การตลาด
สกู๊ป ''ค้าปลีกไทย'' ทรุดหนักปีนี้วูบ 50% คาดใช้เวลา 2 ปี พลิกฟื้นกลับไปยืนจุดเดิม


แม้ว่าขณะนี้ห้างค้าปลีกจะเริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้เกือบ 100 % แล้ว  แต่ภาพรวมก็ยังดูน่าเป็นห่วง  เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19  ในประเทศไทยสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เห็นได้จากตัวเลขการขยายตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมายังคงขยายตัวติดลบมาอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลของ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ระบุว่า ตัวเลขดัชนีค้าปลีก ที่ออกมาในไตรมาสที่ 1 มีการขยายตัวลดลงประมาณ 3-7%  และในไตรมาส 2  นี้  คาดว่าจะเห็นตัวเลขการขยายตัวลดลงติดลบ 20-50%  ทั้งนี้  ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจค้าปลีกนั้นๆ  และถ้านำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกในย่านเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ รวมถึงร้านค้าปลีกแฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องสำอาง ถือเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งจากผลกระทบที่ส่งถึงภาคธุรกิจค้าปลีกดังกล่าว ทำให้คาดการณ์กันว่าภาคธุรกิจค้าปลีกน่าจะใช้เวลา 8-24 เดือน  ธุรกิจจึงจะสามารถพลิกฟื้นกลับไปสู่จุดเดิมได้ 
 
ข้อมูลดังกล่าวถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับการวิเคราะห์ของ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)  ที่ออกมาระบุว่า  มูลค่าตลาดค้าปลีกในปี 2563 นี้น่าจะหดตัวไม่ต่ำกว่า 14% หรือคิดเป็นเม็ดเงินที่หายไปประมาณ 5 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดค้าปลีกปี 2562 ที่อยู่ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท
 
 
นายคมสัน ขวัญใจธัญญา รักษาการประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ปัญหาโรคระบาดร้ายแรงในครั้งนี้ทำให้เกิดภาวะช็อกต่อระบบเศรษฐกิจทั้งด้านอุปทานผ่านการเจ็บป่วยของผู้คนและมาตรการควบคุมโรค เช่น การปิดเมือง มีผลต่อความสามารถในการผลิต ขนส่ง และจำหน่ายสินค้า ขณะที่ด้านอุปสงค์ ส่งผลกระทบผ่านรายได้ที่ลดลง ความหวาดกลัวต่อการติดโรค และความเชื่อมั่นกับสถานภาพอนาคตที่ไม่แน่นอน
 
จากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต้องเดินหน้าพัฒนา SME พัฒนามาตรฐานบุคคลากรวิชาชีพ ผ่าน 4 มาตรการหลัก ได้แก่ 
 
1. พัฒนาวิสาหกิจ SME ส่งเสริมและยกระดับการประกอบวิสาหกิจการค้าปลีกและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยมุ่งเน้นในส่วนของ SME วิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม 
 
2. พัฒนามาตรฐานบุคลากรค้าปลีก ผนึกกำลังภาคค้าปลีกร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ จัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพเบื้องต้น 7 อาชีพ เพื่อพัฒนามาตรฐานบุคลากรค้าปลีกและสมาคมฯ โดยได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ
 
3. พัฒนามาตรฐานครูสถานศึกษา นักศึกษา ผ่านกลไกคณะกรรมการภาครัฐร่วมเอกชนเพื่อพัฒนาอาชีวะศึกษา (กรอ.อศ) พัฒนาครูสถานการศึกษา นักศึกษา และ หลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมก้าวสู่ Thailand 4.0
 
และ 4. พัฒนา “ดัชนีค้าปลีก” ประสานความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทย พัฒนา “ดัชนีค้าปลีก” โดยให้มีการรายงานเป็นรายเดือน เพื่อเป็นเครื่องชี้วัดการบริโภคค้าปลีกภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐในการกำหนดทิศทาง และนโยบายการบริโภคภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งคาดว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย น่าจะสามารถประกาศเป็นดัชนีสำคัญเพิ่มอีกหนึ่งดัชนี ภายในไตรมาสสี่ ของปี 2563
 
นายคมสัน กล่าวว่า ตัวเลขดัชนีค้าปลีกที่ออกมาในไตรมาส 1 ไม่ใช่ตัวเลขที่ต่ำที่สุด เพราะไตรมาส 1 ภาพรวมของธุรกิจค้าปลีกขยายตัวลดลง  3-7%  และในไตรมาส 2 นี้ คาดว่าจะติดลบสูงถึง 20-50%  ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้ทางสมาคมฯ ต้องเสนอนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโรคโควิด-19 ต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา 
 
