แบงก์-นอนแบงก์
ตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง ต่อภาวะเศรษฐกิจ


ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 มิ.ย.) ตลาดหุ้นโลกปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง เนื่องจาก ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในหลายมลรัฐฯ และความกังวลเศรษฐกิจหดตัว หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ จะหดตัว -4.9% และ -8% ตามลำดับ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจาก ความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และได้รับแรงหนุนจากการที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีน ระบุว่า รัฐบาลจะรักษาสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างเพียงพอในครึ่งหลังของปีนี้ ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจาก แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือธนาคารให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุน และเป็นกันชนรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ในปีนี้ โดยคาดว่าจะหดตัว -8.1% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -5.3% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าคาด สำหรับราคาน้ำมัน ปรับลดลง เนื่องจาก ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และได้รับแรงกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลง 100,000 บาร์เรล


มุมมองของเราในสัปดาห์นี้
 
ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรัฐเท็กซัส ฟลอริดา อริโซนา และแคลิฟลอเนีย ซึ่งทำให้หลายรัฐฯ จะต้องกลับมากำหนดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจอีกครั้ง สำหรับรัฐเท็กซัส และฟลอริดา ได้มีการสั่งให้มีการปิดผับ/บาร์ และลดจำนวนผู้ใช้บริการที่จะเข้ามารับประทานอาหารในร้านอาหารลงจาก 70% เป็น 50% ขณะที่รัฐวอชิงตัน ได้ระงับแผนการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (lockdown) ระยะที่ 4 ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้า จากการกลับมากำหนดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง อย่างไรก็ดี คาดว่า การปิดเมืองจะไม่รุนแรงเหมือนในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะมีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นส่วนๆ สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายแลรี่ คุดโลว์ ที่ระบุว่า จะไม่มีการปิดเศรษฐกิจทั่วประเทศ และจะไม่มีการ lockdown ประเทศรอบใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากนี้ นอกจากนี้ ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้ประกาศว่า จีนเตรียมจำกัดการออกวีซ่าแก่พลเมืองสหรัฐฯที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับประเด็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จีนพยายามบังคับใช้ในฮ่องกง   ขณะที่ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มปรับลดลง และเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ จะกดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลงอีกครั้ง สำหรับตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มถูกกดดัน และเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ และจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน เพื่อรองรับช่วงเปิดภาคเรียน และรองรับการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5
 

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

·สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการกำหนดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

·เส้นตายของอังกฤษในการขอขยายช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) กับสหภาพยุโรป (30 มิ.ย.) โดยถ้อยแถลงล่าสุดของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมาตรีอังกฤษ ระบุว่า ไม่ต้องการที่จะขยาย Transition Period ที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนธ.ค. 2020 ออกไปจากเดิม ขณะที่อังกฤษ และสหภาพยุโรปจะมีการหารือประเด็น Brexit ในเดือนก.ค. หลังจากการประชุมทั้ง 4 รอบ ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

·รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) (1 ก.ค.) คาดว่า อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป สะท้อนจาก Fed Dot Plot ที่บ่งชี้ว่า Fed จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2022

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน, GDP ใน 1Q2020 ของอังกฤษ, อัตราเงินเฟ้อของยุโรป, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ
เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สอง, เส้นตายของอังกฤษในการขอขยายช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) กับสหภาพยุโรป และรายงานการประชุม Fed
วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

บันทึกโดย : acnewsวันที่ : 30 มิ.ย. 2563 เวลา : 21:24:32
26-04-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 26, 2024, 9:20 am