เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB CIO วิเคราะห์ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวน


SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ออกบทวิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุน : ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มผันผวน จากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน และความเสี่ยงการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 

วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 18  – 22 พ.ค. 2563

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (11 – 15 พ.ค.) ตลาดหุ้นโลกส่วนใหญ่ปรับลดลง โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับลดลง หลังนายแพทย์ใหญ่ประจำคณะทำงานของทำเนียบขาวเตือนว่า ไวรัสโควิด-19 อาจแพร่ระบาดเป็นรอบที่สองในสหรัฐฯ หากมีการเปิดเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควร ประกอบกับนายพาวเวล ประธาน Fed เตือนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเผชิญกับความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงในช่วงขาลง รวมทั้ง ยืนยันว่า สหรัฐฯ จะไม่มีการใช้อัตราดอกเบี้ยที่ติดลบ ด้านตลาดหุ้นยุโรปปิดลบเช่นกัน จากความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดรอบสองของไวรัสโควิด-19 หลังประเทศต่างๆ ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่มีแรงขายนำในหุ้นกลุ่มธนาคารของยุโรป จากความกังวลเกี่ยวกับหนี้เสียที่เพิ่มขึ้น และการระงับจ่ายเงินปันผล รวมทั้ง ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในยุโรปออกมาอ่อนแอ ด้านตลาดหุ้นจีน ปรับลดลง จากความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนที่มีแนวโน้มตึงเครียดเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุน หลังซาอุดิอาระเบียจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรล/วันในเดือน มิ.ย. ขณะที่ สต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐฯปรับลดลง สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมทั้งรายงานคาดการณ์ของสำนักงานพลังงานสากล ระบุว่า สต็อกน้ำมันดิบทั่วโลกจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
 

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
 
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังประธานาธิบดีทรัมป์ ห้ามกองทุนบำนาญ Thrift Savings Plan (TSP) ที่ขนาดกองทุน 600 พันล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ ไปลงทุนในหุ้นจีน และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯได้ดำเนินมาตรการเพื่อสกัดกั้นบริษัทชิปทั่วโลกไม่ให้ส่งมอบเซมิคอนดักเตอร์ให้กับบริษัทหัวเว่ยของจีน ในขณะที่สื่อของของพรรคคอมมิวนิสต์จีนรายงานว่า จีนกำลังวางแผนที่จะดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐฯเช่นเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการประกาศรายชื่อบริษัทของสหรัฐฯในรายชื่อ "องค์กรที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ" โดยประเด็นความขัดแย้งทางการค้ารอบใหม่นี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ประกอบกับความกังวลผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ รวมถึงความเสี่ยงการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 อย่างไรก็ดี ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากความคาดหวังที่ว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะค่อยๆ ฟื้นตัว จากการทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในหลายที่ และความคาดหวังในการพัฒนาวัคซีน / ยาต้านโควิด-19 รวมถึงการที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลต่างๆยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็นเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อ จากการคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศทั่วโลกเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ประกอบกับยังคงได้แรงหนุนจากการที่กลุ่มโอเปกพลัส ตกลงกันที่จะลดการผลิตน้ำมันลงในเดือน พ.ค.และมิ.ย.นี้ ขณะที่ กองทุน US Oil Fund ได้มีการกระจายการลงทุนในสัญญาล่วงหน้าน้ำมันดิบในสัญญาระยะยาว และหลายช่วงอายุมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดแรงขายในวันที่สัญญาครบกำหนดส่งมอบ สำหรับตลาดหุ้นไทยยังอาจถูกกดดันจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มปรับลดลง ขณะที่การผ่อนปรนมาตรการสกัดกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระยะที่ 2 โดยศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ถูกรับรู้ (Priced-in) ในดัชนีฯ ไปในระดับหนึ่งแล้ว

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

· ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ตลอดจนความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบสอง

· ความคืบหน้าในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยสหรัฐฯเตรียมแถลงรายละเอียดความพึงพอใจต่อการปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ของจีน โดยคาดว่า สหรัฐฯจะกดดันจีนให้เร่งเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯตามที่เคยตกลงไว้
 
· การประชุมกนง. (20 พ.ค.) คาดว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% อยู่ที่ 0.50% จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ ในขณะที่ กนง.ยังแสดงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงิน

·การประชุมประจำปีของรัฐสภาจีน (NPC) (22 พ.ค.) คาดว่า ทางการจีนอาจยกเลิกการกำหนดเป้าหมาย GDP ในปีนี้ ขณะที่ มีแนวโน้มเพิ่มเป้าหมายขาดดุลการคลัง และเพิ่มโควตาการออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษในปีนี้
 
· การทยอยประกาศผลประกอบการในไตรมาส 1/2020 ของบริษัทจดทะเบียนไทย

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ยอดการส่งออกของไทย, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่น, ผลสำรวจแนวโน้มธุรกิจของ Fed สาขาฟิลาเดลเฟีย และยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐฯ, รายงานการประชุม Fed
 
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ ความคืบหน้าของการเปิดเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ, ความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19, ความคืบหน้าในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน, การทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 1/2020 ของบริษัทจดทะเบียนไทย, ผลการประชุมกนง., ถ้อยแถลงของประธาน Fed และสมาชิก Fed และการประชุมประจำปีของรัฐสภาจีน

วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

บันทึกโดย : วันที่ : 19 พ.ค. 2563 เวลา : 12:56:18
24-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2024, 11:18 am