การตลาด
สกู๊ป ''ซีอาร์จี'' เร่งขยาย ''คลาวด์ คิทเช่น'' รับยุค New Normal ดันยอดเดลิเวอรี่โต


หลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) ออกมาประกาศมาตรการผ่อนปรน ด้วยการคลายล็อกธุรกิจ 6 ประเภท  ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมการใช้ชีวิตของคนไทยมีความผ่อนคลายกันมากขึ้น  ซึ่งหนึ่งใน 6 ธุรกิจ  ที่มีการผ่อนคลายอย่างเห็นได้ชัด คือ ธุรกิจอาหาร เนื่องจากเกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา  คนไทยและผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่สามารถซื้ออาหารและนั่งรับประทานในร้านได้

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการออกมาประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พรก.ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563  ที่ผ่านมาคนไทยและผู้ที่อยู่อาศัยในประเทศไทยจะได้รับความลำบากในการใช้ชีวิตไปบ้าง แต่ท่ามกลางวิกฤติย่อมมีโอกาส เห็นได้จากยอดการสั่งอาหารกลับบ้าน หรือเดลิเวอรี่ ที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
 
 
นายณัฐ วงศ์พานิช  กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ซีอาร์จี  กล่าวว่า หลังจากภาครัฐออกมาประกาศคลายล็อกระยะที่ 2  ตั้งแต่วันที่ 17 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัทก็ได้มีการรีเซ็ตแผนงานใหม่ทั้งหมด  โดยการหันมาเน้นรูปแบบธุรกิจใหม่ผ่านการสร้าง “คลาวด์ คิทเช่น”  หรือครัวกลางที่รวบรวมร้านอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพื่อรุกขยายช่องทางการทำตลาดในรูปแบบเดลิเวอรี่  เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาช่องทางเดลิเวอรี่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 50%  ส่งผลให้สัดส่วนยอดขายเดลิเวอรี่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 25% จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 12% 
รูปแบบการทำตลาดดังกล่าวถือเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่เข้ามาเติมเต็มให้กับธุรกิจของ ซีอาร์จี  ซึ่งในเบื้องต้นของการปรับแผน ซีอาร์จี  ตั้งเป้าจะเปิด “คลาวด์ คิทเช่น” เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3-4  แห่ง หลังจากนำร่องร่วมกับ “แกร็บ” (Grab) ภายใต้โครงการแกร็บ คิทเช่นที่สามย่านมิตรทาวน์ในปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจะเน้นทำเลใกล้จุดขนส่ง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มลูกค้า ทั้งแบรนด์ในเครือซีอาร์จี และแบรนด์สตรีทฟู้ดชื่อดัง รวมถึงแบรนด์เอสเอ็มอีใหม่ ๆ เข้ามาอยู่รวมกัน นอกจากนี้ จะมีการปรับใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ทั้งออนไลน์, ออเดอร์แอนด์คอลเลคต์ (Order & Collect) และไดรฟ์ทรู (Drive Thru)
 
ส่วนรูปแบบของการทำตลาดหน้าร้านในช่วงนี้ ซีอาร์จี  ได้เปิดให้ลูกค้าสามารถรับประทานอาหารในร้านได้แล้วในทุกสาขา ภายใต้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)  โดยการลดจำนวนที่นั่งต่อสาขา  พร้อมเน้นย้ำในเรื่องของความ “ความสะอาด” สุขอนามัยและความปลอดภัย โดยมีการทำความสะอาดทุกขั้นตอน ทั้งก่อนและหลังให้บริการ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กลุ่มลูกค้า เสริมสร้างแนวคิดระบบไร้สัมผัส ใช้ระบบสั่งอาหารผ่านดิจิตอล เมนู และระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด (Cashless) ทั้งออนไลน์และ QR Code
 
ปัจจุบัน ซีอาร์จี มีร้านอาหารในเครือรวม 16 แบรนด์ ได้แก่  มิสเตอร์โดนัท , เคเอฟซี , อานตี้ แอนส์ , เปปเปอร์ ลันช์ , ชาบูตง , โคล สโตน ครีมเมอรี่ , ไทยเทอเรส , โยชิโนยะ , โอโตยะ , เทนยะ , คัตสึยะ , อร่อยดี , สุกี้เฮ้าส์  , ซอฟท์แอร์, เกาลูน และสลัดแฟคทอรี่  ซึ่งทั้ง 16  มีจำนวนสาขาเปิดให้บริการรวมกันอยู่ที่ประมาณ 1,048 สาขา
 
นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องของบริการ ความสะอาด และความปลอดภัยแล้ว บริษัทยังให้ความสำคัญในด้านของการปรับรายการอาหารให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ  โดยการเพิ่มเซ็ตเมนูผูกปิ่นโตกับร้านดังและเซ็ตข้าวกล่องอิ่มสุข ซึ่งลูกค้าสามารถปรับเมนูและทยอยส่งตามวันที่นัดหมายได้ภายใน 3 วัน 5 วัน หรือ 7 วัน รวมทั้งจัดรายการอาหารสุขภาพรองรับเทรนด์ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 
  
