เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทย ''เสี่ยง'' เข้าสู่ภาวะเงินฝืด?


ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจไทย “ตกต่ำ” และอัตราเงินเฟ้อ “หดตัว” แรง จะเป็นสัญญาณของการเข้าสู่ “ภาวะเงินฝืด” หรือไม่ เป็นประเด็นที่เริ่มถกเถียงถึงกันมากขึ้น

ตามคำนิยามของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ภาวะเงินฝืดหรือ Deflation หมายความถึงสถานการณ์ที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปลดต่ำลงเรื่อย ๆ เป็นระยะเวลาปานกลางถึงยาวนาน อันเนื่องมาจากความอ่อนแอของอุปสงค์ในประเทศ ทำให้ผู้ขายต้องยอมลดราคาสินค้าเพื่อที่จะทำให้สามารถขายสินค้าได้ 

โดยมีเงื่อนไขการวิเคราะห์ภาวะเงินฝืด 4 ข้อ ได้แก่

1)อัตราเงินเฟ้อ (%YOY) ติดลบติดต่อกันอย่างน้อย 1 ไตรมาส

2) อัตราเงินเฟ้อที่ติดลบเกิดจากการลดลงของราคาสินค้าหลายประเภทพร้อม ๆ กัน

3) อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (expected inflation) ลดต่ำลง

4) อุปสงค์ในภาพรวมอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง


ดังนั้นหากพิจารณาตามเงื่อนไขดังกล่าว เริ่มตั้งแต่ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่าเริ่มติดลบในเดือน มี.ค. 0.54% และในเดือนเม.ย. ติดลบ 2.99% “หดตัวแรง” ที่สุดในรอบ 10 ปี 9 เดือน เนื่องจากการลดลงของสินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 11 ปี 2 เดือน ค่ากระแสไฟฟ้าและค่าน้ำประปา รวมถึงสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพบางรายการที่ลดลงจากมาตรการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโควิด-19

ขณะที่สินค้าในหมวดอื่น ๆ ยังขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่อยู่ใน“ระดับต่ำ” มาก อาทิ สินค้าในหมวดหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.04%  หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าเพิ่มขึ้น 0.08% หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล เพิ่มขึ้น 0.16% หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษา เพิ่มขึ้น 0.34% และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 0.02%

สำหรับในเดือน พ.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สอดคล้องกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งคาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. จะติดลบ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจหดตัว และราคาน้ำมันปรับลดลงต่อเนื่อง กดดันให้ราคาสินค้าลดลงหลายประเภทและลดลงติดต่อกัน  

ส่วน “อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์” หากดูจากตัวเลขคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ธปท. ได้ปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้จาก 0.8% เป็น -1.0% และหากดูจากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า)ที่ธปท. ทำการสำรวจก็มี “แนวโน้มลดลง” เล็กน้อย โดยจาการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจในเดือน มีนาคม 2563 อยู่ที่1.1% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 1.2% ขณะที่การสพรวนความเห็นของผู้ประกอบการเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่1.6% ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ 1.7%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว (5 ปีข้างหน้า) ทรงตัว โดยการสำรวจความเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจล่าสุดในเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ 2.0% ขณะที่การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจากแบบจำลองที่คำนวณจากข้อมูลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจมหภาค ณ ไตรมาส 4 ปี 2562 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนที่ 1%

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะยาว ที่ธปท.รายงาน เป็นการสำรวจ และข้อมูลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรและเครื่องชี้เศรษฐกิจเป็นตัวเลขของปี 2562 ซึ่งยังไม่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19  เพราะฉะนั้นตัวเลขคาดการณ์ล่าสุดอาจลดลงต่ำกว่านี้ได้ 

สำหรับด้านอุปสงค์ภาพรวมก็มีแนวโน้มอยู่ระดับต่ำ โดยเฉพาะในปีนี้คาดว่า “กำลังซื้อ” น่าจะอ่อนแอ และเปราะบาง  เนื่องจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้แก่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าวิกฤติโควิด-19 จะทำให้เกิดการว่างงานประมาณ 7.13 ล้านคน จากกำลังแรงงานทั้งหมด 38 ล้านคน สะท้อนให้เห็นว่า กำลังซื้อมีแนวโน้มลด จากผู้บริโภคที่มีความเสี่ยงจะตกงานจำนวนมาก 

นอกจากนี้ ธปท. ยังประเมินด้วยว่า ผลจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทำให้แนวโน้มการ “บริโภคภาคเอกชน” ไทยในปีนี้ มีแนวโน้ม “หดตัว” ครั้งแรกในรอบ 11 ปี นับจากปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ส่วนหนึ่งก็มาจาก “ภาคการท่องเที่ยว” ที่หดตัวแรง ทั้งนี้แรงงานที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวมีประมาณ 20% ของผู้มีงานทำทั้งหมด 
 

ที่สำคัญแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ สำนักวิจัยต่างๆ รวมถึง ธปท. เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจจะถูกกระทบจากโควิด-19 “หนักที่สุด” หรืออัตรากาขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะหดตัวแรงที่สุดของปีนี้  รวมทั้งคาดการณ์ว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะ “เลวร้าย” ที่สุดนับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 โดยสำนักวิจัยส่วนใหญ่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะหดตัวอย่างรุนแรง 

ทั้งนี้ สำนักวิจัยที่มองเลวร้ายที่สุดในขณะนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัว 9.0%  ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุดคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้จะหดตัว 5.3%

จากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และทิศทางเศรษฐกิจในปีนี้  อาจกล่าวได้ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณจะก้าวเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืดชั่วคราว” หรือ อัตราเงินเฟ้อติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน และในอนาคตก็มี “ความเสี่ยง” จะเกิดภาวะเงินฝืดเนื่องจากมีโอกาสเข้าเกณฑ์ครบ 4 เงื่อนไข

อย่างไรก็ดี ภาวะเงินฝืดไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ  แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้วถือเป็นสถานการณ์ที่แก้ไขยากมาก 

นี่คือความกังวลที่ไม่อยากให้เกิดภาวะเงินฝืด 

ที่มา: EIC SCB , รายงานนโยบายการเงิน เดือนมีนาคม 2563  

บันทึกโดย : วันที่ : 11 พ.ค. 2563 เวลา : 11:19:56
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 10:09 pm