สำหรับนโยบายที่ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
 
1. การจ้างงาน วิกฤติครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบได้รับผลกระทบกันทั่วหน้า
 
2. การสร้างงาน สมาชิกสมาคมฯ ที่ดำเนินธุรกิจศูนย์การค้ากว่า 100 ศูนย์การค้า รวมทั้งพื้นที่การค้าใน Hypermarket อีกกว่า 350 สาขา จะจัดสรรพื้นที่ให้กลุ่มอาชีพอิสระและแรงงานพาร์ทไทม์ มาจำหน่ายสินค้า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
 
3. เพิ่มรายได้ ธุรกิจค้าปลีกมีการซื้อสินค้าจากกลุ่มกลุ่มเกษตรกรโดยตรงปีละ 1.8 หมื่นล้านต่อปี 
 
และ 4. ลดภาระค่าครองชีพ สมาชิกสมาคมฯ และเครือข่ายค้าปลีกต่างจังหวัดกว่า 57 แห่ง  
 
นอกจากนี้ ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังได้มีการทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะสั้น ดังนี้
 
1. การอนุมัติ Soft Loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก เพิ่มสภาพคล่องแก่วิสาหกิจ SME และ เกษตรกร ด้วยการอนุมัติ Soft loan ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก
 
2. ช่วยเหลือค่าครองชีพแก่แรงงานภาคค้าปลีกและบริการ เช่น  การขยายมาตรการเยียวยาในระบบประกันสังคม , การผ่อนผันให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
 
3.การกระตุ้นแคมเปญการจับจ่ายและการบริโภคผ่านโครงการ  “ช้อป ช่วย ชาติ”  และโครงการ "ไทยเที่ยวไทย ไทยช้อปไทย” เป็นต้น
 
 
4. มาตรการช่วยลดต้นทุน และเสริมสภาพคล่องธุรกิจค้าปลีก เช่น เลื่อนการจ่ายภาษีนิติบุคคลในงวดครึ่งปีหลังของปี 2562  , พิจารณาลดภาษีนิติบุคคลจากอัตราร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 10 เป็นเวลา 3 ปี  ,ยกเว้นภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ประจำปี 2563 – 2564 ,นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการยกระดับสาธารณสุขป้องกันไวรัสโควิด-19  มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า  ,ปรับลดเงินสมทบประกันสังคมในส่วนนายจ้างจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 1 ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนธันวาคม 2563  ,พิจารณาลดอัตราค่าสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ลงอย่างน้อยร้อยละ 15 จากอัตราปกติเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี  และให้นำงบการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการลงทุน เพื่อสร้าง Digital Infrastructure เพื่อสร้าง Ecosystem สู่การ Work from Home และe-commerce ตามนโยบาย Thailand 4.0 มาเป็นค่าใช้จ่ายลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 3 เท่า
 
จากมาตรการต่างๆที่นำเสนอไป หากภาครัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือสักครึ่งหนึ่งก็น่าจะช่วยลดภาระของภาคธุรกิจค้าปลีกให้สามารถเดินได้คล่องตัวมากขึ้น ส่วนใครจะคล่องตัวมากหรือน้อย  ปัจจัยนี้คงต้องขึ้นอยู่กับแผนการตลาดของห้างค้าปลีกแต่ละแห่งด้วย ว่าจะแก้ปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ดีแค่ไหน เพราะจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ภาครัฐประกาศออกมา การทำกิจกรรมส่งเสริมการขายยังไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลานี้  เนื่องจากคนไทยยังต้องอยู่ภายใต้กฎกติกา และการปฏิบัติตนตามมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) 
 
ยกตัวอย่างกันให้เห็นภาพ คือ พื้นที่  5 ตารางเมตร สามารถรองรับลูกค้าได้เพียง 1 คนเท่านั้น  จากมาตรการดังกล่าวทำให้ลูกค้าของแต่ละห้างค้าปลีกหายไปมากว่าครึ่งหนึ่ง  และหากห้างค้าปลีกไหนไม่ปฏิบัติตาม อาจถูกสั่งระงับการเปิดให้บริการได้ เพราะผู้ใช้บริการไม่ได้รับความปลอดภัย  
 

บันทึกโดย : วันที่ : 23 พ.ค. 2563 เวลา : 11:01:18
20-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 20, 2024, 6:44 am