 
นายณัฐ  กล่าวต่อว่า ธุรกิจร้านอาหารยุค New Normal จะเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง  เพราะผู้คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาปรับตัว จะเน้นซื้ออาหารกลับบ้านและเดลิเวอรี่ โดยคาดการณ์สัดส่วนรายได้ในช่องทางซื้อกลับบ้านจะเป็น 45% จากช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ 46% เดลิเวอรี่เพิ่มขึ้นเป็น 25% จากช่วงก่อนอยู่ที่ 12% ซึ่งที่ผ่านมาเดลิเวอรี่มีอัตราเติบโตสูงถึง 50% และในอนาคตจะเป็นช่องทางที่สร้างสัดส่วนรายได้สูงถึง 30%  ซึ่งเมื่อ “คลาวด์ คิทเช่น” ขยายตัวมากขึ้น ก็จะทำให้สัดส่วนการรับประทานอาหารในร้านปรับลดลงตามไปด้วย จากเดิมเป็นช่องทางหลักมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ประมาณ 42%  คาดว่าหลังจากปรับแผนใหม่คาดว่าสิ้นปีนี้จะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 30%
 
อีกหนึ่งบริการที่ ซีอาร์จี ให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอต่อการจ้างพนักงานและดูแลพนักงานทั้งหมดให้มีรายได้ตามสมควร โดยปรับเปลี่ยนพนักงานหน้าร้านบางส่วนเป็นพนักงานเดลิเวอรี่ ให้พนักงานออฟฟิศทำงานจากที่บ้านตามมาตรการ Work from Home ของภาครัฐ  รวมทั้งทำประกันภัยโควิด-19 ให้พนักงานทุกคนด้วย
 
ขณะเดียวกัน การลงทุนในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีจากนี้ จะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น (local product) ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการพึ่งพากันในประเทศและมองหาพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเดลิเวอรี่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ตั้งทีมเฉพาะกิจเร่งขยายความร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการรับส่งอาหาร หรือ “ฟู้ด แอกกริเกเตอร์” (Food Aggregator) ทั้งแกร็บฟู้ด ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เพื่อเสริมจุดแข็งบริการ CRG Delivery 1312 และ FOODHUNT ของเครือซีอาร์จี       
 
   
 
นายณัฐ กล่าวอีกว่า ปี 2563 ถือเป็นปีที่ประเทศไทยเจอมรสุมลูกใหญ่ แต่เมื่อมรสุมลูกนี้ผ่านไปและสังคมไทยเป็นสังคมโซเชียล ธุรกิจอาหารจะผ่านจุดหนักหนาได้ เพราะจากข้อมูลการคาดการณ์ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 4.37-4.41 แสนล้านบาท หากสถานการณ์ต่าง ๆ ดีขึ้น การใช้จ่ายของลูกค้าจะกลับมา ซึ่งบริษัทตั้งเป้าจะสร้างพันธมิตรรายใหม่อีกจำนวนมาก เพื่อเสริมความแข็งแกร่งภายใต้แนวคิด Greater Together Stronger Together การเดินไปคนเดียวในธุรกิจร้านอาหารในช่วงจังหวะแบบนี้เป็นเรื่องยาก ดังนั้น บริษัทจึงต้องปรับตัวจับมือกับพันธมิตร  เพื่อให้ธุรกิจมีการเติบโตไปด้วยกัน      
 
แม้ว่าตอนนี้หลายธุรกิจจะประสบปัญหาในด้านของการขยายธุรกิจ แต่สำหรับ ซีอาร์จี กลับพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการวางแผนเจรจาร่วมทุนซื้อกิจการแบรนด์ร้านอาหาร เพื่อรองรับลูกค้าเป้าหมายทุกกลุ่มและทุกไลฟ์สไตล์ล่าสุดจับมือกับบริษัท โออาร์ จำกัด(มหาชน) ในเครือบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตั้งบริษัทร่วมทุนดำเนินธุรกิจ คาเฟ่ อเมซอน ในประเทศเวียดนาม รวมถึงนำแบรนด์ร้านอาหารของซีอาร์จีอย่างน้อย 2 แบรนด์ไปเจาะตลาดและเปิดคลาวด์ คิทเช่น ในประเทศเวียดนาม
 
จากแผนการดำเนินงานดังกล่าว ซีอาร์จี มั่นใจว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในปี 2563 นี้จะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000  ล้านบาท จะไปถึงเป้าหรือไม่ คงต้องรอลุ้นอีก 7 เดือน หากไม่มีเหตุการณ์เลวร้ายอะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมเป้าหมายหมื่นล้านบาทก็น่าจะไปถึงได้ไม่ยากนัก  
 

บันทึกโดย : วันที่ : 23 พ.ค. 2563 เวลา : 10:33:19
25-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 25, 2024, 7:06 am