เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ลุ้นตลาดหุ้นกู้...ช่วง 8 เดือนเหลือของปีนี้


ปัจจุบันตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนของไทยมีการพัฒนาไปมาก โดยมีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือกว่าร้อยละ 20 ของ GDP และเป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งออมที่สำคัญ เป็นช่องทางจัดสรรเงินทุนที่มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากระบบสถาบันการเงิน  

โดยเฉพาะบริษัทที่มีฐานะมั่นคง มีผลการดำเนินงานที่ดี และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือเครดิตเรติ้งตั้งแต่ “investment grade” หรือ BBBขึ้นไป จะนิยมหันมาระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้เป็นจำนวนมาก เพราะมีต้นทุนต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นกู้มีการระดมทุนมูลกว่าสูงถึงกว่าล้านล้านบาท 

 

 

ในปี 2562  ถือว่าตลาดหุ้นกู้ “คึกคัก” เป็นอย่างมาก ภาคเอกชนมีการออกหุ้นกู้เป็นมูลค่าสูงเป็น “ประวัติการณ์” ทำสถิติใหม่ที่ 1.08 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปีที่แล้ว สำหรับปี 2563 สมาคมตราสารหนี้ (ThaiBMAคาดว่าจะมีการออกหุ้นกู้ระยะยาวประมาณ 850,000 - 920,000 ล้านบาท ชะลอลงจากปีก่อน 

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้เป็นการคาดการณ์ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ก่อนที่จะเหตุการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ “โควิด-19” อย่างรุนแรง ดังนั้นการออกหุ้นในปีนี้คงไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมาแน่นอน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดหุ้นกู้ของไทย

 

โดยในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณว่ามีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขอมติผู้ถือหุ้นกู้ให้ "เลื่อนการไถ่" ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดออกไปก่อน ขณะเดียวการระดมทุนในตลาดหุ้นกู้ก็เริ่มมีสัญญาณระดมทุนได้ “ต่ำ” กว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้

 

เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนมีความกังวลในฐานะการดำเนินงานของบางบริษัท ทำให้บางบริษัทไม่สามารถระดมทุนได้เต็มจำนวน และนักลงทุนส่วนใหญ่หันมาถือ “เงินสด” เพื่อลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจและตลาดการเงินในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้นักลงทุนบางส่วนอาจ “รอซื้อ” พันธบัตรรัฐบาลที่คาดว่าจะออกมาอีกจำนวนมาก จากการออกพระราชกำหนดกู้เงินฉุกเฉินวงเงิน ล้านล้านบาท ทำให้ความสนใจหรือความต้องการลงทุนในตลาดหุ้นกู้ลดลง เพื่อรอซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า

 

อย่างไรก็ดี ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาภาพโดยรวมการออกหุ้นกู้เอกชนระยะยาวยังถือว่า อยู่ระดับใกล้เคียงกัน โดยข้อมูลจากสมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiBMAระบุว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.63) ยอดออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว มีมูลค่า 199,162 ล้านบาท โดยเดือนกราคม มีมูลค่า 38,083 ล้านบาท เดือนกุมภาพันธ์ 49,388 ล้านบาท  เดือนมีนาคม 62,283 ล้านบาท และเดือนเมษายน 49,408 ล้านบาท 

 

แต่ในช่วง 8 เดือนที่เหลือของปีนี้ (พ.ค.-ธ.ค.63ตลาดหุ้นกู้จะมีทิศทางอย่างไร เป็นประเด็นที่ต้อง “จับตา” อย่างใกล้ชิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนทำให้แนวโน้ม “ต้นทุน” การออกหุ้นกู้มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นจากผลประกอบการของบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบกับ “ความต้องการ” ลงทุนของนักลงทุนบางกลุ่มอาจปรับลดลง เช่น กองทุนประกันสังคม เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายในการชดเชยการว่างงาน 

 

หรือประชาชนทั่วไป ที่อาจมีรายได้ลดลง ส่งผลให้มีเงินออมลดลง และหากรัฐบาลออก “พันธบัตรออมทรัพย์” เพื่อกู้เงินตามพ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาท ก็จะเป็นอีกหนึ่ง ”ทางเลือก” ให้นักลงทุนหันไปสนใจลงทุนมากกว่าหุ้นกู้ 

 

ทั้งนี้ หุ้นกู้ที่จะออกในช่วงที่เหลือของ 8 เดือนนี้ มีอีกประมาณเท่าไรนั้น หากคำนวณคราวๆ จากตัวเลขเป้าหมายที่ ThaiBMA คาดการณ์ว่าทั้งปีนี้จะมีมูลค่า 850,000-920,000 ล้านบาท แต่ช่วง 4 เดือนแรกออกไปแล้วราว 200,000 ล้านบาท ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปีนี้น่าจะมีหุ้นกู้ออกขายอีกราว 600,000-700,000ล้านบาท 

 

สอดคล้องกับข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ระบุว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วงเดือน พฤษภาคม ธันวาคม 2563 รวมทุกประเภทธุรกิจ มีประมาณ 670,000 ล้านบาท โดยแยกเป็นประเภทธุรกิจหลักๆ ได้ดังนี้ 1.ธนาคารและสถาบันการเงิน 220,000 ล้านบาท 2. อสังหาริมทรัพย์ 115,000 ล้านบาท 3. อาหาร 65,000 ล้านบาท และ4.พลังงาน 59,000 ล้านบาท เป็นต้น 

 

 

นั่นหมายความว่า หุ้นกู้ที่จะครบกำหนด 670,000 ล้านบาท จะมีการออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อ Rollover หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน แต่ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้มี “ความเสี่ยง” ต่อการจะ Rollover หรือออกหุ้นกู้ในช่วงนี้ ต้องบอกว่า “ไม่ง่าย” ที่ขายได้หมดตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

 

อย่างไรก็ดี การที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” Corporate Bond Stabilization Fund) หรือ “กองทุน BSF” วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อทำหน้าที่รับซื้อหุ้นกู้ที่มีเครดิตเรทติ้งตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ในกรณีที่ขายไม่หมด ซึ่งเปรียบเหมือนเป็น“หลังพิง”  หรือ backstop คอยให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องแก่หุ้นกู้ในภาวะจำเป็น น่าจะช่วยให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น

 

แต่กองทุน BSF จะช่วย “พยุงหุ้นกู้”  ได้หรือไม่ และตลาดหุ้นกู้จะกลับมาเป็นปกติได้เร็วแค่ไหน คงต้อง “ลุ้น” กัน เพราะขึ้นอยู่กับสถานการณณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบเร็วหรือช้า...เป็นสำคัญ!


บันทึกโดย : วันที่ : 04 พ.ค. 2563 เวลา : 10:55:16
23-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 23, 2024, 4:16 pm