เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เลือกโปะหนี้บ้าน ''ปีแรกเห็นผล'' ปีถัดไปตัดเงินต้นมากกว่าตัดดอกเบี้ย


คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความปรารถนา หรือความฝันของคุณ หรือใครหลายๆ คน ต้องการจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และคุณและใคร หลายๆ คน ก็คงปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การได้มาซึ่งการครอบครองบ้านนั้น อาจตามมาด้วยหนี้ก้อนโต

ซึ่งคำว่า “หนี้ก้อนโต” สามารถสะท้อนแง่คิดได้หลากหลาย ในการตระหนักถึงการมีบ้าน
 
 
วันนี้มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ และคุณศุภมาศ วงศ์บุญเนตร์ จะนำคุณมาทำความรู้จักกับวิธีการได้มาซึ่งทรัพย์สิน ในที่นี้ก็คือ บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่หนีไม่พ้นการขอสินเชื่อผ่านธนาคาร

ดังนั้น สิ่งที่ต้องศึกษาเป็นอันดับแรกของการขอสินเชื่อ คือ ดอกเบี้ยบ้าน เพราะธนาคารแต่ละแห่งจะมีวิธีการนำเสนอสินเชื่อบ้านที่แตกต่างกัน โดยจำแนกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้
 
แบบที่ 1 นำเสนออัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในช่วง 3 ปีแรก หลังจากนั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว อ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ย MLR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบกำหนดระยะเวลา) หรือ MRR (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขั้นต่ำที่ธนาคารเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี) ตามที่แต่ละธนาคารกำหนด
 

 
จากข้อมูลข้างต้น กรณีที่คุณต้องการดอกเบี้ยบ้านแบบคงที่ เพื่อวางแผนระยะเวลาในการผ่อนชำระนั้น สิ่งที่ต้องคำนึงอีกเรื่อง คือ อัตราดอกเบี้ยหลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป การคิดอัตราดอกเบี้ยจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว โดยทั่วไปแล้ว อัตราดอกเบี้ย MLR จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย MRR เสมอ
 
ดังนั้น ผู้กู้ต้องพิจารณาวางแผนเรื่องนี้ประกอบการตัดสินใจกู้
 
แบบที่ 2 นำเสนออัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได ซึ่งแต่ละธนาคารจะมีรูปแบบในการนำเสนอที่หลากหลาย และมีทางเลือกมากกว่าแบบที่ 1
 
จากตัวอย่าง พบว่าอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกของทั้ง 3 ธนาคาร แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แต่สิ่งต่อมาที่ต้องคำนึง คือ อัตราดอกเบี้ยหลังจากปีที่ 3 เป็นต้นไป ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ย MRR ตามที่แต่ละธนาคารกำหนด และมีผลต่อการชำระดอกเบี้ยในระยะยาว
 
 
ดังนั้น เทคนิคในการประหยัดดอกเบี้ยบ้าน ที่ควรเรียงลำดับความสำคัญและเป็นแนวทางในการปฏิบัติ จึงมีขั้นตอนและรูปแบบ ดังนี้
 
กรณีที่ 1 ไม่ต้องการโปะบ้าน ต้องการผ่อนแบบระยะยาว ผู้กู้ควรพิจารณา

เลือกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยใน 3 ปีแรก ที่ต่ำที่สุด โดยหากผ่อนชำระครบ 3 ปีแล้ว ให้ดำเนินการทำเรื่องขอปรับลดดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินเดิมที่ผ่อนบ้านอยู่ ซึ่งผู้กู้จะได้สิทธิ์ 1 ครั้งจากสถาบันการเงินเดิมและสามารถต่ออายุดอกเบี้ยแบบคงที่ไปได้อีก 3 ปี
 
หลังจากผ่อนชำระหนี้บ้านครบ 6 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่แล้ว ให้ดำเนินการรีไฟแนนซ์เพื่อขออัตราดอกเบี้ยผ่อนชำระแบบคงที่ต่อไป

แต่ข้อเสียที่ต้องคำนึงถึงในการรีไฟแนนซ์ คือ ค่าใช้จ่ายที่ตามมา ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจดจำนอง (จ่ายกรมที่ดิน) 1% ของวงเงินกู้ใหม่, ค่าอากรเเสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ใหม่ และค่าประเมินหลักประกัน (ขึ้นอยู่กับเเต่ละธนาคาร)
 
โดยผู้กู้จะต้องคำนวณเพื่อเปรียบเทียบระหว่างค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์กับค่าดอกเบี้ยจ่ายแบบลอยตัว หากต้องการอยู่กับสถาบันการเงินเดิมต่อไป
 
กรณีที่ 2 ต้องการโปะบ้าน ระหว่างการผ่อนชำระ

วิธีนี้ส่งผลดีทำให้เงินต้นลดอย่างรวดเร็ว โดยเทคนิคที่จะช่วยประหยัดดอกเบี้ย คือ เลือกอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ที่ต่ำที่สุด โดยเลือกชำระดอกเบี้ยเป็นแบบขั้นบันไดได้ และให้เลือกเวลาในการโปะเงินก้อน ในช่วงที่ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น กรณีเลือกชำระดอกเบี้ยเป็นแบบขั้นบันได ปีที่ 1 ดอกเบี้ยคงที่ 1.25% ใน 6 เดือนแรก และดอกเบี้ยคงที่ 1.5% ใน 6 เดือนหลัง, ปีที่ 2 MRR -1.75% และ ปีที่ 3 MRR – 1.35%

โดยผู้กู้ควรเลือกโปะหนี้บ้านในช่วงปีแรกให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ยอดกู้บ้านเหลือน้อยลง เมื่อผ่านเข้าปีที่ 2 และ 3 ยอดดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากเงินต้นคงเหลือก็จะลดลง ทำให้ผู้กู้ที่ชำระค่างวดรายเดือนในปีที่ 2 และ 3 จะตัดเงินต้นได้มากกว่าตัดดอกเบี้ย ทำให้หนี้บ้านลดลงได้อีก หลังจากนั้นเมื่อชำระครบ 3 ปี ก็ให้ใช้วิธีการเหมือนกรณีที่ 1

สิ่งสำคัญที่สามารถทำประกอบกับการโปะหนี้บ้านก้อนใหญ่ คือ การชำระเงินค่างวดมากกว่ายอดชำระขั้นต่ำที่ธนาคารกำหนด เพียงเท่านี้ก็สามารถช่วยลดจำนวนเงินต้นและช่วยประหยัดดอกเบี้ยจ่ายลงได้

บันทึกโดย : วันที่ : 20 พ.ค. 2563 เวลา : 10:19:58
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 11:30 am