเสมอมากเท่าไรจะสามารถตัดสินใจเป็นระบบมากขึ้นเท่านั้น ช่วยปิดข้อผิดพลาดจากพฤติกรรมการลงทุนที่เป็นจุดอ่อนของคุณ
 
จากแนวทางทั้ง 7 ข้อที่ช่วยนักลงทุนลดโอกาสเสี่ยงจากจุดอ่อนของพฤติกรรมการลงทุน รวมถึงขั้นตอนการวางแผน การลงมือปฏิบัติ และการตรวจสอบอีก 7 ขั้นตอน เชื่อว่าจะช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองให้คิดเป็นระบบมากขึ้น ยิ่งคุณเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้มากเท่าไร โอกาสที่คุณจะพัฒนาตัวเองจะมีมากขึ้นเท่านั้น เพื่อให้พอร์ตการลงทุนไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ด้วยข้อผิดพลาดที่น้อยที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 เม.ย. 2563 เวลา : 13:45:16
08-05-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ May 8, 2024, 7:04 pm