หุ้นทอง
VI หรือ MI เลือกที่ใช่ แล้วไปให้สุด


เลือกรูปแบบลงทุนที่ใช่...ก่อนตัดสินใจลงทุน

รูปแบบการลงทุน ตั้งแต่ช่วงเกิด COVID-19 ที่ถูกพูดถึงแทบทุกวัน ก็คือ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing : VI) กับการลงทุนแบบตามกระแส (Momentum Investing : MI) ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้ จะว่าไปแล้ว จัดได้ว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร

ดังนั้นวันนี้ มิสเตอร์ตลาดหลักทรัพย์ฯ และ คุณฐิติเมธ โภคชัย จะนำมาขยายให้เห็นกันชัดๆ ก็คือ
 
การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) นั้น ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ หรือเศรษฐกิจซบเซา พบว่า คุณจะเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง รายได้ไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ มีความสามารถในการทำกำไรที่ดีและสม่ำเสมอ ธุรกิจมั่นคงและมีโอกาสเติบโตไปได้เรื่อยๆ โดยหุ้นที่มีคุณสมบัติดังกล่าว เรียกว่า หุ้นคุณค่า (Value Stock)
 
 
โดยก่อนคุณตัดสินใจลงทุน นักลงทุนหุ้นคุณค่า (Value Investor) จะเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้น

ซึ่งประเด็นหลักที่ใช้ในการคัดกรองหุ้น ประกอบด้วย

ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโตดี

ธุรกิจมีความแข็งแกร่งและเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น

มีความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน

และเป็นหุ้นที่ยังไม่ได้รับความนิยมหรือได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากนัก
 
เมื่อค้นหาธุรกิจเป้าหมายได้แล้ว นักลงทุนหุ้นคุณค่าจะคัดกรองหาหุ้นต่อ ด้วยการใช้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ในการวิเคราะห์ ยกตัวอย่างเช่น
 
1. เป็นหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอและมีอัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหุ้นที่อยู่ในกลุ่มหรืออุตสาหกรรมเดียวกัน 

2. มีกระแสเงินสด (Cash Flow) เป็นบวก

3. D/E Ratio อยู่ในระดับต่ำ คือ มีหนี้สินต่อทุนต่ำหรือไม่มีการกู้เงินเลย

4. อัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) และอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (P/BV Ratio) อยู่ในระดับต่ำ และควรต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือในอุตสาหกรรมเดียวกัน
 
ถ้าหุ้นมีลักษณะเช่นนี้ แสดงว่าเป็นหุ้นที่มีมูลค่า และราคาถูกเมื่อเทียบกับตลาดหรือในอุตสาหกรรมเดียวกัน

จากนั้นนักลงทุนหุ้นคุณค่าจะรอจนกระทั่งราคาหุ้นลดลงสู่ระดับราคาที่เหมาะสมจึงจะเข้าลงทุน เพราะเชื่อว่าในระยะยาว ราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง

ดังนั้น การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานที่แท้จริง จะมีโอกาสสร้างผลกำไรได้มากกว่าขาดทุน
 
และจะตัดสินใจขายหุ้น เมื่อราคาปรับขึ้นสูงเกินกว่ามูลค่าที่เหมาะสม หรือเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลง จนทำให้มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทปรับลดลงสู่ระดับที่ไม่น่าสนใจ
 
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นักลงทุนหุ้นคุณค่าจะมีกฎหลักอยู่ 2 ข้อ คือ

1. ซื้อบริษัทที่ดี

2. ซื้อในราคาที่เหมาะสม
  
การลงทุนแบบตามกระแส (Momentum Investing) ขณะที่นักลงทุนหุ้นคุณค่า เน้นวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ศึกษาข้อมูลจากงบการเงิน เพื่อหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นตัวนั้น

แต่การลงทุนแบบตามกระแส จะเน้นการลงทุนตามเทรนด์ขาขึ้นของตลาด เกาะกระแสฟันด์โฟลว์ (Fund Flow) คือ ลงทุนตามทิศทางเงินทุนไหลเข้า ประกอบกับการใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ มาช่วยในการวิเคราะห์ โดยมีหลักการเลือกหุ้น ดังนี้
 
1. มองการลงทุนในภาพใหญ่ ระดับเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomics) โดยใช้ข้อมูลตัวเลขทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจ ดุลบัญชีเดินสะพัด การส่งออก รายได้ภาคครัวเรือน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น เพื่อนำมาใช้วางกลยุทธ์การลงทุน

2. ค้นหาอุตสาหกรรมที่โดดเด่น ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ เมื่อเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมได้แล้ว ก็มาดูปัจจัยพื้นฐาน วิเคราะห์งบการเงินของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวว่ามีความแข็งแกร่งเพียงใด

3. ใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค เพื่อจับจังหวะในการลงทุน
 
การเลือกหุ้นเพื่อลงทุนแบบตามกระแส ต้องเป็นหุ้นที่อยู่ในวัฏจักรธุรกิจที่เป็นขาขึ้น มีการเติบโตของรายได้และยอดขาย รวมถึงแนวโน้มราคาหุ้นก็เป็นขาขึ้นด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันหุ้นนั้นต้องอยู่ในความสนใจของตลาด หุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิค และต้องผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับหุ้นนั้นในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ
 
เนื่องจากนักลงทุนแบบตามกระแสเชื่อว่า การมีข่าวดีจะได้รับการตีความไปในทิศทางที่ดี ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้ และเมื่อกระแสหุ้นเริ่มเปลี่ยนทิศเป็นขาลง หรือมีกระแสข่าวลบกดดันราคาหุ้นให้ปรับตัวลดลง ก็จะขายหุ้นออกไป

ดังนั้น นักลงทุนจึงต้องเข้าใจวัฏจักรธุรกิจ เกาะติดสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและใช้เครื่องมือการลงทุนทางเทคนิคได้เป็นอย่างดี
 
แนวคิดสำคัญของการลงทุนแบบตามกระแส มีดังนี้
 
1. เลือกธุรกิจที่เติบโตทั้งรายได้และยอดขาย

2. เลือกธุรกิจที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง

3. บริษัทมี P/E Ratio สูง แปลว่า ซื้อหุ้นบริษัทนั้นในราคาสูง และขายในราคาที่สูงกว่า

4. ยอมรับความผิดพลาดและมีวินัยในการตัดขาดทุน (Stop Loss)

5. รับความเสี่ยงและความผันผวนได้สูง
 
การลงทุนมีหลายรูปแบบเพื่อให้นักลงทุนเลือกใช้ โดยปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนประสบความสำเร็จ คือ การเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับตนเอง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน ควรเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองมากที่สุด

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 22 มิ.ย. 2563 เวลา : 12:02:19
19-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 19, 2024, 1:24 pm