แบงก์-นอนแบงก์
กสิกรไทยเผยโควิด-19 ดันยอดใช้ K PLUS 3 เดือนแรก 700 ล้านรายการ


กสิกรไทยเผยผู้บริโภคหันมาใช้ K PLUS เพิ่มมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เฉพาะไตรมาสแรกปี 63 มีจำนวนการทำธุรกรรมการเงินมากถึง 700 ล้านรายการ เติบโตจากไตรมาสสุดท้าย ปี 62 ประมาณ 8% โดย 4 ฟีเจอร์ที่มีปริมาณการใช้งานสูงขึ้นได้แก่ โอนเงิน ซื้อประกัน เติมเงินเข้าอี-วอลเล็ต และช้อปออนไลน์บน K+ Market ตั้งเป้าสิ้นปีนี้มีลูกค้าใช้งาน 15 ล้านราย และมียอดธุรกรรมทุกประเภทรวม 11,600 ล้านรายการ พร้อมเสริมทัพด้วยช่องทาง KBank Service ผ่านตัวแทนธนาคารให้ครอบคลุม 100,000 จุด ทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินได้สะดวกในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการ

 


 
 
นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกค้าเลี่ยงการใช้เงินสด ลดการเดินทางออกนอกบ้าน หันมาทำธุรกรรมการเงินออนไลน์ผ่าน K PLUS มากขึ้น ธนาคารได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการทำธุรกรรมผ่าน K PLUS อย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 มีจำนวนธุรกรรมการเงินผ่าน K PLUS มากถึง 700 ล้านรายการ สูงขึ้นจากไตรมาสสุดท้ายของปีก่อน 8% นอกจากนี้ การเติบโตของ K PLUS ยังเป็นผลมาจากโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ของภาครัฐ ทำให้มียอดลูกค้าสมัคร K PLUS สูงขึ้นวันละเกือบ 10,000 ราย กว่า 80% เป็นการเปิดบัญชีออนไลน์ครั้งแรกด้วยตัวเองผ่าน K PLUS โดยธนาคารตั้งเป้าหมายปี 2563 มีลูกค้าใช้งานแอป K PLUS รวมเป็น 15 ล้านราย เติบโต 24% มียอดการทำธุรกรรมทุกประเภทรวม 11,600 ล้านรายการ เติบโต 37% จากปีก่อน
 

 
 
สำหรับฟีเจอร์ของ K PLUS ที่มีปริมาณการใช้งานมากในช่วงโควิด-19 ได้แก่
ฟีเจอร์โอนเงิน ทั้งการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกสิกรไทย โอนเงินข้ามธนาคาร และโอนเงินผ่านพร้อมเพย์
ฟีเจอร์เติมเงินเข้าอี-วอลเล็ต (e-Wallet) ได้แก่ เติมเงินเข้า TrueMoney GrabPay เป็นต้น
ฟีเจอร์ซื้อประกัน ได้แก่ การชำระค่าเบี้ยประกันของเมืองไทยประกันภัย, เมืองไทยประกันชีวิต, กรุงไทย-แอกซ่า ประกันชีวิต, อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต เป็นต้น
ฟีเจอร์ K+ Market ตลาดออนไลน์ที่คัดสรรสินค้าคุณภาพและคูปองส่วนลด โดยลูกค้าเลือกชำระเงินด้วยเงินสดจากบัญชีที่ผูกกับ K PLUS หรือใช้คะแนนสะสมบัตรเครดิตกสิกรไทยแทนเงินสดได้ โดยทุก ๆ เดือนจัดให้มีโปรโมชันมอบโค้ดส่วนลด JD CENTRAL ในแคมเปญยุทธจักรนักช้อป? และมอบโค้ดส่วนลดในช่วงสิ้นเดือน (Pay Day) อีกทั้งยังตั้งเป้าจะเพิ่มสินค้าคุณภาพผ่าน K+ Market กว่า 70,000 รายการภายในสิ้นปี 2563
           
นายวีรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมว่าธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับความหลากหลายของช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่ลูกค้าใช้บริการ (Multi-Channels) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการทางการเงิน เช่น ช่องทาง KBank Service ที่ให้บริการรับฝากเงิน บริการถอนเงิน บริการรับชำระเงิน และจุดยืนยันตัวตน (K CHECK ID) เพื่อรองรับการเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ (K-eSavings)
 
โดยมีแผนขยายบริการ KBank Service ผ่านตัวแทนธนาคารจำนวน 19 ราย ซึ่งเป็นพันธมิตรยักษ์ใหญ่ที่มีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ ให้มีจุดบริการครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 100,000 จุด ภายในสิ้นปี 2563 เช่น 7-ELEVEN, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ และมินิบิ๊กซี, ไปรษณีย์ไทย, แฟมิลี่มาร์ท, CJ Supermarket, เจมาร์ท, Kerry Express, Max Value, Amazon, Jiffy, Inthanin, SPAR, ร้านถูกดี, Bridgestone, Legacy, Tokyu, ศรีสวัสดิ์, บริการผ่านตัวแทนตู้อิเล็กทรอนิกส์ ตู้บุญเติมและตู้เติมสบาย และเพิ่มจำนวนจุดยืนยันตัวตน (K CHECK ID) ซึ่งเป็นจุดสำคัญในขั้นตอนการเปิดบัญชี K-eSavings จำนวน 4,000 จุดในเดือนเมษายน 2563 เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการเปิดบัญชีใหม่โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่สาขาของธนาคาร และสามารถสมัครใช้บริการ K PLUS ในการทำธุรกรรมการเงินด้วยตนเอง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 22 เม.ย. 2563 เวลา : 19:36:54
18-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 18, 2024, 10:31 am