การค้า-อุตสาหกรรม
'พาณิชย์' รุกหารือเกษตรกรนมโคและผลิตภัณฑ์ บรรเทาปัญหาช่วงวิกฤตโควิด-19


 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ติดตามผลหลังสั่งการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ หารือเกษตรกรและผู้ประกอบการนมโคและผลิตภัณฑ์ แนะพัฒนานวัตกรรมยืดอายุสินค้า เพิ่มช่องทางออนไลน์เจาะตลาดทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกระตุ้นใช้เอฟทีเอเพิ่มแต้มต่อในการแข่งขันช่วงวิกฤตโควิด-19

 
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สอบถามปัญหาและความต้องการของเกษตรกรและผู้ประกอบการนมโคและผลิตภัณฑ์ เพื่อเร่งหามาตรการช่วยเหลือในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อาทิ การเพิ่มช่องทางการค้าออนไลน์ การจับคู่ธุรกิจ และการหาตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ ได้รับรายงานว่า สินค้านมโคและผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปของไทยยังคงเป็นที่ต้องการของประเทศในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้า และกระบวนการผลิตของไทย
 
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า กรมฯ ได้จัดประชุมผ่านระบบทางไกล (VDO Conference) เพื่อหารือกับเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมแปรรูปที่เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วย FTA” รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากกรมปศุสัตว์ และเครือข่ายสหกรณ์โคนม เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อประเมินผลกระทบของสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมโคจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 และแนะช่องทางการตลาดให้เหมาะสมกับความต้องการภายในประเทศ โดยเบื้องต้นพบว่า ยอดจำหน่ายสินค้านมในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย ในขณะที่การส่งออกไปตลาดจีนก็ชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา และเมียนมา ยังคงมีความต้องการและสามารถส่งออกได้
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เห็นว่าเกษตรกรและผู้ประกอบการนมโคและผลิตภัณฑ์ควรให้ความสําคัญกับการวิจัยพัฒนานวัตกรรมของสินค้านมและผลิตภัณฑ์ เช่น การยืดอายุนมและผลิตภัณฑ์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคและผู้จัดจำหน่าย รวมถึงอาจนำน้ำนมดิบไปผลิตเป็นสินค้าอื่นควบคู่กับการผลิตเป็นนมพาสเจอไรส์ นม UHT หรือนมแปรรูปในรูปแบบทั่วไป อาทิ การแปรรูปน้ำนมดิบเป็นชีส เคิร์ด (Curd) หรือเนย ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารทดแทนโปรตีนได้ ทั้งนี้ กรมฯ จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ รวมถึงการเพิ่มความต้องการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศให้มากขึ้น เช่น รณรงค์ดื่มนมทุกวัน เป็นต้น
 
อาเซียน ถือเป็นตลาดส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมโคที่สำคัญของไทย มีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 86 ของการส่งออกนมทั้งหมด โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2563 พบว่า การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมโคไปตลาดอาเซียนยังสามารถขยายตัวได้ดี ตลาดที่ขยายตัวมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 22 มูลค่าส่งออก 45.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เมียนมา ขยายตัวร้อยละ 19 มูลค่าส่งออก 19.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 15 มูลค่าส่งออก 17.8 ล้านเหรียญสหรัฐ สปป.ลาว ขยายตัวร้อยละ 12 มูลค่าส่งออก 15.6 ล้านเหรียญสหรัฐ และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 13.5 มูลค่าส่งออก 13.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
 
ทั้งนี้ จากการที่ไทยเอฟทีเอทั้ง 13 ฉบับ ทำให้ปัจจุบันสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ใน 14 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง มีเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์บางรายการ ดังนั้น เกษตรกรและผู้ประกอบการจึงควรใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพิ่มแต้มต่อเพื่อแข่งขันในตลาดดังกล่าว

บันทึกโดย : วันที่ : 02 พ.ค. 2563 เวลา : 11:05:44
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 4:19 pm